รัฐบาลจะใช้งบ 6 พันล้านแก้ภัยแล้ง
2020.01.07
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะใช้จ่ายงบกลางเป็นเงิน 3 พันล้านบาท จากงบทั้งหมด 6 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน เพื่อดำเนินการการขุดเจาะน้ำบาดาล จัดหาแหล่งน้ำดิบ และซ่อมแซมท่อประปา ภายใน 120 วัน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งติดภารกิจส่วนตัว ระบุว่า รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วนทันที หลัง ครม. เห็นชอบ
“เราได้เตรียมการในเรื่องของหาน้ำใต้ดินกับน้ำบนดินไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขุดบ่อน้ำบาดาล เราก็ของบประมาณเพื่อขุดบ่อน้ำบาดาลที่จะไว้สำหรับช่วยเหลือชาวบ้านทั่วทั้งประเทศ จะเริ่มขุดตั้งแต่ได้รับงบประมาณในวันนี้ พรุ่งนี้ก็เริ่มขุดเลยให้ทั้งทหาร มหาดไทย ทั้งกรมน้ำฯ เพราะเราประสานบูรณาการร่วมกันแล้วใช้งบกลางประมาณ 3 พัน (ล้านบาท)” พลเอกประวิตร กล่าว
โดย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า งบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้งนี้ มาจากการเสนอของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยจะใช้งบทั้งสิ้น 6,029 ล้านบาท
“สทนช. มีโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 63 ระยะเร่งด่วน จะต้องใช้วงเงินรวมทั้งสิ้น 6,029 ล้านบาท แล้วก็มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงได้เข้า ครม. มาขอ งบกลาง 3,079 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่จะเข้ามาดำเนินการมีหลายหน่วยงาน” นางนฤมล ระบุ
ซึ่ง นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ทำเรื่องขออนุมัติงบกลางมา 3,079,472,482 ล้านบาท ที่เป็นการใช้งบกลางของปี 2562 สำหรับ 2,011 โครงการ ในการแก้ไขปัญหานี้
“3 พันกว่าล้านนี้จะแบ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 57 จังหวัดของ 5 หน่วยงาน คือทำงานบูรณาการกัน มีการประปา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพบก มีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ก็จะเป็นการบรรเทา และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทั้งอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างเร่งด่วนแล้วก็เป็นวงกว้าง” นางสาวไตรศุลี กล่าว
“โดยงบประมาณทั้งหมดนี้จะต้องทำโครงการให้เสร็จสิ้นใน 120 วัน เพราะเป็นแผนการเร่งด่วน ขุดเจาะบ่อบาดาล การวางท่อส่งน้ำ โครงการก่อสร้างโรงสูบน้ำ การติดตั้งท่อสูบน้ำ การวางท่อน้ำดิบ ส่วนของโรงพยาบาลบางแห่งที่มีการขาดแคลนน้ำก็จะมีการเจาะบ่อบาดาล” นางสาวไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติม
นางสาวไตรศุลี ระบุว่า งบเร่งด่วนนี้จะถูกใช้ไปกับ โครงการขุดเจาะบ่อบาดาล 1,100 แห่ง การจัดหาแหล่งผิวน้ำดิบ 230 โครงการ การซ่อมแซมระบบน้ำประปา 654 โครงการ และอื่นๆ
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้วใน 13 จังหวัด 67 อำเภอ 409 ตำบลทั่วประเทศ คือ จังหวัดเชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และนครราชสีมา
โดย สถาบันสารสนเทศน์ทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณฝนเฉลี่ยโดยรวมของไทยน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 18 โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง พบมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 24 และพบเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ถึง 9 เขื่อน คือ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเขื่อนอุบลรัตน์น้ำอยู่ในขั้นวิกฤต
ปัจจบัน ใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 80 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจต้องใช้น้ำก้นอ่างสำหรับการอุปโภค-บริโภคตลอดหน้าแล้งนี้ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกับภาคใต้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ มีน้ำไหลลงเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลางน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะเขื่อนรัชชประภา
ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดเล็กสะท้อนความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในประเทศในช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 43 จังหวัด
นายดลวรรฒ สุนสุข เกษตรกรจากจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปริมาณน้ำฝนที่น้อยลงน่าจะทำให้ได้ผลผลิตน้อยในปีนี้ และยังไม่เชื่อว่ามาตรการแก้ปัญหาของรัฐจะเป็นผล
“สถานการณ์ภูมิอากาศเปลี่ยนมา 3-4 ปีแล้ว ที่ฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าที่เคย ฤดูฝนที่ผ่านมาน้ำไม่เต็มหนอง บึง แหล่งเก็บน้ำอย่างที่เคย เพราะฝนทิ้งช่วง สิงหาคม - กันยายน ทำให้ปริมาณน้ำใช้ไม่เพียงพอ หมดไปตั้งแต่ก่อนปีใหม่ เหลืออีก 5-6 เดือนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน เกษตรกรต้องปรับตัว วางแผนการผลิตใหม่ ที่สวนต้องปรับตัวหาแหล่งน้ำใหม่ ขุดบ่อบาดาลเพิ่ม ต้องปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และลดปริมาณการปลูกลง” นายดลวรรฒ กล่าว
“คาดว่าจะได้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่แล้วกว่าครึ่ง ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ แต่คงไม่เพียงพอต่อเกษตรกร อีกทั้งการกระจายข่าว เรื่องการจัดการน้ำ ที่ยังเข้าไม่ถึงเกษตรกร รวมถึงนโยบายโซนนิ่งที่ล้มเหลว อยากให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน และรีบแก้ปัญหาก่อนที่ภัยแล้งจะรุนแรงกว่านี้” นายดลวรรฒ กล่าวเพิ่มเติม