นักสิทธิเสนอรัฐให้เด็ก-เยาวชนร่วมความคิดเห็นกระบวนสันติภาพใต้

มารียัม อัฮหมัด
2017.11.24
ปัตตานี
171122-TH-children-1000.jpg นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแเดนภาคใต้ ร่วมเวทีสัมมนาของสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่โรงแรมปาร์ควิว ปัตตานี วันที่ 19 พฤศจิกายน 2560
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

นักสิทธิเด็กในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างของเด็กและเยาวชนในพื้นที่กว่าสองพันหกร้อยราย พบว่า มีจำนวนสามในสี่ที่เคยพบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรง และรู้สึกว่าพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่และโรงเรียนไม่มีความปลอดภัย พร้อมทั้งได้เสนอต่อรัฐให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ที่ฝ่ายมาราปาตานีและผู้แทนรัฐบาลไทยกำลังเจรจาเพื่อจัดตั้งขึ้น

น.ส.วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เปิดเผยในระหว่างการจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง ครั้งที่ 3 (Child Rights Day 2017 Hak Hak Anak) ที่ 22 องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมเป็นเจ้าภาพ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ (19 พฤศจิกายน 2560) ที่ผ่านมาว่า มีเด็กกำพร้าเกิดขึ้นถึงประมาณ 8,759 คน เพราะความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ ในห้วงเวลากว่า 13 ปีที่ผ่านมา ด้านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุตัวเลขว่ามีเด็กและเยาวชน เสียชีวิต 87 คน และบาดเจ็บไม่ถึงขั้นพิการ 530 คน และบาดเจ็บถึงขั้นพิการอีก 23 คน

“แม้ว่าปีนี้ ยอดสูญเสียและยอดเด็กกำพร้าอาจดูไม่เพิ่มขึ้น แต่เราต้องระวังไม่ให้มีการละเมิดเด็กมากกว่านี้ หากมองถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ นับว่ามีอย่างน้อยมาก มีแต่การให้ความสำคัญแต่ผู้ใหญ่" น.ส.วรรณกนก กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและมาราปาตานี ได้บรรลุความตกลงร่วมกันในชั้นต้นว่าจะจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาในหนึ่งอำเภอ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จากการพบปะครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถกำหนดพื้นพี่อำเภอได้

"ในการเจรจาสันติสุข หรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ต้องมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนแสดงความคิดเห็นก่อน แล้วเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าร่วมในเวทีที่มีผู้ใหญ่ พร้อมกับสนับสนุนให้เขามีพื้นที่ ในการร่วมจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในพื้นที่บ้านเราได้จริงจัง อย่าเพียงมองเขาเป็นแค่กลุ่มเป้าหมาย น.ส.วรรณกนก กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ได้จัดทำโครงการศึกษาสถานการณ์การมีส่วนร่วมของเด็กชายแดนใต้สร้างสังคมสันติสุข  โดยการเก็บข้อมูลดำเนินการระหว่างวันที่ 16-29 กันยายน 2560 ด้วยวิธีใช้แบบสอบถามและการทำกลุ่มพูดคุยกับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และโรงเรียนสามัญของรัฐบาล จำนวน 2,669 คน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่ามีจำนวน 73 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยมีประสบการณ์หรืออยู่ในเหตุการณ์ความไม่สงบ และยังได้ระบุว่าตนเองยังรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยในชุมชนที่อาศัยอยู่ รวมทั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของโรงเรียน

ตามฐานข้อมูลระบบสถิติทางทะเบียนราษฎร มีเด็กและเยาวชน ทั้งหมด 710,342 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณสองล้านคน

ในเรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนนั้น พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอิน โฆษกกอรมน.4 กล่าวว่า ทางการพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขเสมอ

"เราไม่เคยปิดกั้นโอกาสใครเลยในการร่วมสร้างพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยสร้างพื้นที่ให้เกิดสันติสุข เราต้องรณรงค์ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก และที่ผ่านมาใครที่ทำให้เด็กถูกทำร้าย? เด็กจะต้องอยู่ในบริบทของสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต้องรอดพ้นจากความรุนแรง” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาสถานการณ์การมีส่วนร่วมของเด็กชายแดนใต้สร้างสังคมสันติสุข พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เด็ก-เยาวชน สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ และได้รับการรับฟัง ทั้งในพื้นที่ของโรงเรียน บ้าน และในชุมชน เพียงแต่ว่า ยังขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การจัดกิจกรรม หรือร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่โรงเรียน

ผลกระทบต่อเด็กอย่างร้ายแรง

เด็กและเยาวชน ที่แม้ว่าไม่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่หากเมื่อสูญเสียบิดา-มารดาไปเพราะความรุนแรงโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้สร้างปัญหาครอบครัวให้กับพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด.ญ.นุรอัยนี วาเด็ง ปัจจุบันอายุ 12 ขวบ และน้องชาย ต้องมาอยู่ที่ศูนย์เด็กกำพร้าปัตตานี หลังจากที่บิดาถูกยิงตายในบ้าน เมื่อสามปีก่อน ส่วนมารดาเสียชีวิตตอนที่คลอดน้องชายเมื่อ 7 ปีก่อน ด.ญ.นุรอัยนี กล่าวว่ามีเด็กถูกทำร้ายมากกว่าเมื่อก่อน

"หนูมองว่าเด็กถูกทำร้ายมากกว่าสมัยก่อน ทั้งเกิดจากเรื่องภายในครอบครัว และเกิดจากสถานการณ์ รู้สึกว่าอยู่ที่ไหนก็น่ากลัว สามารถถูกทำร้ายได้ตลอด อยากให้ทุกคนคิดถึงเด็กด้วย จะทำอะไรโดยเฉพาะผลที่จะตามมา" ด.ญ.นุรอัยนี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"แม่หนูตายตอนคลอดน้องชาย พ่อตายเพราะถูกคนร้ายเข้ามายิงในบ้าน พวกเราสองคนไม่มีพ่อไม่มีแม่ ก็เลยต้องมาอยู่ที่ศูนย์เด็กกำพร้าปัตตานี จะไปอยู่กับญาติๆ ก็ลำบาก ตั้งแต่พ่อตาย 3 ปี พวกเราสองคน ก็มีศูนย์เด็กกำพร้าเป็นบ้าน”

"เด็ก เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ต้องอยู่ในสถานการณ์และเติบโตมาในบรรยากาศเช่นนี้ ควรจะมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบในด้านต่างๆ" น.ส.วรรณกนก แสดงทัศนะ

“ในส่วนของปัญหาในครอบครัวน่าจะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะยิ่งเด็กไม่มีผู้ปกครองคอยดูแลให้คำแนะนำปัญหาก็จะเพิ่ม” วรรณกนก กล่าวเพิ่มเติม

ด้านพ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การทำร้ายผู้ใหญ่ก็คือการทำร้ายเด็ก เพราะทำให้เด็กต้องกำพร้า ต้องเจอความรุนแรงเมื่อมีการทำร้ายพ่อแม่ เด็กก็จะมีปัญหาโดยตรง และเด็กก็ไม่สามารถออกมาเรียกร้องขอพื้นที่ปลอดภัยได้ แต่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องออกมาทำพื้นที่ให้ปลอดภัยให้เด็ก"

นางมาซง อีดำ แม่บ้าน ชาวอำโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กปัจจุบัน มีแต่จะเพิ่มทุกพื้นที่ เด็กมีโอกาสประสบปัญหาที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือในชุมชน ทั้งจากสถานการณ์ในพื้นที่ และที่เกิดจากเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งเราจะต้องแก้ปัญหาโดยการสอดส่องช่วยกันบ่มเพาะคนใกล้ตัวให้มาก

"ให้ความรัก ให้ความสนใจ รับฟังพวกเขา ที่สำคัญเราต้องให้เวลากับเด็กกลุ่มนี้ให้มากกว่าเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่เจอทุกวันนี้ เด็กอายุ 5 ปี ซื้อบุหรี่เป็นแล้ว เด็กอายุ 3 ปี ต้องอยู่ในเหตุการณ์ที่ทำให้กระทบจิตใจทั้งเรื่องภายในครอบครัวและเรื่องที่เกิดจากสถานการณ์ เราต้องร่วมกันดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้มาก" นางมาซง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

หนึ่งในผู้ดูแลโครงการรณรงค์เพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนได้กล่าวย้ำถึง สิทธิพื้นฐานของเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ควรจะได้รับเหมือนกับในพื้นที่อื่นๆ

"การจัดกิจกรรมนี้ (วันอาทิตย์ที่ผ่านมา) เน้นการมีส่วนร่วมและรับรู้เรื่องสิทธิเด็ก 4 ประการ คือ สิทธิของการได้รับการปกป้องและคุ้มครอง สิทธิด้านการมีส่วนร่วม สิทธิการอยู่รอด และสิทธิที่ต้องได้รับการพัฒนา พร้อมจัดฐานกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสิทธิของตนเอง" น.ส.พาดีละห์ นิโซ๊ะ ผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง