ตำรวจปูพรมค้นกรุงเทพฯ จับผู้ต้องสงสัยเตรียมก่อเหตุ 10 ราย
2016.10.11
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร(11 ตุลาคม 2559)นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังทหารกว่า 100 นายบุกตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 10 ราย ยึดของกลาง 400 กระบอก และยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง รองโฆษกตำรวจเผย ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นผู้เตรียมก่อเหตุระเบิด ในช่วงปลายเดือนตุลาคมตามที่ได้รับรายงาน ในเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา
หลังจากที่ พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ในเย็นวันจันทร์ หลังได้รับแจ้งว่า อาจมีการก่อเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพระหว่างวันที่ 25-30 ตุลาคม 2559
เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบหลายจุดเสี่ยง มีการตรวจค้นพื้นที่ และเฝ้าระวังการก่อเหตุ หลังจากได้รับข่าวแจ้งเตือนจากกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลของฝ่ายข่าวทั้งในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย
ในช่วงเช้าวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่สายตรวจปฎิบัติการพิเศษ 191 ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย (หน่วยอรินทราช 26) ฝ่ายสืบสวน บก.น.4 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.หัวหมาก และเจ้าหน้าที่ทหารได้บุกตรวจค้นตามหมายค้นและหมายจับ ในพื้นที่หัวหมากและวังทองหลาง และอำเภอปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ จนนำไปสู่การจับกุมดังกล่าว
พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงเช้าของวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหารบุกตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยที่อาจก่อเหตุอาชญากรรม เพื่อเป็นการป้องกันการก่อเหตุ
“ทำการตรวจสอบเป็นการกดดัน เอ็กซ์เรย์พื้นที่ เข้าทำการตรวจค้น เป็นการตัดโอกาส สำหรับจะเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุหรือเปล่านั้นต้องมีการสืบสวนขยายผลต่อไป ที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยทางใต้ ตอนนี้ก็มีการจับกุมยาเสพติด เป็นพวกพืชกระท่อม และอาวุธปืน” พล.ต.ต.ทรงพลกล่าว
“เราต้องดูแลพื้นที่ทั่วนครบาล แม้กระทั่งสันติบาล เรื่องการข่าวก็ต้องตรวจสอบ สตม.มีหน้าที่คัดกรองพวกแบล็คลิสต์ชาวต่างชาติ ในพื้นที่นครบาล ภูธร 1-9 ต้องไปดำเนินการตรวจสอบ จุดเสี่ยงเราก็เพิ่ม(ความเข้มงวด)เป็นกรณี ส่วนที่สำคัญรองลงมาก็ต้องตรวจสอบเช่นเดียวกัน” พล.ต.ต.ทรงพลเพิ่มเติม
พล.ต.ต.ทรงพลระบุว่า สำหรับผู้ต้องสงสัยทั้งหมดที่ควบคุมตัวในวันนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่สั่งฟ้อง แต่นำตัวไปสอบสวนที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4
ขณะที่แนวร่วมกองกำลังผู้เห็นต่างจากรัฐบาลในจังหวัดปัตตานี ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ เมื่อวันอังคารนี้ว่า เชื่อว่าการก่อเหตุในกรุงเทพฯโดยกองกำลังจากภาคใต้มีความเป็นไปได้น้อย และกลุ่มของตนยังไม่ได้รับการสั่งการใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้
“กรุงเทพเมืองหลวงยังไม่ใช่เป้าหมาย” แนวร่วมคนดังกล่าวให้เหตุผล “กลุ่มแนวร่วมอย่างพวกเราคงไม่มีความสามารถ” สมาชิกแนวร่วมผู้เห็นต่างคนเดียวกันกล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้แสดงความคิดเห็นต่อการแจ้งเตือนการก่อเหตุในกรุงเทพฯ ว่า เป็นไปได้ยากที่จะก่อเหตุโดยกองกำลังจากชายแดนภาคใต้
"ยังไม่มีความชัดเจนในด้านข้อเท็จจริง และความน่าเชื่อถือ โอกาสที่กลุ่มขบวนการณ์จากสาม จังหวัดจะขยายพื้นที่ไปก่อเหตุในลักษณะคาร์บอมบ์คิดว่า เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าจะเกิดอาจเกิดในลักษณะที่ป่วนใน 7 จังหวัด เพราะยากต่อการเฝ้าระวัง ข้อสมมติฐานนี้จึงเป็นไปได้ยาก"
ในปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ตกเป็นเป้าหมายในเหตุการณ์ระเบิดที่ถือว่าเป็นรุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง ที่ศาลพระพรหมเอราวัณ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 125 คน และในอีกเหตุการณ์รุนแรงล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ เกิดเหตุระเบิดและวางเพลิงหลายครั้งใน 7 จังหวัดภาคใต้ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน ถือเป็นการก่อเหตุครั้งรุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ในรอบหลายปี
เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับว่า เหตุระเบิดมีความเชื่อมโยงถึงผู้ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอาจจะถูกใช้ให้มาวางระเบิดก่อกวนด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง หากยังปฏิเสธว่า การโจมตีเหล่านั้นไม่ได้เป็นการขยายพื้นที่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
นับตั้งแต่การก่อเหตุรุนแรงระลอกใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2547 มีผู้เสียชีวิตทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิม รวมกันแล้วกว่า 6,500 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
'ขอให้เจ้าหน้าที่เขาทำงาน ' นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลในวันเดียวกันว่า อยากให้ประชาชนให้เวลากับเจ้าหน้าที่ในการทำงาน และอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวจนเกินไป
“เขาก็เตือนเสมอมา ขอให้เจ้าหน้าที่เขาทำงาน ขอให้เชื่อมั่น ให้สังคมรับรู้แต่พอเพียง เป็นเรื่องการทำงานด้านการข่าว รอผลชัดเจนก่อน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ปัจจุบัน พบว่ามีรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2555- 2559 รวมทั้งหมด 30 คัน จาก จ.นราธิวาส 10 คัน จ.ปัตตานี 12 คัน และ จ.สงขลา 8 คัน ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า รถซึ่งถูกโจรกรรมเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ก่อเหตุความไม่สงบ หรือคาร์บอมบ์ในพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์กระบะและรถยนต์เก๋ง จึงได้มีการให้เฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ ในปัตตานี มีส่วนร่วมในรายงานนี้