กระทรวงต่างประเทศ: ไทยกำลังเดินหน้าประชาธิปไตย และเคารพเสรีภาพประชาชน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.23
กรุงเทพฯ
TH-mfa-620 นายณัฐภาณุ นพคุณ ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานจากแอมเนสตี้ อืนเตอร์เนชั่นแนล โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพฯ วันที่ 22 ก.พ. 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (23 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ตอบโต้รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยของ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ระบุว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยยังถูกจำกัด โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าประเทศสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย คำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเตรียมการสู่การเลือกตั้ง

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล ดังเห็นได้ว่าสื่อมวลชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดีมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย และการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วยโดยการใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และความสงบเรียบร้อยในสังคม และต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น” แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศระบุ

“รัฐบาลยึดมั่นดำเนินการตามโรดแมป เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้การดำเนินการมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ได้เปิดให้ประชาชนและทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการสื่อมวลชน ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น” บางส่วนจากแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว

ในการแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2559-60 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวว่า รัฐบาลทหารทำให้สถานการณ์สิทธิเสรีภาพของประเทศไทยยังคงถูกจำกัด

“พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการพุ่งเป้าไปยังผู้ที่ต่อต้าน หรือแสดงความเห็นต่างเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีรายงานว่าบุคคลกว่า 100 คนทีเดียว ที่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ” นางปิยนุชระบุ

และองค์กรแอมเนสตี้ฯ สรุปว่า ประเทศไทย ยังมีประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง อาทิ ระบบยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม การจับกุมและควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยพลการ การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศ การทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้าย และการจัดการผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

ต่อรายงานนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ว่า รายงานดังกล่าวยังมิได้สะท้อนในมิติที่ครอบคลุมถึงพัฒนาการของประเทศไทย จึงได้ชี้แจงถึงความพยายามในการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเป็น 7 ข้อ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1.รัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย โดยให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง 2.ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเคารพสิทธิมนุษยชน 3.กฎหมายอาญามาตรา 112 มีไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้มีไว้เพื่อละเมิดสิทธิ และกระบวนการพิจารณาคดีมาตรา 112 มีความเป็นธรรม สามารถอุทธรณ์ และขออภัยโทษได้ 4.รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายสิทธิมนุษยชนกว่า 190 ฉบับ และการย้ายคดีบางประเภทจากการพิจารณาของศาลทหารสู่ศาลพลเรือนแสดงให้เห็นถึงความพยายามผ่อนคลายมาตรการความมั่นคง 5.รัฐบาลปกป้องนักปกป้องสิทธิ เช่น คดีของนายอานดี้ ฮอลล์ ศาลก็ได้ให้ความยุติธรรม และพยายามออกกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... 6.เรื่องผู้ลี้ภัย รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา 71 คนกลับประเทศในปี 2559 และ 7.รัฐบาลยืนยันว่าได้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพของประชาชน

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 28 กันยายน 2559 งาน “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้” ซึ่งแอมเนสตี้ฯ เป็นผู้จัดงาน เพื่อเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานภายในประเทศไทย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ระงับการจัดงาน เนื่องจากวิทยากรชาวต่างชาติที่จะร่วมเสวนาไม่ได้ขอใบอนุญาตทำงานอย่าง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง