หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข: มีเจ้าหน้าที่รัฐสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง

มารียัม อัฮหมัด
2018.03.15
ปัตตานี
180315-TH-violence-620.jpg เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดทหารช่าง พล.ร 5 บริเวณถนนภายในหมู่บ้านตือกอ ในอำเภอจะแนะ นราธิวาส วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

พลเอกอักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบางกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง เพื่อสร้างเงื่อนไขกดดันรัฐบาล ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ โดยมีแนวร่วมในพื้นที่ช่วยกันสร้างความรุนแรงไปทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้

พลเอกอักษรา ได้กล่าวถึงเหตุผลในการออกแถลงการณ์ในวันนี้ว่า เพราะตนเองต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานแอบไปติดต่อกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง โดยเข้าใจผิดว่าเป็นตัวจริง และอาจตกเป็นเครื่องมือถูกหลอกใช้สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงโดยไม่รู้ตัว

“ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้ใช้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องก็เพราะเขา “อยากจะคุย” จึงใช้ความรุนแรงเป็นเงื่อนไขยื่นข้อเสนอต่อรองรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานที่แอบติดต่อผ่านตัวแทนแหล่งข่าว และมีแนวร่วมในพื้นที่ให้การสนับสนุนช่วยกันสร้างความรุนแรงแบบป่วนเมือง ขยายความขัดแย้งไปทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้” พลเอกอักษรา กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งให้สื่อมวลชนในวันนี้

พลเอกอักษรา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจะไม่พูดคุยกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง เพราะเท่ากับว่าไปสนับสนุนกลุ่มเหล่านั้น แต่จะพูดคุยกับกลุ่มที่นิยมสันติวิธี

“... ยินดีคุยกับพวกที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้ ทำให้รัฐบาลสามารถดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เกือบร้อยละ 90 เข้ามาพูดคุยและร่วมกันสร้างสันติสุขด้วยการสร้าง safety zone ที่ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี” พลเอกอักษรากล่าว

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูง “เลี้ยง” ฝ่ายขบวนการจริง และเจ้าหน้าที่ระดับล่างต้องการปฏิบัติตามคำสั่งในการติดต่อกับสายข่าวฝ่ายขบวนการ

“มีเจ้าหน้าที่เลี้ยงขบวนการจริง แต่เป็นระดับสูง ตัวเล็กๆ รู้ไปก็เท่านั้น ได้แต่ทำตามที่เขาสั่ง ถ้ามีระเบิด เราพลาด เราตาย เราสูญเสีย ไม่มีใครทำลายขบวนการได้ ไม่มีใครแก้ปัญหานี้ได้ เพราะมันเป็นปัญหาภายใน ทุกคนสมประโยชน์” เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าว

สำหรับ ฝ่ายผู้เห็นต่างที่ใช้ความรุนแรงอีกสิบเปอร์เซ็นต์เป็นใครนั้น พลเอกอักษรา ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม  ด้านนายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า โดยส่วนตัวกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงนั้น มีทั้งฝ่ายผู้เห็นต่างและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลเอง

“กรณี 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่มาร่วมนั้น อาจจะหมายถึงกลุ่มที่ยังใช้ความรุนแรงที่ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า มันต้องทั้งสองฝ่าย ต้องยอมรับด้วยว่ารัฐบางกลุ่มก็ไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการพูดคุยเช่นกัน” นายรักชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามดำเนินการเจรจากับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ ปี 2556 จนกระทั่งฝ่ายขบวนการส่วนหนึ่งได้ก่อตั้งองค์กรร่มที่ชื่อว่ามาราปาตานี ขึ้นมาเป็นองค์กรเพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2558

ตัวแทนเจรจาฝ่ายไทย กล่าวว่า หนึ่งในขั้นตอนการเจรจาคือการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ด้วยการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาเพื่อลดความรุนแรงรายวันที่จะเอื้ออำนวยต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งเป็นกรอบใหญ่

ในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งพลเอกอักษราเองได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ในอำเภอต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในการจัดตั้ง “เซฟเฮ้าส์” ขึ้นมาเป็นสำนักงานประสานงานของฝ่ายไทย ฝ่ายมาราปาตานี และฝ่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อการรณรงค์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า พื้นที่ปลอดภัยควรมีลักษณะอย่างไร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง