โฆษกกองทัพภาคสี่ยืนยัน จะเก็บดีเอ็นเอจากผู้เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ มารียัม อัฮหมัด
2020.07.17
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
200717-TH-conscription-DNA-1000.jpg เจ้าหน้าที่ทักทายผู้เข้ารับคัดเลือกทหารกองเกิน ในจังหวัดยะลา วันที่ 4 เมษายน 2562
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ในฐานะโฆษกกองทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ทางทหารจะยังทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอโดยสมัครใจ จากชายไทยที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปีที่สอง เพื่อเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพราะดีเอ็นเอเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินคดีความมั่นคง ในขณะที่ เยาวชนและภาคประชาชนบางภาคส่วนได้แสดงการคัดค้าน

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ นายมารุวรรณ ห๊ะยีดอเลาะห์ ประธานเครือข่ายสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการด้านการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ทางกองทัพภาคที่สี่ยุติการตรวจเก็บดีเอ็นเอในการเกณฑ์ทหาร เพื่อเป็นการปฏิบัติต่อประชาชน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเท่าเทียม โดยมี นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติไทย ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมาธิการฯ นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ. และ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ กมธ. รับยื่นหนังสือ

“การตรวจดีเอ็นเอมีความจำเป็น เพราะดีเอ็นเอ คือหลักฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพิพากษาคดีความมั่นคง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้ ถ้าเจ้าตัวไม่ยินยอม การตรวจทั้งหมดที่ผ่านมา มีคนที่ไม่ยินยอมให้ตรวจก็มี ก็จะไม่มีการตรวจ แต่โดยส่วนใหญ่เขาจะให้ตรวจ... ควรที่ต้องมีการตรวจอีก” พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันศุกร์นี้

“ถามว่าถ้าเราเป็นผู้บริสุทธิ์ เราไม่เห็นต้องกังวลกับการตรวจดีเอ็นเอ ส่วนคนที่ไม่ยอมให้ตรวจดีเอ็นเอ เป็นกลุ่มทุจริตชนกับกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐ ที่ไม่ยอมให้ตรวจ และออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ” พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง กล่าวให้รายละเอียดว่า “การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากทหารเกณฑ์นั้น เป็นผลมาจากเมื่อในอดีตที่มีเยาวชนที่ฝักใฝ่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ แล้วกลับไปเป็นกองกำลังปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นการเก็บดีเอ็นเอ จึงเป็นการป้องปรามต่อผู้ไม่ประสงค์ดี”

ทั้งนี้ ทางกระทรวงกลาโหม จะเริ่มคัดเลือกทหารตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ศกนี้ โดยจะคัดชายไทยประมาณ 500 กว่าคนเข้าประจำการ ในยะลา ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว พันเอก ชลัช ศรีวิเชียร รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าวว่า ในจังหวัดยะลา มีชายไทยซึ่งถึงกำหนดต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารจำนวนทั้งสิ้น 3,766 คน แต่จะรับเพียง 565 คน โดยแบ่งเป็นทหารบก 152 คน และทหารเรือ 413 คน ซึ่งการตรวจคัดเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ

นักศึกษามุสลิม นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน แสดงการคัดค้าน

ด้านนักศึกษามุสลิม นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การขอเก็บดีเอ็นเอ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนในพื้นที่ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มีการนำไปใช้ในคดีอย่างเหมารวม และอาจจะมีการรั่วไหลของข้อมูล

“ควรยกเลิกเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ชายในจังหวัดชายแดนใต้ กระบวนการเก็บดีเอ็นเอก็ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า แต่กระทำในกระบวนการตรวจสอบร่างกาย ซึ่งเป็นการให้ยินยอมโดยบังคับ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ และมีการนำไปใช้ในการตรวจสอบเปรียบเทียบกับการหาคนผิดในคดีความมั่นคงซึ่งเป็นการเหมารวม” นางสาว อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนแมกไซไซ ได้กล่าวว่า DNA ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล อาจกล่าวได้ว่าเป็นความลับสูงสุดของส่วนบุคคล เพราะ DNA สามารถบอกเรื่องของพันธุกรรม (genetic) ของมนุษย์ได้ เช่น ลักษณะเด่น ลักษณะด้อย หรือโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม ดังนั้นการตรวจ DNA ของบุคคลใดหากมีการรั่วไหล ก็อาจทำให้บุคคลนั้นถูกเลือกปฏิบัติ เช่น บริษัทประกันชีวิตไม่รับทำประกันสุขภาพ หรือคู่รักอาจปฏิเสธการแต่งงาน เนื่องจากกังวลว่าบุตรที่เกิดมาอาจเกิดโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรมได้

“ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการตรวจเก็บ DNA ประชาชนไว้มากในลักษณะหว่านแห โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลในรหัสพันธุกรรม (DNA) เมื่อเจ้าหน้าที่ขอเก็บ DNA แม้จะไม่ยินยอม แต่เพราะความหวาดกลัว จึงไม่กล้าปฏิเสธ การที่เจ้าหน้าที่มักอ้างว่า เป็นความยินยอมของประชาชน จึงเป็นการยินยอมในลักษณะจำยอม เนื่องจากความหวาดกลัว” นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติม

นางอังคณา ยังกล่าวอีกว่า "เคยมีกรณีที่หน่วยงานความมั่นคงเก็บ DNA ของเด็ก ๆ ที่พ่อถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ เพื่อต้องการพิสูจน์ว่าเด็กเป็นลูกใคร เพื่อที่จะกดดันให้ครอบครัวบอกที่อยู่ของพ่อ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ขัดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ที่ระบุว่าการกระทำทุกอย่างต่อเด็ก ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเท่านั้น ดังนั้นแม่หรือบุคคลอื่นในครอบครัว จึงไม่มีสิทธิอนุญาตให้ตรวจ DNA เด็ก ๆ ในลักษณะนี้ได้ และเนื่องจาก พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้ไม่มีกฎหมายในการให้ความคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล"

“ดังนั้น จึงขอฝากถึงประชาชนที่ไม่เต็มใจให้ จนท. เก็บ DNA ว่าประชาชนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะปฏิเสธได้ และเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการบีบบังคับให้ประชาชนจำยอม และหากมีการบังคับขู่เข็ญ ประชาชนสามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบได้” นางอังคณา กล่าว

กมธ. จะพิจารณาสัปดาห์หน้า

ในวันเดียวกันนี้ นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ. ด้านการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อได้รับหนังสือจากประธานเครือข่ายสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาอิสลามแห่งประเทศไทย แล้วก็จะเอาเรื่องเข้ากรรมาธิการก่อน แต่ในการหยิบยกมาพิจารณา ก็เป็นอำนาจของประธาน กมธ. (ประธานคนปัจจุบันคือ นายสิระ เจนจาคะ) ว่าจะหยิบเรื่องไหนมาพิจารณาเมื่อไหร่ โดยจะหารือในวันพุธหน้า ถ้า กมธ. รับพิจารณา เราก็จะศึกษาข้อมูล และมีเสนอแนะไปยังรัฐบาลเพื่อให้ปรับปรุงต่อไป

ส่วนนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ประธานทนายมุสลิม จ.ยะลา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะใกล้จะมีการเกณฑ์ทหารแล้ว ซึ่งจะต้องรีบเชิญทหารหน่วย กอ.รมน. มาให้คำชี้แจงในการปฏิบัติว่าจะเป็นอย่างไรในปีนี้

“เพราะปีที่แล้วทราบว่าเก็บไปเยอะแล้วก็ปัญหาก็คือ หลักการตรวจเก็บ DNA เป็นเรื่องของการสมัครใจ แต่ต้องยอมรับว่าความสมัครใจที่ว่าคือ ไม่สามารถปฏิเสธได้ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคนพี่น้องเยาวชนในภาคใต้ ก็จะต้องคุยกันให้ชัด โดยหลักแล้วก็คือไม่สมควรทำ จะต้องไม่มีการเก็บ DNA ของคนที่มาตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร” นายอาดิลัน กล่าว

“ไม่ว่าจะเพราะเพื่ออะไร ก็ไม่สามารถที่จะเก็บ DNA ได้ ไม่ควรเก็บเลย ในตัวบทกฎหมายเขียนได้ชัดว่า กรณีจัดเก็บดีเอ็นเอได้ มีกรณีใดบ้าง แม้จะเป็นกรณีเป็นผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในฐานะความผิดที่จะสามารถเก็บดีเอ็นเอ แล้วถ้าบุคคลคนนั้นไม่ยินยอมให้เก็บดีเอ็นเอ ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมให้เก็บ ก็เก็บไม่ได้ บทเดียวเองที่ให้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก หรือ พรก.ฉุกเฉิน ที่ไปเก็บตามบ้าน เชิญมาตรวจเก็บหรือไปเก็บกลุ่มครูผู้สอนศาสนาครูตาดีกาต่าง ๆ นั้น เป็นการเก็บโดยให้เขาเซ็นให้การยินยอม โดยเขาไม่ได้สมัครใจ นี่คือประเด็นที่จะต้องคุยกัน” นายอาดิลัน กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง