ศาล รธน. นัดอ่านคำวินิจฉัย คดีพรรคอนาคตใหม่ล้มล้างการปกครอง 21 ม.ค. 63
2019.12.26
กรุงเทพฯ

ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของพรรคอนาคตใหม่ จากความเชื่อมโยงของสัญลักษณ์พรรคกับสัญลักษณ์องค์กรลับอิลลูมินาติ และพฤติกรรมในอดีตของคนในพรรค ในวันที่ 21 มกราคม 2563 ด้าน พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ กรรมการบริหาร พรรครวมพลังประชาชาติไทย เชื่อพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบพรรคจากกรณีนี้ ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเห็นต่างออกไป
ในวันพุธ เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 27/2562 เปิดเผยผลการประชุมศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ศาลจะอ่านคำวินิจฉัยเรื่องการล้มล้างการปกครองที่เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 มกราคม 2562
“ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องในกรณีที่ นายณฐพร โตประยูร (อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่” ตอนหนึ่งของเอกสารข่าวระบุ
“ในคดีนี้มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 มกราคม 2562 เวลา 11.30 นาฬิกาเป็นต้นไป ณ ห้องพิจารณาคดีชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ” เอกสารข่าวระบุ
คดีนี้ นายณฐพร โตประยูร เป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 โดยกล่าวหาว่า พรรคอนาคตใหม่มีแนวคิด และเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายธนาธร และนายปิยบุตร รวมถึงกรรมการบริหารพรรค ซึ่งต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา และไม่ได้ดำเนินขั้นตอนการไต่สวน
หนึ่งในข้อกล่าวหาที่นายณฐพรใช้ คือ สัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่มีลักษณะสามเหลี่ยมด้านเท่ากลับหัว ซึ่งมีความเหมือนกับสมาคมอิลลูมินาติ (Illuminati) ซึ่งเป็นองค์กรลับซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศเยอรมัน เมื่อปี พ.ศ. 2319 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การล้มล้างหรือปฏิวัติความเชื่อใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องระบอบการปกครอง และศาสนา
โดยในคำร้องยังได้บรรยายหลายพฤติกรรมของผู้ถูกร้องที่ผู้ร้องเชื่อว่า มีแนวคิดที่ต้องการจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น คำสัมภาษณ์ของนายธนาธร หรือนายปิยบุตรต่อสื่อมวลชน นิตยสาร หรือการแสดงออกผ่านการเขียนบทความในอดีต เป็นต้น
ด้าน นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวแก่สื่อมวลชนถึงคดีดังกล่าวว่า พรรคไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใด ๆ นอกจากรอฟังคำวินิจฉัย
“ถูกถามมาเยอะมากว่า เราจะเตรียมตัวอย่างไร แต่ถ้าดูกันจริง ๆ ก็ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร หากศาลรัฐธรรมนูญเปิดให้ไต่สวน เราจึงต้องเตรียมตัว เพราะต้องมีการเรียกพยานและหลักฐาน แต่เมื่อไม่มีการไต่สวน จึงต้องรอคำตัดสินเท่านั้น ซึ่งเราก็คาดเดาไม่ได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้นำศาล” นางสาวพรรณิการ์ ระบุ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ขอไต่สวนพยานในคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข้อมูลระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องดังกล่าวของพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอแล้ว
ต่อคดีดังกล่าว พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบ
“มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกยุบพรรค เพราะเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ ศาลไม่จำเป็นต้องเรียกตรวจผลการสอบสวน ทั้งนี้ การกล่าวหาต้องเป็นความจริง เชื่อว่าศาลมีหลักฐานเพียงพอ จึงกล้ารับพิจารณา ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้พรรคอนาคตใหม่ มาชี้แจงเพิ่มเติม เชื่อว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ จะไม่มีผลใดๆ ต่อการเมืองไทย แต่ต้องตั้งพรรคใหม่ ผู้บริหารอาจจะถูกตัดสิทธิ์ 2 ถึง 3 คน เป็นอย่างต่ำ และอย่างหนักอาจจะติดคุก แต่ไม่คิดว่าจะถึงขนาดนั้น” พลโทนันทเดช กล่าว
ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีเดียวกันต่อเบนาร์นิวส์ว่า ไม่เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบจากข้อหาดังกล่าว
“คดีนี้มันไม่น่าจะมีปัญหา ถ้ามองโดยความเป็นจริง เรื่องการล้มล้างความปกครอง เพราะอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นการเมืองมากนัก ไม่มีความชัดเจนที่จะโยงกับการล้มล้างการปกครองได้ แต่โดยหลักการน่าจะให้ผู้ถูกร้อง คือพรรคอนาคตใหม่มีโอกาสเสนอหลักฐานเพิ่มเติม เพราะผู้ถูกดำเนินคดีมีสิทธิโดยการชอบธรรมในการชี้แจงข้อเท็จจริง” นายฐิติพล กล่าว
“ไม่น่าจะถูกยุบ หรือถ้ายุบผมก็เห็นว่า อนาคตใหม่คงไม่ต่างจากไทยรักไทยในอดีต ไม่ว่าอนาคตใหม่จะถูกยุบด้วยคดีใดก็ตาม จะไม่เป็นการสิ้นสุดของอนาคตใหม่ ยิ่งจะยังทำให้พรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น และมีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากขึ้น"
"โดยเฉพาะยุคปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่เปลี่ยนวิธีคิดต่อการเมือง เปิดรับประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งการเติบโตทางความคิดของคนรุ่นใหม่จะเป็นส่วนสำคัญในการคงอยู่ของพรรคอนาคตใหม่" นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม
และในอีกหนึ่งคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จากการที่พรรคได้กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินกิจกรรมพรรค ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เห็นว่าเป็นการรับเงินโดยมิชอบ นั้น
เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
โดยแจ้งให้ กกต.ทราบ และส่งสำเนาคำร้องให้กับพรรคอนาคตใหม่ แจ้งข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง