นิด้าโพล เผยผู้มีสิทธิ์ 62 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ตัดสินใจเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
2016.07.18
กรุงเทพฯ

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ในวันจันทร์ (18 กรกฎาคม 2559) นี้ว่า ซึ่งมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประมาณหนึ่งในสามแสดงความคิดเห็นว่า ยังไม่ติดสินใจว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ส่วนอีกประมาณหนึ่งในสาม ได้ตัดสินใจแล้วว่ารับจะร่างรัฐธรรมนูญ
โดยการสำรวจของนิด้า เรื่อง “ผลสำรวจครั้งที่ 8: การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559” ได้มีการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 12–13 ก.ค. 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความหลากหลายในระดับการศึกษา และอาชีพจำนวน 1,503 คน
ผลการสำรวจ พบว่ามีประชาชน 62.48% ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ 30.4% จะรับร่างรัฐธรรมนูญ และ 6.79% จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เหลือ 0.32% ระบุว่าจะไปใช้สิทธิแน่นอน แต่ไม่มีมติทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดให้ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475
นอกจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว นิด้าโพล ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถามพ่วงท้ายประชามติที่มีเนื้อหาว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
พบว่า ประชาชน 51.43% ยังไม่ตัดสินใจ ขณะที่ 29.01% เห็นด้วย และ 19.16% ไม่เห็นด้วย ส่วน 0.40% ระบุว่า จะไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน
คำถามพ่วงดังกล่าว ซึ่งมีนัยยะว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ในการให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสรรหาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 250 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับในช่วง 5 ปีแรก ของการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
ต่อกรณีที่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านร่างประชามติ แล้วจะมีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีการเลือกตั้งได้อย่างไร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในก่อนหน้านี้ว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการลงประชามติ ตนเองจะร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง
ส่วนนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาณคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนเองยังไม่ได้กล่าวถึงทางออกในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เพราะว่าตนเองไม่ต้องการให้สังคมสับสน
การประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง
เหลือเวลาอีกเพียงสามสัปดาห์ก่อนถึงวันลงประชามติ แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เคยเห็นร่างรัฐธรรมนูญว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้าง และว่าการลงประชามติคืออะไร
“ฉันยังไม่เห็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าร่างที่ว่า มีเนื้อหาว่าอย่างไรบ้าง” นางจรูญ เทพประสิทธิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ส่วนป้า ยังไม่รู้เลยว่า เขาจะให้ลงโหวตอะไร ไปทำอะไรบ้าง ต้องไปลงไหม” นางรัชนี เร่งรักงาม อายุ 80 ปี ที่มาด้วยกันกับนางจรูญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อถามว่าจะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ หรือไม่
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดให้มีการอบรมวิทยากร เพื่อออกไปให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชาวบ้านในเรื่องรัฐธรรมนูญ และกระบวนการการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม นี้
ขณะที่ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ยอมรับว่าปัจจุบัน ยังมีประชาชนที่ไม่เข้าใจและไม่ทราบข่าวสารเรื่องการประชามติ รัฐบาลจึงพยายามเร่งเผยแพร่ความรู้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและป้องกันการบิดเบือนเนื้อหาจากผู้ไม่หวังดีด้วย
“ด้านหน่วยงานความมั่นคง ลงพื้นที่ให้มาก แจ้งข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรู้ หากบิดเบือนก็ต้องหาที่มา แต่นายกรัฐมนตรีเน้นว่าแนวทางหลัก ขอให้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนตกลงใจ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
จนถึงวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ทางการได้ดำเนินคดีต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมายประชามติแล้วรวม 19 ราย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี เป็นข้อหามีการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และละเมิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ห้ามการบิดเบือนเนื้อหา หรือชักจูงในการลงประชามติ 6 คน และกรณีที่ละเมิดทั้งสองข้อหาอีก 13 คน