อดีตซีลเสียชีวิตในภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่า
2018.07.06
เชียงราย

พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ แถลงข่าวจากหน้าถ้ำหลวงว่า จ่าเอกอดีตหน่วยซีลที่มาช่วยทางการในปฏิบัติช่วยเหลือเด็กและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายออกจากถ้ำหลวง ได้เสียชีวิตลงในช่วงเช้าของวันศุกร์นี้ หลังจากที่มาช่วยดำน้ำลำเลียงขวดอากาศเข้าออกจากฐานปฏิบัติการกู้ภัยที่โถงสาม ภายในถ้ำและเนินนมสาวที่เด็กอยู่
พล.ร.ต.อาภากร กล่าวว่า จ่าเอกสมาน กุนัน อายุ 38 ปี เคยรับราชการเป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ปัจจุบัน เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้หมดสติลงในระหว่างการดำน้ำกลับออกมาจากเสร็จภารกิจวางขวดอากาศตามเส้นทางโถงสามไปยังเนินนมสาว ในช่วงก่อนเช้าวันศุกร์ และได้ถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ได้เสียชีวิตลง
“เมื่อคืน เราวางแผนเอาออกซิเจนที่ต้องใช้ไปวางจากโถงสามไปถึงน้อง ระยะทางพันเจ็ดร้อยเมตร การเข้าไปถึงพันเจ็ดร้อยเมตร ขาไปใช้เวลาห้าถึงหกชั่วโมงกลับมาอีกห้าถึงหกชั่วโมง รวมสิบสองชั่วโมงที่เราต้องอยู่ในน้ำ” พล.ร.ต.อาภากร กล่าวในการแถลงของศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในจังหวัดเชียงราย
“พอไปวางขวดอากาศเสร็จแล้ว ก็กลับมา ขณะกำลังกลับมา จ.อ.สมาน หมดสติ คู่บัดดี้พยายามปฐมพยายาล เมื่อปฐมฯ เบื้องต้นไม่รู้สึกตัว เอากลับมาโถงสาม เอามาปฐมฯ ต่อ เจ้าตัวหมดสติไม่รู้สึกตัว ก็นำส่งโรงพยาบาล” พล.ร.ต.อาภากรกล่าวเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ได้นำตัว จ.อ.สมาน ส่งโรงพยาบาลค่ายพญาเม็งรายมหาราช และไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้
ความสูญเสียเกิดขึ้นในความพยายามช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชน อายุ 11 ถึง 16 ปี และโค้ช ที่เดินทางเข้าไปในถ้ำตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน นี้ และได้เกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วมภายในถ้ำและต้องติดอยู่ที่เนินนมสาว ลึกเข้าไปข้างในกว่าสี่กิโลเมตร จนกระทั่ง ทางการได้ส่งหน่วยซีลมาช่วยค้นหามาตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 24 เดือนที่แล้ว จนพบตัวเด็กเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ซึ่งทางหน่วยซีลได้ทำงานร่วมกับนักประดาน้ำตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ และนักกู้ภัยต่างชาติ
“เราฝึกมาพื่อทำงานในภาวะความเสี่ยงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ็บป่วย เสียชีวิต เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญตลอดเวลา เพราะเราฝึกมาแบบนี้ ยึนยันว่าเราไม่เคยเสียขวัญ กำลังพลกำลังฮึกเหิม พี่น้องเราที่เสียชีวิตไปเราจะไม่สูญเปล่าเราเดินหน้าต่อ” พล.ร.ต.อาภากร กล่าว
เฟสบุ๊ค Thai NavySeal ได้เขียนข้อความระลึกถึงจ่าเอกสมาน กุนัน ว่า จ่าเอกสมาน เป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่นที่ 30 ลาออกจากราชการ ไปทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุ การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นสมาขิกนักทำลายใต้น้ำจู่โจมที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นนักกีฬาไตรกีฬา ชอบเล่นกีฬาประเภทแอดเวนเจอร์
ศพของจ่าสมาน ได้ถูกนำส่งไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และทรงรับสั่งให้จัดพิธีศพอย่างสมเกียรติ
ในความพยายามช่วยเหลือเด็กนั้น ในขณะนี้ ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย วางแผนนำเยาวชนออกมาทางปากถ้ำ โดยต้องพยายามลดระดับน้ำในถ้ำต่อไป และต้องวางขวดอากาศสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เดินทางเข้า-ออกถ้ำ เพื่อสูบน้ำ ติดตั้งระบบโทรศัพท์และไฟฟ้า และที่เข้าไปพยาบาลดูแลเด็กให้แข็งแรงพอ จนกระทั่งสามารถดำน้ำออกมาได้ ซึ่งอาจจะต้องสอนให้ทั้งสิบสามคนว่ายน้ำและดำน้ำโดยใช้หน้ากากดำน้ำแบบเต็มหน้า ในขณะที่มีความพยายามหาเส้นทางจากภายนอก เช่น ปล่องถ้ำ เพื่อเข้าไปให้ใกล้จุดที่เยาวชนติดอยู่ โดยอาจจะมีการเจาะถ้ำที่จุดที่เหมาะสม
และล่าสุดในคืนวันศุกร์นี้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าวแก่สื่อมวลชนที่มารอร่วมหลายชั่วโมงว่า
"เด็กๆข้างใน ยังอยู่ดี มีสุข อากาศยังมีอยู่ พ่อแม่เขียนจดหมายฝากไปให้อ่าน... เขากำลังเรียนการดำน้ำ"
"เราประชุมแผน ซักซ้อมแต่ละแผนหลายแผน ร่วมกับนักดำน้ำฝรั่ง .. ว่าอันนี้ทำได้ไหม ต่อหน้าผู้บังคับบัญชา มีความเป็นไปได้อย่างไร .. และอย่างที่ผมยืนยันมาตลอด น้องเข้าข้างหน้า ก็ต้องออกข้างหน้า" นายณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อว่า "เจาะโพรงไปร้อยกว่าหลุม มีศักยภาพที่จะลงไปได้ 18 หลุม หลุมที่เจาะลึกที่สุด 400 กว่าเมตร ... พยายามลด chance ที่เป็นไปไม่ได้ออก"
"ถ้าฝนตกหนักแล้ว ต้องคิดที่จะนำเด็กออกมา แต่ถ้า stable เรารักษาสถานการณ์ได้ .. ตอนนี้คือ ความพร้อมของเด็กที่จะดำน้ำได้ หรือไม่"
"เด็กๆ ยังดำน้ำไม่ได้วันนี้" นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
ด็อกเตอร์นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งชาติ กล่าวว่า ได้พยายามหาช่องทางที่จะเจาะถ้ำจากด้านนอกเพื่อช่วยเหลือเด็ก แต่ติดขัดอุปสรรคเรื่องการระบุตำแหน่งเด็กจากด้านนอก แม้ว่าสามารถระบุตำแหน่งเด็กในภายในถ้ำได้ว่าอยู่ที่เนินนมสาว เพราะการระบุตำแหน่งด้วยจีพีเอสใช้ได้กับตำแหน่งบนผิวดินเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีนักเก็บรังนกจากเกาะลิบงมาช่วยหาปล่องถ้ำต่างๆ และโรยตัวเพื่อค้นหาทางเชื่อมลงสู่ถ้ำ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ