ผู้ต้องหาคดีระเบิดราชประสงค์ชาวอุยกูร์ ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.02.16
TH-uyghur-620 นายอาเด็ม คาราดัก จำเลยที่หนึ่ง ถูกนำตัวมายังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อเริ่มการพิจารณาคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม วันที่ 16 ก.พ. 2559
เบนาร์นิวส์

ศาลทหารกรุงเทพ ได้เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีวางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ และท่าเรือสาทร ในวันอังคาร (16 ก.พ. 2559) นี้ โดยนายอาเด็ม คาราดัก จำเลยที่หนึ่ง และนายไมไรลี ยูซุฟู จำเลยที่สอง ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยจำเลยที่หนึ่ง ยังอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม เพื่อให้รับสารภาพ

ในตอนเช้าของวันนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร และกรมราชทัณฑ์ ได้คุมตัวนายอาเด็ม คาราดัก หรืออีกชื่อหนึ่งคือบิลาล โมฮัมเหม็ด จำเลยที่ 1 และนายไมไรลี ยูซุฟู จำเลยที่ 2 ในคดีระเบิดสี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร มาสอบคำให้การครั้งแรกที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ โดยศาลได้แจ้งให้จำเลยทราบโดยผ่านล่ามภาษาอังกฤษ และภาษาอุยกูร์รวม 2 คน ถึงข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ อัยการทหารฟ้องจำเลยที่หนึ่งใน 10 ข้อหาประกอบด้วย 1. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น 2. ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควร 3. ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิด 4. ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 5. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 6. ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ 7. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง 8. ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต  9. ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่ร่างกาย และทรัพย์ของผู้อื่น และ 10. เป็นคนต่างด้าวเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฟ้องจำเลยที่ 2 ใน 8 ข้อหาแรกเหมือนจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ คดีระเบิดท่าเรือสาทร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจำเลยที่สอง เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ไม่ถูกส่งฟ้องในข้อหาที่ 9 และ 10

โดยเมื่อจำเลยรับฟังข้อหาทั้งหมด ศาลได้ถามคำให้การของจำเลย ซึ่งทั้งคู่ ได้ปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันว่าจะขอต่อสู้คดี

นายอาเด็ม คาราดัก ให้การต่อศาลว่า ตนเกิดวันที่ 29 มกราคม 1985 อายุ 31 ปี อาชีพ คนขับรถรับจ้าง ส่วนนายไมไรลี ยูซุฟู ให้การว่า ตนเกิดวันเมื่อที่ 1 ตุลาคม 1989 อายุ 27 ปี นักศึกษา ทั้งสองเป็นคนเชื้อสายอุยกูร์ สัญชาติจีน มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง ประเทศจีน

โดยในส่วนของจำเลยที่หนึ่ง นายอาเด็ม คาราดัก ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องการลักลอบเข้าประเทศไทยว่า ตัวเขาได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ไม่ใช่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ตามที่อัยการฝ่ายโจทก์ได้กล่าวอ้าง

ขณะที่จำเลยที่สอง นายไมไรลี ยูซุฟู ซึ่งในวันนี้ทางศาลทหารได้ใช้ทนายชั่วคราว ได้แจ้งต่อศาลว่าต้องการขอแต่งตั้งทนายความของตัวเองในการสอบปากคำครั้งต่อไป แทนการใช้ทนายความทหารหรือทนายความจากสภาทนายความ รวมทั้ง ยังเร่งรัดให้กระบวนการพิจารณาเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

“เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะให้ผู้บริสุทธิ์ชาวมุสลิมต้องถูกควบคุมตัวนานเกินไป” นายไมไรลี กล่าวผ่านล่าม

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสอบคำ เจ้าหน้าที่ได้พาตัวจำเลยทั้งสองเดินทางกลับเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 อย่างรวดเร็ว

จากกรณีที่มีการรายงานข่าวว่าจำเลยที่หนึ่งได้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนนั้น นายชูชาติ กันภัย ทนายความของจำเลยที่หนึ่ง ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า การปฎิเสธข้อกล่าวหาของจำเลยที่หนึ่ง ไม่ได้ถือว่าเป็นการกลับคำให้การใดๆ เนื่องจากจำเลยไม่เคยยอมรับข้อกล่าวหาทั้งหมดตั้งแต่ต้น

“ไม่เคยให้การรับสารภาพใด ๆทั้งสิ้น แม้กระทั่งคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ระบุว่า จำเลยที่หนึ่งได้ให้การรับสารภาพ จำเลยที่หนึ่งจึงมีข้อต่อสู้ว่า เข้าเมืองมาในวันที่ 21 สิงหา (2558) ภายหลังจากเหตุเกิดระเบิดแล้วหลายวัน” นายชูชาติกล่าว

นายชูชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า นายอาเด็ม อ้างว่าถูกทำร้ายในช่วงวันที่ 20-26 กันยายน 2558 ขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว โดยการใช้น้ำกรอกเข้าปากและจมูก การใช้สุนัขมาเห่าใส่ในระยะใกล้ และการข่มขู่ว่าจะส่งตัวนายอาเด็มกลับไปให้รัฐบาลจีน โดยการกระทำทั้งหมดมีมุ่งประสงค์จะให้นายอาเด็มรับว่า ตัวเขาคือคนที่ปรากฎภาพในกล้องวงจรปิด และเป็นผู้นำกระเป๋าบรรจุระเบิดไปวางในที่เกิดเหตุ ซึ่งข้อมูลการถูกทำร้ายและข่มขู่ทั้งหมด ทนายความได้ยื่นให้ศาลไต่สวนแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา

ในตอนค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่บริเวณศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ ได้มีคนร้ายใส่เสื้อสีเหลืองวางกระเป๋าที่มีระเบิดบรรจุข้างในไว้ตรงม้านั่งด้านในบริเวณศาลพระพรหม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบราย โดยทีวีวงจรปิดสามารถจับภาพไว้ได้ และในวันถัดมา ได้เกิดเหตุคนร้ายขว้างระเบิดที่ท่าเรือสาทร แต่ไม่ระเบิด

พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าว ในการแถลงข่าวสรุปคดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 ว่า “มูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่ามาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำลาย หรือไปจับกุมขบวนการ หรือเครือข่ายการค้ามนุษย์

นายอาเด็ม คาราดัก ถูกควบคุมตัว ในวันที่ 29 สิงหาคม 2558 ที่พูนอนันต์อพาร์ทเม้นต์ ย่านหนองจอก ส่วนนายไมไรลี ยูซุฟู ถูกจับกุมตัวได้ที่อรัญประเทศ ในขณะจะหลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา ในวันที่ 1 กันยายน 2558 ส่วนผู้ต้องหาอีก 15 รายนั้น ยังไม่สามารถจับกุมได้

สำหรับการสอบคำให้การครั้งต่อไป ศาลได้นัดจำเลยทั้งสอง ในวันที่ 20-22 เมษายน 2559

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง