ศาลอาญากรุงเทพ เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีระเบิดราชประสงค์
2020.01.27
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดพร้อมคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2558 โดยเป็นกระบวนการในศาลพลเรือนครั้งแรก หลังโอนย้ายคดีมาจากศาลทหารช่วงปลายปี 2562 ซึ่งทนายความกล่าวว่า จำเลยยังให้การปฏิเสธ และยืนยันว่าจะสู้คดี ด้านศาลได้นัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง ในวันที่ 2 มีนาคม 2563
นายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็ม คาราดั๊ก จำเลยที่ 1 เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า จำเลยทั้งหมดเดินทางมาตามนัดของศาล โดยยังปฏิเสธข้อกล่าวหาวางระเบิด และพร้อมจะสู้คดี
“ปัจจุบัน จำเลยอุยกูร์ 2 รายอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ทั้งคู่ยังยืนยันให้การปฏิเสธ และพร้อมสู้คดีเหมือนเดิม” นายชูชาติ กล่าวผ่านโทรศัพท์
ทั้งนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดพร้อมคดีหมายเลขดำ อ.2742/2562 ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอาเด็ม คาราดั๊ก หรือนายบิลาล โมฮำเหม็ด หรือบิลาล เติร์ก อายุ 28 ปี ชาวอุยกูร์-จีน และ นายไมไรลี ยูซุฟู จำเลยที่ 2 ชาวอุยกูร์-จีน อายุ 30 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานทำให้ระเบิด และทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 และ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 รวม 11 ข้อหา จากการกระทำที่เชื่อว่าเกี่ยวกับเหตุระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ ช่วงค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558 และเหตุระเบิดบริเวณสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน-ท่าเรือสาทร วันที่ 18 สิงหาคม 2558 โดยคดีเป็นการโอนคดีพิจารณามาจากศาลทหารกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งตลอดการพิจารณาของศาลทหารฯ จำเลยทั้งสองไม่ได้รับการประกันตัว
วันนี้ ศาลได้เบิกตัวนายอาเด็ม คาราดั๊ก จำเลยที่ 1 และ นายไมไรลี ยูซุฟู จำเลยที่ 2 มาจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ โดยมีทนายความ และเสมียนทนายเดินทางมาด้วย ศาลได้จัดหาล่ามแปลภาษาอังกฤษ และภาษาจีนกลางให้กับจำเลยที่ไม่สามารถฟังและพูดภาษาไทยได้ ในห้องพิจารณา อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 โจทก์ขอศาลให้ใช้คำฟ้อง บัญชีพยาน และการสืบพยาน ตลอดจนพยานหลักฐาน จากกระบวนการในศาลทหาร ขณะที่ จำเลยทั้งสองได้ยื่นใบแต่งทนายความ พร้อมคำให้การปฏิเสธ ส่วนบัญชีพยานของจำเลยก็ให้อ้างตามที่เสนอในศาลทหารกรุงเทพมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ เสมียนทนายความ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการนัดพร้อมออกไปก่อน เนื่องจากทนายความของจำเลยที่ 2 ไม่สามารถมาศาลได้ เพราะต้องว่าความอีกคดีหนึ่งในต่างจังหวัด ซึ่งโจทก์และจำเลยไม่ได้คัดค้านคำขอเลื่อนดังกล่าว ศาลจึงพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้ มีเหตุสมควร จึงอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อม เพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 2 มีนาคมนี้ เวลา 13.30 น.
ในวันเดียวกัน คดีหมายเลขดำ อ.2743/2562 ที่อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ รับโอนคดีฟ้องจากศาลทหารฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 มี น.ส.วรรณา สวนสัน หรือ ไมซาเราะห์ อายุ 34 ปี ชาวจังหวัดพังงา ซึ่งถูกจับกุมได้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปี 2560 เป็นจำเลย ในข้อหาร่วมกันมียุทธภัณฑ์ และครอบครองวัตถุระเบิดฯ ในการระเบิดศาลท้าวมหาพรหม ศาลก็ได้นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 13.30 น. โดยจำเลยได้ยื่นโฉนดที่ดิน และหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ 5 ฉบับเป็นหลักประกันการขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลได้อนุญาต
คดีระเบิดราชประสงค์
เหตุระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บกว่า 120 ราย หลังการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าว ทำให้ทราบว่า คนร้ายที่ก่อเหตุสวมใส่เสื้อสีเหลือง และนำกระเป๋าที่คาดว่า บรรจุระเบิดมาวางไว้บริเวณเก้าอี้นั่งภายในรั้วของศาลท้าวมหาพรหม ก่อนจุดระเบิดขึ้น หลังเกิดเหตุ และในวันต่อมา มีการวางระเบิดอีกครั้งบริเวณท่าเรือสาทร หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย คือ นายอาเด็ม คาราดั๊ก หรือนายบิลาล โมฮำเหม็ด หรือบิลาล เติร์ก อายุ 28 ปี ในวันที่ 29 สิงหาคม 2558 และและ นายไมไรลี ยูซุฟู อายุ 30 ปี ในวันที่ 1 กันยายน 2558 โดยทั้งคู่เป็นชาวจีน เชื้อสายอุยกูร์ ต่อมา ผู้ต้องสงสัยทั้งสองราย ถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทหาร กรุงเทพฯ ในคดีหมายเลขดำที่ 217/58
คดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ นอกจากจำเลยทั้ง 2 รายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัย ซึ่งถูกซัดทอดอีก 2 คน คือ นายยงยุทธ พยุงวงศ์ และน.ส.วรรณา สวนสัน และเปิดเผยว่ามีผู้ร่วมขบวนการอีก 17 คน ที่เจ้าหน้าที่กำลังพยายามตามตัวมาดำเนินคดีอยู่
การพิจารณาคดีในชั้นศาล ศาลทหารได้นัดสืบพยานหลักฐานครั้งแรกในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 โดย จำเลยทั้ง 2 ราย ให้การปฎิเสธในชั้นศาล ซึ่งขัดกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่รับสารภาพ โดยจำเลยอ้างว่า ระหว่างถูกควบคุมตัว จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายด้วยการใช้น้ำกรอกปาก และจมูก ใช้การพูดจาข่มขู่เพื่อให้ยอมรับสารภาพ
ต่อมา อัยการทหารฟ้องจำเลยที่หนึ่งใน 10 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น 2. ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควร 3. ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิด 4. ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 5. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 6. ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ 7. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง 8. ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 9. ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่ร่างกาย และทรัพย์ของผู้อื่น และ 10. เป็นคนต่างด้าวเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฟ้องจำเลยที่ 2 ใน 8 ข้อหาแรกเหมือนจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ คดีระเบิดท่าเรือสาทร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจำเลยที่สอง เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ไม่ถูกส่งฟ้องในข้อหาที่ 9 และ 10
หลังจากการพิจารณาคดีติดปัญหาเกี่ยวกับล่ามแปลภาษาอุยกูร์เป็นระยะเวลานาน ในชั้นศาลทหาร จำเลยยอมรับให้ล่ามแปลภาษาอุยกูร์ จากการช่วยเหลือของรัฐบาลจีน การพิจารณาเข้าสู่การสืบพยานแล้ว แต่ล่าสุด คดีถูกโอนย้ายมาสู่ศาลอาญา กรุงเทพใต้ จึงได้มีการนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานใหม่อีกครั้ง