ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ชาญวิทย์ ผิดพรบ.คอมฯโพสต์พาดพิงภริยานายกฯ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.01.31
กรุงเทพฯ
180131-TH-charnvit-1000.jpg นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ หลังรับทราบข้อกล่าวหานำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลฯ อันเป็นเท็จ ตามความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ บก.ปอท. วันที่ 31 มกราคม 2561
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการการปราบปรามเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในวันพุธที่ 31 มกราคม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นความผิดตาม มาตรา 14 พรบ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ขณะที่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนยันว่า สิ่งที่ทำลงไปเป็นสิทธิ และไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี

“เป็นคดีแรกในชีวิต นับตั้งแต่ทำงานเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อสู้ทางการเมืองมาตลอดเวลา 40-50 ปี ไม่เคยโดนตั้งข้อหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแบบนี้มาก่อน” นายชาญวิทย์ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวัย 72 ปี กล่าวกับสื่อมวลชน

คดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ นายชาญวิทย์ ใช้เฟซบุ๊คส่วนตัวชื่อ “Charnvit Kasetsiri” เผยแพร่ภาพและข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ Ploy Siripong ซึ่งโพสต์ลงในกลุ่ม “ตีแตกการเมือง” เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ระบุว่า ภรรยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้กระเป๋าแบรนด์หรู ราคาแพงมูลค่าสองล้านบาท โดยนายชาญวิทย์ ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมจากโพสต์ดังกล่าวว่า “ผู้นำ ต้องใช้ของแพงๆ Thai leaders must look expensive not cheap..” ซึ่งต่อมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊ครายอื่นเข้ามาให้ข้อมูลว่า กระเป๋าดังกล่าว ผลิตจากศูนย์ศิลปาชีพ มิใช่กระเป๋าราคาแพงตามที่ถูกกล่าวอ้าง

ต่อมา พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งความว่า นายชาญวิทย์ กระทำความผิดโดยนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยที่น่าจะก่อให้เกิดความตืนตระหนกแก่ประชาชน เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลฯ คอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลฯ อันเป็นเท็จ และข้อมูลฯ อันเป็นเท็จนั้น น่าจะก่อให้เกิดความตืนตระหนกกับประชาชน ซึ่งเป็นความผิดในมาตรา 14(2), (5) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายชาญวิทย์ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา ยืนยันว่า การกระทำครั้งนี้ เป็นแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งในการวิพากษ์-วิจารณ์บุคคลระดับสูงในสังคม ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ตนเองมีอายุมาก และเพิ่งเล่นเฟซบุ๊คได้ไม่นาน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเคาะเพียงครั้งเดียวข้อมูลต่างๆ ก็กระจายไปทั่วแล้ว ดังนั้นการจะตรวจสอบข้อมูลจึงทำได้ไม่ง่าย

“ผมเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น... เป็นประสบการณ์ที่แปลกประหลาดที่วันนี้กลายเป็นผู้ต้องหา ทั้งที่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่กลับถูกตีความเป็นการเมือง” นายชาญวิทย์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความได้ตั้งข้อสงสัยในการแจ้งข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ไว้สามประเด็น คือ ประเด็นที่ผู้กำกับของ บก.ปอท. เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ประเด็นที่สองเป็นเรื่องการตีความการกระทำของนายชาญวิทย์ว่า เป็นการกระทำที่อันตรายต่อประเทศชาติ ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงความเสียหายส่วนบุคคล และสุดท้ายพนักงานสอบสวนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.โอฬาร จึงมีข้อสงสัยว่า อาจได้รับความไม่เป็นธรรม ซึ่งจะได้ทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของ ปอท. เพื่อขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนต่อไป

“เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อาจารย์ชาญวิทย์ เป็นคนมีชื่อเสียง การแชร์ข้อความที่มีความผิดตาม พรบ.คอมฯ กรณีกระเป๋าของภรรยาผู้นำฯ เป็นการทำให้เกิดความตื่นตระหนก อาจทำให้เกิดภยันอันตรายต่อประเทศชาติ เป็นการกระทำที่มีความผิด จึงเข้าแจ้งความเพื่อให้ อาจารย์ชาญวิทย์ตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งอาจารย์ได้ปฏิเสธ โดยขอต่อสู้คดีและจะได้นำพยานหลักฐานต่างๆ มาชี้แจงต่อไป”

ด้าน พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ3 บก.ปอท. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ยืนยันว่าทำหน้าที่ทุกขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องการกลั่นแกล้งทางการเมืองแต่อย่างใด และหากไม่สะดวกใจกับพนักงานสอบสวนที่คิดว่าอาจไม่เป็นธรรม สามารถคัดค้านได้ ซึ่งทั้งหมดศาลจะเป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว

“ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การกลั่นแกล้งทางการเมือง เป็นการทำหน้าที่ของตำรวจตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งให้อำนาจตำรวจร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และที่ผ่านมา อาจารย์ชาญวิทย์ เหมือนพูดผ่านสื่อว่าได้แชร์[ข้อความ]จริง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้มีชื่อเสียง ซึ่งมันจะถูกทำให้เป็นประเด็น เป็นธรรมดา”  พ.ต.อ.โอฬาร กล่าวทางโทรศัพท์

“ส่วนการพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ไม่ใช่ดุลยพินิจของตำรวจ แต่เป็นของศาล ตำรวจมีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย ตาม ป.วิอาญา ส่วนการต่อสู้คดี พิสูจน์ข้อเท็จจริง ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน” พ.ต.อ.โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม

ตำรวจออกหมายเรียกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเพิ่ม

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้ออกหมายเรียก ประชาชนกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเพิ่มอีก 32 คน หลังจากเรียก 7 รายแรกไปในวันอังคาร ตามความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น ม.116 ของกฎหมายอาญา และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมการเมือง หลังการรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว บนทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า กำลังตรวจสอบหลักฐานประชาชนอีก 66 คนว่าจะออกหมายเรียกหรือไม่ โดยสำหรับ 39 รายแรก ต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 นี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง