ฝ่ายความมั่นคงจับสินค้าเถื่อน ตัดรายได้กลุ่มสินค้าเถื่อนหนุนเหตุรุนแรงชายแดนใต้
2016.11.09
ปัตตานี

ในวันพุธ (9 พ.ย. 2559)นี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ตรวจจับสินค้าผิดกฎหมายมูลค่ากว่าหนึ่งล้านบาท ที่กลุ่มขบวนการทำธุรกิจผิดกฎหมายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลักลอบขนส่งโดยทางรถไฟจากสุไหงโกลกไปยังกรุงเทพมหานคร อันเป็นความพยายามส่วนหนึ่งของรัฐในการกำจัดเงินนอกระบบที่นำไปสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
ที่สถานีรถไฟปัตตานี ในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี พันเอกชัยวิทย์ พิมพ์ทอง หัวหน้าชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน สำนักข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้นำกำลังที่เกิดจากการสนธิของเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน ที่ 43 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรจังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอโคกโพธิ์ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช สนธิกำลังจำนวน 50 นาย เข้าตรวจค้นตู้สินค้า ขบวนรถไฟสายสุไหงโกลก-กรุงเทพฯ ขณะเข้าจอดที่ชานชาลาสถานีรถไฟปัตตานี ภายหลังได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่า จะมีการลักลอบลำเลียงสินค้าหนีภาษีและผิดกฎหมายมาบนขบวนรถไฟ
นายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอโคกโพธิ์ ที่เข้าร่วมฏิบัติการ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จากการตรวจสอบพบสินค้าหนีภาษีเป็นจำนวนมากบรรทุกในตู้สินค้า ประกอบด้วย เนื้อหมูป่าน้ำหนักประมาณ 4,000 กิโลกรัม นมผงเด็ก 850 กิโลกรัม อาหารแห้ง 150 ลัง สบู่เหลว 30 ลัง และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียอีกจำนวนมาก รวมทั้งนกเงือกที่ยังมีชีวิต 3 ตัว ซุกซ่อนอยู่ในลังภายในกระสอบ 3 ใบ รวมมูลกว่าล้านบาท
เจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจจับ กล่าวว่า จากการสอบถามพยานบุคคลในชั้นต้น ไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ คาดว่าไหวตัวทันและหลบหนีไปก่อน
"การจับกุมในครั้งนี้ถือเป็นภัยแทรกซ้อนหนึ่ง โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กำชับและเน้นย้ำว่าจะต้องกวาดล้างกลุ่มอิทธิพลที่เข้าข่ายภัยแทรกซ้อนให้หมดโดยเร็ว เพื่อปิดช่องว่างระหว่างกลุ่มก่อความไม่สงบกับกลุ่มสินค้าหนีภาษี เชื่อว่าหากกลุ่มภัยแทรกซ้อนเบาบางลงสถานการณ์อาจจะดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะได้เร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้" นายเศวต กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"สินค้าหนีภาษีล็อตนี้ เบื้องต้นทราบว่ามาจากพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยทำกันเป็นกระบวนการและทำกันมานานแล้ว เจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นรายใหญ่ เพื่อสาวให้ถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม" นายเศวต กล่าว
ในส่วนของกลางจะแยกเป็น 3 ส่วน โดยเนื้อหมูป่าจะให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้นำขยายผลต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรก็จะทำหน้าที่นำสินค้าที่เข้าประเทศโดยไม่ถูกต้อง เช่น ขนม แป้ง นมผง เพื่อนำไปสู่กระบวนการที่ถูกต้อง ส่วนนกเหงือก ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ได้รับไปอนุบาลเพื่อส่งกลับคืนสู่ผืนป่าต่อไป
พันเอกจตุพร กลัมพสุต ผู้อำนวยการชุดปฏิบัติการพิเศษภัยแทรกซ้อน สำนักข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ปัญหาจากภัยแทรกซ้อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ขบวนการค้ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า บ่อนการพนัน สินค้าหนีภาษี การก่อตั้งสหกรณ์รับบริจาคจากสมาชิก ขบวนการทำพาสปอร์ตปลอมให้กับผู้ย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเชื่อมโยงกับการส่งอุยกูร์จากซินเจียงไปประเทศที่สาม มีส่วนในการสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด
“มีปริมาณเงินหมุนเวียนถึงเดือนละ 500-1,000 ล้านบาท และเป็นปัจจัยความรุนแรงในพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของภัยแทรกซ้อนจากความมั่นคง 20 เปอร์เซ็นต์” พันเอกจตุพร กล่าว
"ตั้งแต่ปี 2554 มีหลักฐานและมีการจับกุมขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี ยาเสพติด บ่อนการพนัน ตัดไม้เถื่อน ค้ามนุษย์ ผู้มีอิทธิพล เกี่ยวข้องทั้งหมด และพบว่าธุรกิจน้ำมันเถื่อน มีเงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านต่อเดือน สินค้าเถื่อน 300 ล้าน ยาเสพติดอีก 200 ล้าน และอื่นๆ อีก รวมกว่า 1 พันล้านบาท" พันเอกจตุพร กล่าวเพิ่มเติม