ชาวเจาะไอร้องร่วมตั้งศูนย์อาชาบำบัดเด็กออทิสติกแห่งแรกของนราธิวาส

รพี มามะ
2016.02.04
TH-autism-620 นายเจ๊ะบอซู บือซา สาธิตการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยการขี่ม้า ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส วันที่ 4 ก.พ. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (4 ก.พ. 2559) นี้ นายสังคม เกิดก่อ นายอำเภอเจาะไอร้อง พร้อมด้วยตัวแทนโรงพยาบาลเจาะไอร้อง นายลิขิต จันทร์โสภณ กรรมการศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเดินทางมาดูการดำเนินงานของศูนย์อาชาบำบัดเด็กออทิสติก และเด็กบกพร่องทางปัญญา ของนายเจ๊ะบอซู บือซา และมีแนวคิดที่จะขออนุมัติจากทางจังหวัด เพื่อตั้งศูนย์บำบัดเพิ่มเติมในอีกสิบสองอำเภอ

“ทางเราทราบว่าศูนย์บำบัดแห่งนี้ ได้ทำการมาระยะหนึ่งและได้ผล เราจึงติดตามมาดูการดำเนินงานด้วยตัวเอง เมื่อเห็นแล้วมีแนวคิดว่าจะทำรายงานต่อผู้ว่า เพื่อขอนุมัติตั้งศูนย์บำบัดอีกในสิบสองอำเภอ ให้ครบทั้งสิบสามอำเภอในจังหวัดนราธิวาส” นายสังคมกล่าว

นายเจ๊ะบอซู อายุ 39 ปี ผู้ดูแลศูนย์อาชาบำบัดเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา และนางนิซะ บือซา ผู้ภรรยา ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการด้านจิตเวช โรงพยาบาลเจาะไอร้อง ได้เปิดเผยว่า เดิมทีทั้งสองได้ซื้อม้ามา 1 ตัว หวังเพียงเพื่อการขี่เล่นสนุกๆ และเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งเท่านั้น ต่อมาเมื่อภรรยาได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญาและพบว่า การไหลเวียนของโลหิตที่ดีขึ้นต่อร่างกาย เป็นหนทางหนึ่งที่จะบำบัดเด็กออทิสติกได้ ตนจึงได้ซื้อม้ามาเพิ่มเติมอีก 3 ตัว รวมเป็น 4 ตัว และได้นำเด็กออทิสติกในหมู่บ้านที่สมัครใจ มารับการบำบัด จนเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

ศูนย์บำบัดฯ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 241 ม.1 ต. จวบ อ. เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส ซึ่งเป็นบ้านของทั้งสอง ใช้เนื้อที่ว่างข้างบ้านพัก ขนาด 15 คูณ 20 ตารางวาเมื่อชาวบ้านทราบถึงความสัมฤทธิ์ผล ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงได้ร่วมตัวกันซื้อม้าเพิ่มเติมอีก 3 ตัว รวมเป็น 7 ตัว แล้วได้ลงความเห็นจัดตั้งเป็นศูนย์บำบัดเด็กออทิสติกขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2556

นางนิซะ บือซา ซึ่งเป็นภรรยาและเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการด้านจิตเวชของโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จะใช้เวลาว่างในการร่วมบำบัดเด็กออทิสติก และเด็กบกพร่องทางปัญญา โดยมีสามีเป็นคนนำเด็กขึ้นขี่ม้า จนเป็นที่ร่ำลือของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอใกล้เคียง และปัจจุบันมีเด็กเข้าร่วมในการบำบัดรวมทั้งสิ้น 15 คน เป็นเด็กในพื้นที่อำเภอระแงะ และอำเภอเจาะไอร้อง

ปัจจุบัน ในจังหวัดนราธิวาสมีเด็กพิการ 9 ประเภท รวมจำนวน 565 คน ในจำนวนนี้ มีเป็นเด็กออกทิสติก และบกพร่องทางปัญญาอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

วิธีการบำบัดและผลลัพท์

ต่อมานายเจ๊ะบอซู ได้สาธิตวิธีการบำบัด ให้กับคณะที่ได้เดินทางมาติดตามศึกษาดูงานได้รับชม โดยได้อุ้มเด็กออทิสติก จำนวน 3 คน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ ด.ช. อามิง เจ๊ะเต็ง อายุ 8 ขวบ ที่ได้ผ่านการบำบัดมาแล้ว 5 เดือน ขึ้นขี่ม้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบัน

ซึ่งวิธีการบำบัดนายเจ๊ะบอซู ได้นำเด็กที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดสลับกันขี่หลังม้า โดยมีพี่เลี้ยงประกบติดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเด็กตก ซึ่งเป็นกระบวนการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและกล้ามเนื้อให้สูบฉีด จะทำให้ระบบสมองทำงานได้ดีขึ้น และรับรู้เหมือนเด็กปกติ ซึ่งในห้วงระยะนี้ต้องบำบัดบนหลังม้า ประมาณคนละ 6 เดือน จึงเห็นผล

“เราเฝ้าติดตามดูอาการน้อง หลังรับการบำบัด และยืนยันว่า อาการดีขึ้นชัดเจน ต่างจากที่มาแรก ๆ ซึ่งมีอาการผิดปกติหลายอย่าง อาทิ น้ำไหลฟูมปาก เป็นต้น แต่อาการหายและดีขึ้น" นางนิซะกล่าว

นางนิซะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เริ่มแรกเราจะสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ขี่ม้าบ่อยๆ พบว่าการพัฒนาการทุกอย่างดีขึ้น และเมื่อผ่านไป 1 ปี เด็กก็สามารถขี่ม้าได้เอง โดยที่ไม่ต้องมีคนคอยควบคุม และเด็กมีพัฒนาการที่จะกลับไปเล่าให้ทางบ้านทราบว่าวันหนึ่งๆ ได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง และทราบว่าคนที่ร่วมกิจกรรมด้วยชื่ออะไร แถมเด็กก็จะมีการพูดคุยกับคนอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งผิดกับในช่วงก่อนเข้าบำบัดโดยสิ้นเชิง

โรคออทิสติก (Autistic) คือ กลุ่มอาการที่แสดงความผิดปกติของพัฒนาการของเด็ก ลักษณะอาการของเด็กที่เป็นออทิสติก คือ ชอบแยกตัว อยู่กับตัวเอง ไม่พูดหรือติดต่อสื่อสารทางภาษากับคนอื่น และมีปัญหาด้านพฤติกรรม เด็กที่เป็นโรคนี้จะเป็นตั้งแต่แรกเกิด แต่อาการจะแสดงออกมาให้เห็นเมื่อเด็กมีอายุ 3 เดือน 5 เดือน หรือมากกว่านั้น ส่วนใหญ่จะเห็นเมื่อเด็กอายุ 2 ขวบ

เด็กที่เป็นออทิสติกมาตั้งแต่กำเนิดนั้น มีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม การที่พ่อแม่มีโรคบางอย่างถ่ายทอดถึงลูกในครรภ์ การที่แม่ติดเชื้อไวรัสบางตัวขณะที่ตั้งครรภ์ ความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย รวมทั้งการติดเชื้อขณะคลอด อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่แน่ชัดของโรคออทิสติกนั้นยังไม่สามารถระบุได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง