มาเลเซียระบุ ชายมาเลย์แต่งงานเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี ผิดกฎหมาย

ฮาดี อัซมี และมารียัม อัฮหมัด
2018.07.03
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
180207-my-th-child-marriage1000.jpg “เต็กกอมาเลเซีย” นายโมฮัมหมัด อคกรามูลเลาะห์ อัชชารี เดินควงภรรยาสามรายพร้อมด้วยลูกๆ หน้าบ้านหนึ่งในสามหลัง ในเซปัง กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 2 ก.ย. 2552
เอพี

เจ้าหน้าที่ในประเทศมาเลเซียกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ด้านการศาสนาอิสลาม ไม่ควรยอมรับการแต่งงานระหว่างชายชาวมาเลเซีย อายุ 41 ปี กับเด็กหญิงชาวไทย วัยเพียง 11 ปี เนื่องจากการแต่งงานนี้ สร้างความไม่พอใจให้ชาวไทยจำนวนมาก

ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศกำลังสอบสวนกรณีนี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้ได้แพร่กระจายไปในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อสื่อมวลชนได้รายงานข่าวนี้ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ได้สร้างความไม่พอใจให้ชาวมาเลเซียเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิสตรีได้เรียกร้องรัฐบาลใหม่ของประเทศมาเลเซีย ห้ามการสมรสของเยาวชน เนื่องจากความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์วานนี้ว่า

“.. เป็นอิหม่ามในโกลกที่ทำพิธี ถือว่าผิดระเบียบของคณะกรรมการอิสลาม ส่วนเรื่องกฎหมายไทยก็ผิดอยู่แล้ว ในหลักการอิสลาม ผู้หญิงแต่งงานได้เมื่อมีวุฒิภาวะ ประมาณ 15 ปี” นายซาฟีอี กล่าว

"ที่ผ่านมา มีแต่แต่งเงียบๆ อยู่กินเป็นภรรยา พอถึงอายุ 16 ปี ค่อยมาทำหนังสือแต่งงานตามหลักศาสนา" นายซาฟีอี กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายศุภนัฐ หิรัณทวิเนติ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อมูลจากกงสุลโกตาบารู และทราบข้อมูลว่าเด็กและครอบครัวเป็นชาวนราธิวาส ส่วนฝ่ายชายนั้น ยังไม่ทราบตัว

"หากพิจารณาตามกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ผิดแน่นอน แต่เขาไม่ได้แต่งงานจดทะบียนที่อำเภอตามกฎหมาย เขาไปแต่งงานที่มัสยิดตามศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่ผิด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนแล้วมาหารือกันอีกที" นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนายการสำนักบริหารงานยุติธรรม และ ผอ. กองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“พวกเขาไม่ได้จดทะเบียนกันที่อำเภอ แต่กระทำที่มัสยิด เขาจึงเลี่ยงกฎหมายได้ แต่เราก็จะสืบสวนเพื่อดูว่าเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง” นายธีรุตม์ กล่าวเพิ่มเติม

ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายกล่าวว่า กฎหมายไทยอนุญาตให้สตรีแต่งงานได้เมื่อบรรลุนิติภาวะ (อายุครบ 20 บริบูรณ์) หรืออายุ 17 ปี กรณีที่ผู้ปกครองยินยอม หรือ 15 ปี ในกรณีศาลสั่งเพราะมีเหตุอันควร

รองนายกมาเลเซียสอบสวนการแต่งงาน

ที่ประเทศมาเลเซีย นางวาน อาซิซาห์ วาน อิสมาแอ รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า การแต่งงานในครั้งนี้ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการสมรสอย่างถูกกฎหมายสามารถกระทำได้ เมื่อมีอายุครบได้ 18 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามการหาเสียงของพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านมาเลเซีย หรือปากาตัน ฮารัปปัน ของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด

“มันเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับเยาวชน” นางวาน กล่าว โดยระบุเพิ่มเติมว่า ความเคลื่อนไหวนี้เพื่อปกป้องเยาวชนจากกลุ่มคนที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก พวกล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก และภาพลามกของเด็ก

นางวาน ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรี ครอบครัวและการพัฒนาสังคม ยืนยันในปุตราจายา เมื่อวันจันทร์นี้ว่า มีการสืบสวนการสมรสนี้แล้ว โดยนางวานระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้พยายามค้นหาว่า เจ้าบ่าวได้มีสภาพผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากเจ้าสาวมีอายุเพียง 11 ปี

โดยหนึ่งวันก่อนหน้านี้ นางวาน ได้เรียกให้คู่สมรสนี้แยกกันอยู่ โดยระบุว่า เธอกำลังปรึกษากับศาลชารีอะห์ในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย มีระบบกฎหมายแพ่งและกฎหมายซารีอะห์ (กฎหมายตามหลักศาสนา) แยกออกจากกัน โดยกฎหมายชารีอะห์เป็นกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับการกำหนดอายุในการสมรสที่เด็กชายสมรสได้ ก็ต่อเมื่อมีอายุ 18 ปี และเด็กหญิงอนุญาตให้สมรสได้เมื่ออายุ 16 ปี ขณะที่กฎหมายแพ่ง กำหนดให้ชายหญิงสามารถสมรสได้ตามกฎหมายเมื่อมีอายุครบ 18 ปี

“การสมรสของผู้มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ต้องได้รับอนุญาตจากศาล ฉันได้สั่งให้มีการหารือกันเรื่องการกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสได้อย่างถูกกฎหมายระหว่างชายและหญิง” นางวาน ระบุ

นอกจากเกณฑ์เรื่องอายุในการสมรสแล้ว กฎหมายมุสลิมเกี่ยวกับครอบครัว ระบุให้ชาวมาเลเซียผู้ต้องการแต่งงานกับคนต่างชาติต้องปรากฏตัวต่อหน้านายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนสมรส โดยกฎหมายระบุให้มีการจดทะเบียนกัยภายในหกเดือน

ข่าวกระจายทางเฟสบุ๊ก

ข่าวการสมรสของชายชาวมาเลเซียและเด็กหญิงชาวไทย กระจายไปทั่วสังคมออนไลน์ หลังจากที่ภรรยาคนที่สองของเขาได้โพสต์รูปภาพลงบนเฟสบุ๊กของสามี ชื่อนายเช อับดุลย์ การีม เช ฮามิด และภรรยาคนที่สามของเขา ทั้งนี้ ภรรยาคนที่สองได้เขียนข้อความประชดประชันว่า ภรรยาคนที่สามของสามีเธออายุเท่าลูกๆ ของเธอเลย

ข้อความดังกล่าวพร้อมรูปภาพเป็นภาษากลันตันระบุว่า “ลูกๆ ของฉันสามารถเล่นกับแม่เลี้ยงของเธอได้เลยหลังจากนี้ พวกเขามีอายุเท่ากัน”

ขณะที่เจ้าบ่าวที่ถูกระบุว่าเป็นอิหม่าม หรือ ครูสอนศาสนา ได้ตอบโต้การสมรสครั้งนี้ในวิดีโอในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า การสมรสครั้งนี้เป็น nikah gantung ภาษามลายูที่หมายถึง การที่คู่สมรสจะครองคู่กันจริงในภายหลัง เมื่อฝ่ายเจ้าสาวอายุ 16 ปีบริบูรณ์

“เธออยู่ในความคุ้มครองของผู้ปกครองเธอ และเราไม่ได้อยู่ด้วยกันจนกระทั่งเธออายุครบตามเกณฑ์” เขาระบุในวีดิโอ

ในเดือนมิถุนายน กลุ่มทนายสตรีได้เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของประเทศมาเลเซียแก้กฎหมาย โดยให้กำหนดเกณฑ์อายุที่สามารถสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่ออายุครบ 18 ปีเท่านั้น และให้ห้ามการแต่งงานต่ำกว่าอายุที่กำหนด

กลุ่มเอ็นจีโอ Islam and the Asia Pacific Resource and Research Center for Women กล่าวว่า การใช้แนวทางอนุรักษ์นิยมตามหลักศาสนา การมีความเชื่อตามแนวทางศาสนา และการหาเหตุผลมาหนุนความไม่เหมาะสมทางเพศเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแต่งงานก่อนวัยอันควร ซึ่งทางออกคือการปฏิรูปกฎหมาย

ในกรณีนี้ เจ้าบ่าวได้ดำเนินเส้นทางเดียวกันกับชายอื่นๆ นับร้อยรายที่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อแต่งงานโดยลับๆ

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ชายชาวมุสลิมที่ต้องการแต่งงานครั้งที่สอง สาม และสี่ โดยไม่ให้คู่ครองได้รับรู้

มัสยิดกลางจังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางในการแต่งงาน โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีชาวมาเลียเซียจำนวนถึง 30 คู่ มาแต่งงานกันที่นี่ อิหม่ามมีพันธะให้จัดพิธีสมรสเพราะกฎหมายมุสลิมระบุให้เป็นอย่างนั้น และในศาสนาอิสลามผู้ชายสามารถแต่งงานและมีภรรยาได้สี่คน เท่าที่เขาจะสามารถดูแลทั้งหมดได้เท่าเทียมกัน

“การไม่ทำพิธีสมรสให้กับบ่าวสาวที่ร้องขอเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันเป็นบาป” นายศักรียะ บินเซลา ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดสงขลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง