สนช. ผ่านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยมติเห็นชอบ 168 เสียง
2016.12.16
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์ (16 ธันวาคม 2559) นี้ ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ 168 ต่อ 0 เสียง ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา(กมธ.วิสามัญฯ)ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งมีผู้งดออกเสียง 5 คน หลังจากนี้เป็นการเตรียมให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมติเห็นชอบโดยเอกฉันท์นี้เกิดขึ้น แม้วานนี้ประชาชนกว่า 3 แสนราย จะได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อตัวแทน สนช.ก็ตาม
สำหรับกระบวนการในที่ประชุม สนช. ก่อนการลงมติ สนช.หลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายถึง ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่ถูกวิพากษ์-วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนเว็บไซต์สังคมออนไลน์ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 20/1 ได้เสนอให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จาก 5 คนเป็น 9 คน และให้ระบุคุณสมบัติของคณะกรรมการฯ ที่มาจากภาคเอกชน จำนวน 3 คน ให้มาจากด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และเรื่องความหมายที่ชัดเจน รวมถึงเจตนารมย์ของ 12 และมาตรา 14 เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาออกเสียง กลับไม่มี สนช.คนใดออกเสียงไม่เห็นชอบ
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นการลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯว่า ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในหลายประเด็น แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือจำนวนของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์
“ประเด็นก็คือเรื่องของข้อมูลที่ขัดต่อความเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ไม่มีความผิดในตัวของมัน แต่ว่าการกระทำซึ่งนำมาซึ่งนำเข้าข้อมูลอย่างนี้ มันมีผลกับสังคมโดยส่วนรวม เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลนี้ เป็นการคุ้มครองสิทธิในการใช้ข้อมูล มีการออกแบบมามีคณะกรรมการ ตามในร่างฯ มี 5 คน มีภาคเอกชนอย่างน้อย 2 คน แต่เมื่อมาพิจารณาในที่ประชุมแล้วอาจจะน้อยไป ก็เลยเพิ่มเป็น 9 คน โดยมาจากภาคเอกชน 3” พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าว
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ เพิ่มเติมว่า คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์มีหน้าที่ลงความเห็นชอบว่าควรระงับหรือลบข้อมูลใดบนอินเตอร์เน็ตหรือไม่ แต่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินว่าให้ดำเนินการระงับหรือลบจริงคือศาล
“มีการไปโยงถึงซิงเกิลเกตเวย์ ซึ่งความจริงไม่มีเลย ในร่างนี้ไม่มีเรื่องพวกนี้เลย ให้ความชัดเจนและมั่นใจนะครับ” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบซิงเกิลเกตเวย์อย่างที่ประชาชนบางส่วนกังวล
ด้านนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะตัวแทนประชาชนที่เดินทางไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้ร่วมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เปิดเผยผ่านเว็บไซต์แอมเนสตี้ว่า รู้สึกผิดหวังกับมติของ สนช.ที่ให้ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับดังกล่าว แม้จะมีประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านถึงกว่า 366,000 คนก็ตาม
"เรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ.ควรออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่ในหลายจุดของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่แอมเนสตี้ที่แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการปรับแก้มาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่ลงชื่ออีกกว่า 360,000 คน ตลอดจนประชาคมโลกเองก็จับตามอง สนช. อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังจากนี้เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปในเรื่องของการบังคับใช้และการแก้ไขในอนาคต" นางปิยนุชกล่าว
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(ฉบับที่ …) พ.ศ. ….(ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ในด้านลบเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหามองว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับนี้ หากมีการบังคับใช้จริงจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงยังอาจจะทำให้เกิดการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลของประชาชนในประเทศอีกด้วย อีกทั้งกระบวนการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ความกังวลใจของประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตต่อ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงผลักดันให้เกิดการรวบรวมรายชื่อ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 4 หมื่นคน เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯไปแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาจะได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านซ้ำอีกครั้ง พร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 3 แสนรายชื่อ