นักเรียนเลว : การศึกษาห่วยแตก เราจึงต้องเรียกร้องให้ปฏิรูป
2020.10.13
กรุงเทพฯ

ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวของประชาชน ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อขับไล่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความเป็นประชาธิปไตย การชุมนุมของนักเรียนมัธยม เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา ถือเป็นอีกหนึ่งองคาพยพที่ได้รับความสนใจจากสังคม และในการเคลื่อนไหวนั้น กลุ่ม “นักเรียนเลว” คือ แนวหน้าที่พยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
“การศึกษาที่ดีคือ การศึกษาที่ไม่ทำให้นักเรียนอยากลาออก หรือเบื่อการเรียน ถ้าการศึกษาทำให้เด็กคิดแบบนั้น คือ การศึกษามันห่วยแตก นักเรียนเลวมี 3 เป้าหมายคือ เรียกร้องให้หยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษาที่ล้าหลัง” น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือพลอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (โรงเรียนวัดนวลนรดิศ) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์
“การให้เด็กเรียน 9-10 คาบ ต่อวัน เลิกเรียน 5-6 โมง สูบเวลาชีวิตเราไป คุณภาพชีวิตนักเรียนไม่ดีเลย หลักสูตรก็มีปัญหามาก ๆ ล้าหลัง ไม่สอนอะไรที่นักเรียนต้องการ บางวิชาเคยเรียนแล้วก็ต้องเรียนซ้ำทุกปีเช่น ประวัติศาสตร์ เน้นท่องจำ ไม่ได้เน้นให้นำไปปรับปรุงให้อนาคตดีขึ้น คณิตศาสตร์ หรือฟิสิกส์ ก็ยากเกินไป จนเด็กไม่เข้าใจ” พลอย กล่าว
กลุ่ม “นักเรียนเลว” คือ กลุ่มนักเรียนมัธยมที่รวมตัวกันจัดกิจกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิในโรงเรียน และการปฏิรูประบบการศึกษา มุ่งเป้าการเรียกร้องไปที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เงื่อนไขว่า หากนายณัฏฐพลไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ ก็ควรลาออก เพื่อเปิดทางให้คนที่มีความสามารถมากกว่ามาทำงานแทน
นักเรียนเลว : บนถนนแห่งความเจ็บปวด
การชุมนุมครั้งแรกของนักเรียนเลว เกิดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนหลายร้อยคนจากหลายโรงเรียนเข้าร่วม ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน 2563 นักเรียนเลวจัดการชุมนุมเป็นครั้งที่ 2 และจัดโต้วาทีระหว่าง ตัวแทนกลุ่มกับนายณัฏฐพล เพื่อให้ รมว.ศึกษาฯ มีโอกาสชี้แจงถึงแนวทางการตอบสนองข้อเรียกร้องของพวกเขา โดยบนเวทีวันนั้น รมว.ศึกษาฯ ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะนำปัญหาที่นักเรียนเรียกร้องไปแก้ไข
“ผมรับฟังจากทุก ๆ คนที่ตั้งใจทำให้กระบวนการศึกษาดีขึ้น และผมมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติ อะไรที่มีเหตุผล ผมพร้อมปฏิบัติ และคิดว่าปฏิบัติได้หลาย ๆ อย่าง วันที่ผมคิดว่าไม่สามารถทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ ทำคุณประโยชน์ให้กับการศึกษา ผมจะพิจารณาตัวเอง” นายณัฏฐพล กล่าวระหว่างการโต้วาที เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563
นายณัฏฐพล ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่นักเรียนเรียกร้องหลายข้อแล้ว เช่น เรื่องการคุกคามในโรงเรียน มีการเปิดช่องทางให้สามารถร้องเรียนได้ และที่ผ่านมามีการร้องเรียนแล้ว 109 ครั้ง ซึ่งกระทรวงฯ จะทำการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป เรื่องกฎระเบียบหรือหลักสูตร ปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อนำมาหาวิธีแก้ไขแล้วเช่นกัน
“กฎระเบียบอะไรที่ตราไว้ 2-5 ปีขึ้นไป แล้วไม่มีประสิทธิภาพ ผมกำลังให้ทีมงานไล่ดูอยู่ และกำลังแก้ไข กฎหมายและกฎระเบียบก็เป็นข้อที่ทำให้เราเดินหน้าไปไม่ได้… ถ้าวันนี้ยังคิดว่าระบบการศึกษาไม่ตอบสนองนักเรียน เราก็ต้องร่วมกันทำ และพยายามทำให้เกิดให้ได้ เพราะนักเรียนคือ อนาคตของประเทศชาติ” นายณัฏฐพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักเรียนเลวมองว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขายังไม่ได้รับการตอบสนอง
“จากวันนั้น เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว ที่เราได้ยื่นหนังสือไปถึงรัฐมนตรีไม่รู้กี่ฉบับ เรื่องทรงผม เครื่องแบบ การแต่งกาย ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังค้างอยู่ รัฐมนตรีไม่ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรม” พลอย กล่าว
เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา นักเรียนเลวได้ใช้รถพร้อมเครื่องขยายเสียงตระเวนไปยังโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เตรียมอุดมศึกษา เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เทพศิรินทร์ และวัดราชบพิธ เพื่อทวงถามข้อเรียกร้องต่าง ๆ ต่อสังคม ก่อนนำใบลาออก สำหรับนายณัฏฐพลไปโปรยที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า รมว.ศึกษาฯ ยังไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับพวกเขาได้
“กระทรวงศึกษาธิการมันล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานย่อยเยอะมาก แต่งานหลายงานค้างในหน่วยย่อยต่าง ๆ การสั่งการต้องรอเจ้านายสั่ง ถ้าไม่สั่งก็ไม่ทำ เมื่อปัญหาในกระทรวงเป็นแบบนี้ ต้องแก้ไขภายในกระทรวง ถ้าระบบโครงสร้างกระทรวงดี ก็จะส่งผลถึงโรงเรียน ครู และนักเรียน” น.ส.เบญจมาภรณ์ ระบุ
แม้นักเรียนเลวจะมีเงื่อนไข ถึงขั้นให้ รมว. ศึกษาฯ ลาออก มีการนำข้อความ เช่น "โรงเรียนแห่งนี้ละเมิดกฎกระทรวงฯ" "ครูโรงเรียนนี้ทำร้ายร่างกายนักเรียน" หรือ "ครูโรงเรียนนี้ยังใช้ไม้เรียวฟาดนักเรียน" ไปติดตามรั้วโรงเรียนต่าง ๆ แต่โดยรวมแล้วการเคลื่อนไหวของพวกเขา ยังถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ เพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่น การชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านระบบการศึกษา
การผูกโบว์สีขาว เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หรือการเป่านกหวีด เพื่อล้อกับสิ่งที่ รมว. ศึกษาฯ เคยทำในอดีต สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงการใช้อำนาจอ่อน (soft power) มิใช่ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้นักเรียนจะเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธี กลับมีนักเรียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกคุกคามจากทั้งคนในโรงเรียน และคนนอกโรงเรียน หลังจากแสดงออกทางการเมือง
“เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่โรงเรียนจะมีกิจกรรมชูกระดาษขาว ผมสนใจกิจกรรมนี้มาก ๆ จึงเทคแอคชั่นเป็นพิเศษ แต่ครูบางคนคิดว่า ผมเป็นแกนนำ และชี้ตัวให้ตำรวจ ผมถูกเข้าใจผิด จากนั้นมีสายสืบโทรมาบอกพ่อผมว่า ผมเป็นกลุ่มคนที่ชักชวนน้อง ๆ ออกมาประท้วง ผมเสียใจมาก ที่โรงเรียนส่งข้อมูลเท็จ ๆ ให้ตำรวจ ผมทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เก็บตัวเพราะ ตำรวจต้องการเอาผมไปปรับทัศนคติ หลังเหตุการณ์นั้น ทำให้ผมไม่กล้าไปโรงเรียน” นายภัทรภูมิ (สงวนนามสกุล) นักเรียนชั้นปีที่ 6 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายภัทรภูมิ ระบุว่า มีนักเรียนอย่างน้อย 2 คนในโรงเรียน ที่ถูกโทรศัพท์ข่มขู่ หลังจากที่นักเรียนในโรงเรียนประกาศจะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในเดือนสิงหาคม 2563
“ผมแค่อยากให้ผู้ใหญ่รู้ว่า เด็กอย่างเราก็สามารถออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยได้ ไม่ต้องจำกัดอายุ แต่คำพูดของครูในโรงเรียนใส่ร้ายผม ผมแค่เป็นคนธรรมดาที่สนใจกิจกรรม แค่ต้องการรัฐบาลที่ไม่โกง การที่เจ้าหน้าที่คุกคามนักเรียนไม่เหมาะสม เรามีสิทธิ์ในการเรียกร้องความเป็นธรรม ทำไมต้องตามหาตัวผมด้วย ผมอยากให้โรงเรียนและครูที่เกี่ยวข้องออกมาขอโทษ เพราะมันทำให้ผมและนักเรียนคนอื่นใช้ชีวิตลำบาก” นายภัทรภูมิ ระบุ
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า มีนักเรียนและนักศึกษาอย่างน้อย 103 คน ที่ถูกคุกคามหลังร่วมชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมืองในเดือนสิงหาคม 2563 ในช่วงเวลาเดียวกัน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า มีนักเรียนอย่างน้อย 34 คนใน กรุงเทพฯ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี ร้อยเอ็ด อุดรธานี อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ขอนแก่น นครสวรรค์ แพร่ สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ
ปัจจุบัน กลุ่มนักเรียนเลวได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเคลื่อนไหวหลายกลุ่มในนามคณะราษฎร และกำลังจะมีการชุมนุมใหญ่ร่วมกันอีกครั้ง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563
รัฐและโรงเรียนต้องรับฟัง หยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง
ต่อการเคลื่อนไหวของนักเรียน ดร.ออมสิน จตุพร อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า สิ่งที่กลุ่มนักเรียนเลวต้องการ คือ ทำให้ผู้มีอำนาจหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาหันมารับฟัง และทำให้ข้อเรียกร้องเป็นวาระทางสังคม โดยข้อเสนอที่สามารถ และจำเป็นต้องทำได้ทันที คือ การหยุดคุกคามนักเรียน เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายเด็กและเยาวชน ระบุเรื่องสิทธิของเด็กไว้ชัดเจน
“ข้อเสนอที่สองยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง ผมเห็นว่า หากดูตัวบทในเชิงนโยบายการศึกษา โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 62 ไม่ได้มีลักษณะที่ไปครอบงำอำนาจในพื้นที่ของสถาบันการศึกษา ฉะนั้นสิ่งที่นักเรียนเรียกร้อง คือการเรียกร้องในระดับวัฒนธรรม ระดับปฏิบัติการของครูและผู้บริหารโรงเรียน เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ที่นำตัวบทดังกล่าวมาตีความและใช้กับนักเรียน ทั้งที่จริงอาจจะไม่เคยอ่านตัวบทด้วยซ้ำ ซึ่งนี่คือปัญหาที่แท้จริง” ดร.ออมสิน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ดร.ออมสิน ชี้ว่า ข้อเรียกร้องของนักเรียน เป็นการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมระดับโรงเรียน ซึ่งผู้ใช้อำนาจเป็นครูและผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้นจึงไม่สามารถตำหนิรัฐเพียงฝ่ายเดียว ว่าเป็นผู้กำหนดนโยบายและกฎระเบียบที่ล้าหลัง เพราะรัฐเองก็พยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอยู่
“อย่างไรก็ดี ข้อเสนอข้อที่สามค่อนข้างเหมารวมมากเกินไป เพราะการฏิรูปการศึกษามีองคาพยพที่ไม่ใช่แค่การพูดถึงโครงสร้างในภาพกว้าง แต่ต้องมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนว่า ปัญหาอยู่ที่จุดไหน ทั้งเชิงนโยบาย เชิงกฏระเบียบ เชิงกฏหมายการศึกษา เชิงหลักสูตร กระบวนการเรียน หรือแม้กระทั้งการผลิตครู ต้องบอกให้ชัด” ดร.ออมสิน กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า การเรียกร้องของนักเรียนครั้งนี้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป
“หากสามารถปฏิรูปได้ภาพของการศึกษาไทยที่อยากเห็นจริง ๆ คือ การกระจายอำนาจ การศึกษาระบบเดียว ไม่เอื้ออำนวยต่อคนรุ่นใหม่ การปฏิรูปการศึกษา จึงจำเป็นต้องเน้นความหลากหลายของระบบ ทั้งตัวผู้เรียน ผู้สอน และรูปแบบของระบบการศึกษา แม้ที่ผ่านมาเราจะเห็นความหลากหลายอยู่ในรูปแบบทั้งการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาพื้นฐานทั่วไป แต่รัฐเป็นผู้ครอบครองระบบการศึกษาเอาไว้เยอะมาก ซึ่งรัฐดูแลไม่ไหว รัฐต้องพยายามเอื้อให้กับภาคส่วนอื่นๆ จัดการศึกษาได้ และต้องเคารพในส่วนนี้ เพราะใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ระบุชัดเจนว่าครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ สถานบันศาสนา แม้กระทั่งภาคประชาชน สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้” รศ.ดร.วีระเทพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
ขณะเดียวกัน ดร.ยุพเทพ บุญฤทธิ์รักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนมณีอนุสรณ์ศึกษา จังหวัดขอนแก่น เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียน ขณะเดียวกันนักเรียนก็จำเป็นต้องเข้าใจเงื่อนไข และข้อจำกัดของสถานศึกษาด้วยเช่นกัน
“การตี ด่า บังคับ ดูถูกเด็ก ใช้ความรุนแรง คุกคามมันทำให้การเรียนรู้ถดถอย จำกัดความคิดสร้างสรรค์ สำหรับผม ถ้าเด็กอยากย้อมผม ทาเล็บ มันคือร่างกายของเขา เพราะ การไว้ผมต่างกัน ไม่ใช่ทำให้เด็กไม่มีวินัย ถ้าเด็กคิดหรือเรียกร้องได้ขนาดนี้ โรงเรียน กระทรวงศึกษาฯ น่าจะต้องทำอะไรสักอย่างให้สอดคล้องกับที่เขาต้องการ เพราะทุกโรงเรียนพยายามผลิตเด็ก เป็นปลากระป๋อง ทำให้เด็กเหมือนกันที่สุด ทั้งที่ในความเป็นจริงคนมีความหลากหลาย” ดร.ยุพเทพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“เรื่องหลักสูตรการศึกษาควรจะปรับนานแล้ว หลายอย่างโบราณ ใช้งบไม่คุ้มค่า การจัดหลักสูตร ถ้าให้อิสระโรงเรียนแต่ละโรงเรียนออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เด็กก็จะได้เลือกอย่างที่เขาอยากเรียน เห็นว่าทางออก คือ การจัดเวทีพูดคุยกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แบบไม่ใช่การเอาชนะ ปะทะกัน เพื่อให้ผู้ใหญ่ฟังเด็ก และเด็กจะได้เข้าใจเงื่อนไข หรือข้อจำกัดของผู้ใหญ่” ดร.ยุพเทพ ระบุ