ทนายในคดีระเบิดราชประสงค์คาดศาลตัดสินคดีได้ในกลางปี 2562
2017.08.23
กรุงเทพฯ

ในวันพุธ (23 สิงหาคม 2560) นี้ ศาลทหาร กรุงเทพ ได้ทำการสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหมต่อ โดยเริ่มจากวันอังคาร ถึงวันพฤหัสบดีนี้ ทนายความจำเลยกล่าวว่า ศาลเพิ่งเสร็จสิ้นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ปากที่ 3 ในขณะที่อัยการแจ้งต่อศาลว่า มีพยานฝ่ายโจทก์กว่า 400 ปาก ส่วนจำเลยมีพยาน 40 ปาก คาดว่า ศาลจะสามารถอ่านคำพิพากษาได้ไม่เกินกลางปี 2562
นายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็ม คาราดัก จำเลยที่ 1 เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ปากที่ 3 ว่า เชื่อว่าศาลจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีนี้อีก 1 ปี หรืออย่างช้าที่สุดน่าจะอ่านคำพิพากษาได้ไม่เกินกลางปี 2562
“เสร็จสิ้นวันนี้สืบพยานโจทก์ไปทั้งหมด 3 ปาก โจทก์แจ้งว่ามีพยาน 400 ปาก แต่อาจตัดออก เนื่องจากเยอะ โดยเชื่อว่าจะเลือกเอาเฉพาะที่สำคัญจริงๆ ซึ่งอาจจะเหลือ 100 กว่าปาก ฝ่ายจำเลยแจ้งไว้ราวๆ 40 ปาก แต่มีบางส่วนที่ซ้ำกับของโจทก์ อาจเหลือสืบจริงๆ 10 กว่าปาก คาดว่าช้าที่สุดไม่เกินกลางปี 62” นายชูชาติกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
สำหรับวันนี้ พยานฝ่ายโจทก์ที่ขึ้นให้การต่อศาล คือ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผู้กำกับการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาไทย-อังกฤษให้กับผู้สอบสวน ขณะที่จำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวอยู่ภายใน มณฑลทหารบก 11 ช่วงเดือนสิงหาคม 2558 โดย พ.ต.อ.กฤษณะระบุว่า ในช่วงการสอบสวน และการชี้จุดเกิดเหตุ พยานไม่มีร่องรองการถูกทำร้าย หรือถูกบังคับให้สารภาพตามที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ในวันนี้ ศาลได้ใช้ล่ามของสถานทูตจีนในการแปลในระหว่างการสืบพยาน โดยมีเจ้าหน้าที่สถานทูตอีกสี่รายร่วมฟังด้วย โดยมีจำเลยทั้งสอง คือ นายอาเด็ม คาราดัก หรือบิลาล โมฮัมเหม็ด จำเลยที่ 1 และนายไมไรลี ยูซุฟู จำเลยที่ 2 เข้าฟังการสืบพยานพร้อมกัน
เหตุระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บกว่า 120 ราย หลังการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าว ทำให้ทราบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุสวมใส่เสื้อสีเหลือง และนำกระเป๋าที่คาดว่า บรรจุระเบิดไว้ภายในมาวางไว้บริเวณเก้าอี้นั่งภายในรั้วของศาลท้าวมหาพรหม ก่อนจุดระเบิดขึ้น หลังเกิดเหตุ และในวันต่อมามีการวางระเบิดอีกครั้งบริเวณท่าเรือสาทร หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย คือ นายอาเด็ม คาราดัก หรือบิลาล โมฮัมเหม็ด จำเลยที่ 1 ในวันที่ 29 สิงหาคม 2558 และนายไมไรลี ยูซุฟู จำเลยที่ 2 ในวันที่ 1 กันยายน 2558 โดยทั้งคู่เป็นชาวจีน เชื้อสายอุยกูร์ และได้นำทั้งสองเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทหาร กรุงเทพฯ ในคดีหมายเลขดำที่ 217/58
คดีระเบิดราชประสงค์
คดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ นอกจากจำเลยทั้ง 2 รายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัย ซึ่งถูกซัดทอดอีก 2 คน คือ นายยงยุทธ พยุงวงศ์ และน.ส.วรรณา สวนสัน ซึ่งทั้งคู่อยู่ระหว่างการหลบหนี และเปิดเผยว่ามีผู้ร่วมขบวนการอีก 17 คน ที่เจ้าหน้าที่กำลังพยายามตามตัวมาดำเนินคดีอยู่
การพิจารณาคดีในชั้นศาล ศาลทหารได้นัดสืบพยานหลักฐานครั้งแรกในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 โดย จำเลยทั้ง 2 ราย ให้การปฎิเสธในชั้นศาล ซึ่งขัดกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่รับสารภาพ โดยอ้างว่า ระหว่างถูกควบคุมตัว จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย โดยการใช้น้ำกรอกปาก และจมูก ใช้การพูดจาข่มขู่เพื่อให้ยอมรับสารภาพ
อัยการทหารฟ้องจำเลยที่หนึ่งใน 10 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น 2. ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควร 3. ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิด 4. ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 5. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 6. ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ 7. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง 8. ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 9. ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่ร่างกาย และทรัพย์ของผู้อื่น และ 10. เป็นคนต่างด้าวเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฟ้องจำเลยที่ 2 ใน 8 ข้อหาแรกเหมือนจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ คดีระเบิดท่าเรือสาทร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจำเลยที่สอง เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ไม่ถูกส่งฟ้องในข้อหาที่ 9 และ 10
หลังจากการพิจารณาคดีติดปัญหาเกี่ยวกับล่ามแปลภาษาอุยกูร์เป็นระยะเวลานาน ล่าสุด จำเลยยอมรับให้ล่ามแปลภาษาอุยกูร์ จากการช่วยเหลือของรัฐบาลจีน และการพิจารณาคดีเข้าสู่การสืบพยานฝ่ายโจทก์ ปัจจุบัน ยังไม่มีการนัดหมายจากศาลในอนาคต