วิกฤตแรงงานอพยพ ถึงชายฝั่งมาเลเซีย และ อินโดนีเซียแล้ว
2015.05.11

แรงงานอพยพข้ามชาติที่ผิดกฎหมายเกือบ 1,600 คน ได้ขึ้นฝั่งที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในช่วงสองวันที่ผ่านมา และยังมีอีกนับหลายพันคนที่ยังคงลอยเรืออยู่ในทะเล หลังจากที่ประเทศไทยประกาศจับกุมและปราบปรามการค้ามนุษย์
วันจันทร์นี้เจ้าหน้าที่มาเลเซียทำการจับกุม 1,018 คน บนเกาะลังกาวี ที่อยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศมาเลเซีย หลังจากที่ชาวประมงที่จังหวัดอาเจะห์ของประเทศอินโดนีเซียได้ให้ความช่วยเหลือ 573 คน ขึ้นฝั่งเมื่อวานนี้
เจ้าหน้าที่มาเลเซียกล่าวว่า มีเรือสองลำหนีการจับกุมไปได้ ขณะที่กองทัพเรืออินโดนีเซียในวันจันทร์ ได้ปฏิเสธไม่ให้เรือลำหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยแรงงานอพยพขึ้นฝั่ง เอพีรายงาน
ทหารเรืออินโดนีเซียได้แจกน้ำและอาหารแก่แรงงานข้ามชาติอพยพ โฆษกประจำกองทัพเรือ มานาฮาน ซิมอรังเคอร์ (Adm. Manahan Simorangkir) กล่าว
"เราไม่ได้ตั้งใจที่จะห้ามไม่ให้เข้ามาในเขตแดนของเรา แต่เป็นเพราะประเทศปลายทางของพวกเขาไม่ใช่อินโดนีเซีย เราจึงขอให้พวกเขาไปต่อยังประเทศที่ต้องการจะไป" เขากล่าว
การเดินทางหลั่งไหลเข้ามาทางเรือแบบผิดกฎหมายเช่นนี้ มีสาเหตุมาจากเมื่อสิบเอ็ดวันที่ผ่านมา เป็นที่น่าสยดสยองว่าประเทศไทยได้พบหลุมฝังศพหมู่หลายสิบหลุม ในภาคใต้ รัฐบาลไทยจึงประกาศตรวจค้น จับกุม ปราบปราม และลงโทษอย่างจริงจัง และรุนแรง กับผู้ใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่ลักลอบนำผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย และค้ามนุษย์
"ใช่ การประกาศการจับกุมของเรา มีผลกระทบต่อเรือที่เดินทางมา" พลตำรวจโท ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและโฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่กรุงเทพฯ "พวกเขากำลังจะไปยังประเทศอินโดนีเซีย ทำไมพวกเขาต้องไปอินโดนีเซีย มันไกลมาก... หน้าที่ของเรา คือป้องกันไม่ให้เรือเข้าฝั่งน่านน้ำของเรา"
เด็กๆ 41 คน
เจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียกล่าวว่า พวกเขากำลังรอแรงงานอพยพผิดกฎหมายข้ามชาติหลั่งไหลเข้ามา หลังจากมีการจับกุมในลังกาวี สำนักข่าวเบอร์นามา ของมาเลเซียรายงาน
"เรากำลังเฝ้าระวังสังเกตุการณ์ เพราะได้รับข่าวว่า ผู้อพยพผิดกฎหมายอาจจะพยายามมาขึ้นฝั่งที่เกาะลังกาวี" หัวหน้าตำรวจท้องที่ แฮริท กัม อับดุลลาห์ (Harrith Kam Abdullah) กล่าวกับผู้สื่อข่าว
เขากล่าวอีกว่า จากจำนวนแรงงานอพยพผิดกฎหมายที่ถูกจับกุม 555 คน มาจากบังคลาเทศ และ 463 เป็นชาวโรฮีนจา กลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศเมียนมา
ในอาเจะห์ แรงงานอพยพผิดกฎหมายได้บอกกับ หน่วยกู้ภัยว่ามีเรือขนาดใหญ่สามลำได้ออกจากประเทศไทยประมาณห้าวันที่แล้ว เพื่อตรงมามาเลเซีย
ชาวประมงพบเรือหนึ่งในสามดังกล่าว ในช่องแคบมะละกา เมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และช่วยลากขึ้นฝั่ง ดาร์ซา (Darsa) เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานการจัดการภัยพิบัติของภูมิภาค ทางเหนือของอาเจะห์ กล่าว
ดาร์ซา ช่วยขนย้ายผู้อพยพจากเรือขึ้นฝั่ง และกล่าวว่า บางคนพูดภาษามาเลย์ได้
"คนพวกนั้นบอกว่า เขาถูกเฆี่ยนตี ถูกทรมาน โดยกองกำลังทหาร ในประเทศของพวกเขา บางคนถูกราดด้วยน้ำร้อน ญาติของพวกเขาบางคน ถูกยิงตายหลังจากถูกทรมาน" เขากล่าว
ดาร์ซา กล่าวต่อว่า พวกที่เขาช่วยมาทั้งหมด เป็นผู้หญิง 83 คน (4 คน ในนั้นกำลังตั้งครรภ์) และ เด็กอายุต่ำกว่าสิบสอง 41 คน
"หลายคนอ่อนแอมาก ขณะที่อพยพมา และตอนนี้กำลังได้รับการรักษาเยียวยาอยู่" เขากล่าว
ใช้เรือเร็วหลบหนี
มูฮัมหมัด จูเน็ด (Muhammad Juned) 35 ปี ชาวโรฮีนจา กล่าวว่า เขาออกจากประเทศเมียนมา ประมาณหนึ่งเดือนที่แล้ว มากับเรือหนึ่งในสิบของกลุ่มเรือขนาดเล็กที่ออกมาพร้อมกัน และหยุดพักที่ประเทศไทยด้วย
ที่ประเทศไทย นายหน้าจัดพวกเขาแยกมากับเรือสามลำ เพื่อเดินทางต่อมายังประเทศมาเลเซีย
"เมื่อเราเข้าเขตน่านน้ำระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย พวกนายหน้าที่จัดการเดินทางให้เรา รวมทั้งกัปตันเรือ ก็พากันลงเรือเร็วหนีไป เราทำอะไรไม่ได้ เพราะพวกนั้นมีปืน" เขากล่าว และเขายังบอกว่า เขามีบัตรผู้ลี้ภัยจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศมาเลเซีย
จาฮันเกอร์ ฮอซซิน (Jahangir Hossin) 37 ปี ให้ความที่คล้ายกัน
"กัปตันเรือหนีลงเรือเร็ว เราลอยเรืออยู่สี่วันในทะเล โดยไม่มีอาหาร มีเพียงน้ำดื่มเท่านั้น" เขาบอกกับผู้สื่อข่าวท้องถิ่น
มูทารีส (Mutaris) 26 ปี จากบังคลาเทศ กล่าวว่าเขาออกจากประเทศ พร้อมกับคนอื่นๆหลายสิบคน เมื่อประมาณสองเดือนที่แล้ว
"ในระหว่างการเดินทาง เพื่อนบางคนเสียชีวิตเพราะความหิวโหย เราจึงโยนศพของพวกเขาลงในทะเล" เขากล่าว
ผู้อพยพที่มากับเรือถูกนำไปพำนักชั่วคราวในสนามกีฬา ที่โลห์กสุกน (Lhoksukon) เมืองหลวงที่อยู่ทางเหนือของอาเจะห์ ผู้กำกับการตำรวจกล่าว
ใครผิดกันแน่
เมื่อวันจันทร์ เมียนมากล่าวว่า ต้นกำเนิดของปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัยทั้งภูมิภาคอยู่ที่บังคลาเทศ
"จากมุมมองการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความช่วยเหลือที่ได้รับจากมาเลเซียและอินโดนีเซียถือว่าดีมากทีเดียว ... แต่ปัญหาคือ คนเหล่านี้ - ที่บอกว่ามาจากประเทศเมียนมา – พวกเขามาจากเมียนมาจริงหรือ" ซอ เท (Zaw Htay) ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานาธิบดีแห่งประเทศเมียนมา กล่าวแก่ เอเอฟพี
"รากเหง้าของปัญหามาจากบังคลาเทศ ถือว่าความรับผิดชอบส่วนใหญ่อยู่ที่บังคลาเทศในเรื่องนี้" เขากล่าว
บังคลาเทศกล่าว เมื่อวันจันทร์ว่า เราได้ดำเนินการเรื่องการปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยสามคนจาก ตำบล เท็กนาฟ (Teknaf) ซึ่งมีพรมแดนติดประเทศเมียนมา ผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์อีกสี่คนถูกยิงตาย ในบังคลาเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เสียภาพพจน์ของบังคลาเทศในระดับนานาชาติ เราได้มีการดำเนินการหลายอย่างแล้ว ในหลายวันที่ผ่านมานี้ เพื่อต่อต้านและหยุดการลักลอบการค้ามนุษย์" แกนด์เกอ อิฟเตการ์ ไฮเดอร์ โชดูรี (Khandker Iftekar Haider Chowdhury) เลขาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการ ของประเทศบังคลาเทศกล่าวแก่ เบนาร์นิวส์
ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดงานแถลงข่าว พร้อมประกาศเรื่องการจับกุม ผู้ต้องสงสัย 17 ราย จาก 50 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ชาวโรฮีนจา และบังกลาเทศ
ในกลุ่มที่ถูกจับกุมนี้ รวมถึง "ผู้ต้องสงสัย" ที่สำคัญคือ นายสุวรรณ แสงทอง เจ้าของสถานประกอบการประมง ในจังหวัดระนอง ที่อยู่ติดชายแดนเมียนมา
ในขณะที่กระทรวงมหาดไทยของประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศว่า จากการตรวจสอบ ของกรมตำรวจมาเลเซีย ไม่พบว่ามีค่ายกักกันค้ามนุษย์ หรือหลุมฝังศพ ในฝั่งพรมแดนมาเลเซีย
การประชุมในภาวะวิกฤติ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) รัฐบาลจากนานาประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ได้จัดประชุมเร่งด่วน เพื่อรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอพีรายงาน
หนึ่งในปัญหาคือต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร กับโรฮีนจา ถ้ากำหนดแผนให้ความช่วยเหลือ ผู้เข้าร่วมประชุมกล่าว (โดยขอสงวนนาม)
"ถึงขณะนี้ ยังไม่แน่ใจว่า ขั้นตอนต่อไปที่เป็นรูปธรรมคืออะไรหรือควรจะเป็นอย่างไร" วิเวียน ตัน โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว "คิดว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ดูเหมือนจะไม่มีกลไกที่ชัดเจนในระดับภูมิภาคนี้ สำหรับตอบสนองต่อเรื่องเช่นนี้"
นักกิจกรรมเคลื่อนไหว เพื่อชาวโรฮีนจา กล่าวว่า ผลจากที่รัฐบาลไทยประกาศการตรวจค้นจับกุม คิดว่าแรงงานอพยพผิดกฎหมายหลายคน น่าจะหลบหนีไปซ่อนตัวลึกเข้าไปอีก
"พวกเขากลัวตำรวจ เพราะนายหน้าบอกพวกเขาว่า ถ้าเห็นตำรวจ ให้หนี" นุอิสลาม อามีน (Nu Islam Ameen) สมาคมชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศไทย กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์
"ส่วนใหญ่แรงงานอพยพข้ามชาติที่ออกมา ขอความช่วยเหลือ ก็เพราะเขาเหนื่อยล้าและป่วยแล้ว ส่วนพวกที่ยังแข็งแรง หลบอยู่ที่ไหนกัน?"
เนอดิน ฮะซัน จาก อาเจะห์, ฮาตา วาตาริ จาก กัวลาลัมเปอร์, เจสมิน ปาปรี จาก ดาห์กา, นาซือเราะ จากภาคใต้ ประเทศไทย คำอ้างอิงและสนับสนุนการรายงานข่าว