อธิบดีกรมควบคุมโรค เรียกร้องให้กลุ่มเซียนมวยเข้าตรวจโรคด่วน
2020.03.20
กรุงเทพฯ และปัตตานี

ในวันศุกร์นี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เรียกร้องให้ผู้ที่เดินทางไปยังสนามมวย สถานบันเทิง นับพันราย ที่มีรายงานว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจโรคโดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายออกไปมากกว่านี้ ซึ่งในวันนี้ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 50 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงสถานการณ์การระบาด COVID-19 ว่า ณ วันศุกร์นี้ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 50 ราย ในนั้นเป็น 6 ราย (พบก่อนวันศุกร์แล้ว 7 ราย) ที่เดินทางกลับมาจากการชุมนุมศาสนาในประเทศมาเลเซีย รวมยอดสะสมเป็น 322 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่พบเพิ่มขึ้นโดยส่วนมากเป็นผู้ป่วยที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายเดิม หรือเกี่ยวข้องกับสนามมวย สถานบันเทิง รวมถึงการชุมนุมศาสนาในประเทศมาเลเซีย
“ยังคงมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย ที่เราทำการค้นหาและก็นำมาในเรื่องของการตรวจวินิจฉัยรักษา ซึ่งก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบที่เข้มแข็งของเราในการไปตรวจสอบ แต่ส่วนหนึ่งยังไม่ได้แจ้ง และก็รายงานตัวกับเรา ดังนั้น พี่น้องสื่อมวลชนจะได้ช่วยในการสื่อสารให้คนเหล่านี้ ได้เข้ามารายงานตัวกับเจ้าพนักงานในแต่ละจังหวัด”นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
“ผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 50 ราย นับเป็นลำดับ 273-322 จำแนกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ 41 ราย เกี่ยวข้องกับสนามมวย 18 ราย กทม. นครสวรรค์ เชียงใหม่ นครนายก นครราชสีมา สมุทรปราการ
คนที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 5 ราย ทองหล่อ รามคำแหง คนที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงาน 12 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
หมอวิตกคนไทยติดโควิด-19 จากมาเลเซีย
ในวันนี้ พ.ต.อ.ศุภชาติ เวชพร ผู้กำกับตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า นับตั้งแต่การที่มาเลเซียสั่งปิดชายแดน แต่อนุญาตให้คนต่างชาติเดินทางออกมาได้ ขณะนี้ มียอดคนไทยที่ไปทำงานที่นั่น เดินทางผ่านด่านทั้ง 3 ด่าน คือ ด่านสุไหงโกลก อ.สุไหงโกลก ด่านตากใบ อ.ตากใบ และด่านบูเก๊ะตา อ.แว้ง แล้วรวมทั้งหมด 21,799 คน ซึ่งคาดว่าจะมีทยอยมาเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า มีชาวไทยที่เดินทางไปร่วมการประชุมเพื่อเผยแพร่ศาสนาหรือดะห์วะ ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายเดือนถึงต้นมีนาคม นี้ รวม 132 ราย แล้วปรากฏว่าติดเชื้อโควิด-19 รวม 13 ราย สร้างความกังวลให้แก้ทางการ
“ที่ประชุม มีข้อกังวลเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งในเวลานี้ ในพื้นที่ส่วนใหญ่มาจากคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย.. คนติดเชื้อส่วนใหญ่ในเวลานี้เป็นกลุ่มที่ไปร่วมประชุมดะห์วะ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อปลายเดือน ก.พ.-ต้นเดือน มี.ค. ในกลุ่มนี้นอกจากติดเชื้อเองแล้ว ยังทำให้คนใกล้ชิดติดด้วย และยังมีกลุ่มที่ไปมาเลเซียด้วยเหตุผลอื่น เช่น ไปส่งลูกเรียนหนังสือ ทั้งหมดนี้ดันยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่ในช่วงสองสัปดาห์พุ่งสูง” นพ.อนันต์ชัย ไทยประทาน แพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สรุปว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยสามารถกลับบ้านได้แล้ว 43 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 278 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 322 ราย โดยมีคนไทยจำนวน 132 คน ที่เดินทางไปร่วมชุมนุมของผู้เผยแพร่ศาสนา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทางครั้งดังกล่าว 13 ราย
ตม. เริ่มมาตรการคัดกรองเข้ม คนเข้าประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ และประกันสุขภาพ
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยให้มีการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เมษายน 2563 ไปก่อนโดยไม่มีกำหนด สั่งให้มีการปิดสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ผับ สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชั่วคราว และงดการจัดกิจกรรมรวมพลจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น คอนเสิร์ต การแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา ทางวัฒนธรรม และกีฬา
มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบันให้ปิดชั่วคราวตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ให้สอนออนไลน์แทน และชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศที่เป็นพื้นที่ติดต่อโรคอันตราย 4 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน รวมถึง ฮ่องกง และไต้หวัน ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีประกันสุขภาพ วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนดอลลาร์ ต้องยินยอมใช้แอปพลิเคชันติดตามของรัฐ ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง และยังไม่ประกาศเป็นเขตติดต่อโรคอันตราย ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีที่อยู่ที่ติดต่อได้ในประเทศไทย ต้องยินยอมใช้แอปพลิเคชันติดตามของรัฐ
ในวันนี้ พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ถึงมาตรการการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ว่า ปัจจุบัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ดำเนินการแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี
“ปัจจุบันได้ดำเนินมาตรการการคัดกรองโรค ตามมติครม.แล้ว โดยจะได้มีการตรวจใบรับรองแพทย์ และสำหรับประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องมีประกันสุขภาพ ซึ่งมีวงเงินขั้นต่ำ 100,000 ดอลลาร์ แต่มาตรการคัดกรองเต็มรูปแบบ จะเริ่มในคืนวันเสาร์-วันอาทิตย์นี้ สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ การบินพลเรือน ซึ่งถ้าผ่านตามเงื่อนไข จะมีตราประทับในหนังสือเดินทาง แล้วถูกส่งมาผ่านตรวจคนเข้าเมือง ตรวจคนเข้าเมืองก็จะตรวจดูว่ามีตราประทับหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง มาตรการนี้บังคับใช้กับทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยง”
“ขณะเดียวกัน เราคนไทยก็มีการตรวจ แต่ถ้าเอกสารไม่ครบ จะต้องเข้ากระบวนการตรวจโรคเข้มข้น” พ.ต.อ. เชิงรณ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
มหาดไทยส่งหนังสือด่วนที่สุดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนพิจารณาปิดด่าน
ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตติดต่อชายแดนทุกจังหวัด เพื่อให้พิจารณาระงับการใช้ช่องทาง ณ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรนการค้า และจุดผ่อนปรนพิเศษเป็นการชั่วคราวในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
“ระงับการใช้ช่องทาง ณ จุดผ่อนปรนการค้าและจุดผ่อนปรนพิเศษทุกแห่งในพื้นที่เป็นการชั่วคราว… กรณีหากพิจารณาเห็นว่ายังมีความจำเป็นในการใช้ช่องทาง ขอให้เหลือจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดละไม่เกิน 1 แห่ง สำหรับจังหวัดเชียงรายให้เหลือด้านประเทศละ 1 แห่ง… กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการตรวจคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคจากผู้เดินทางซึ่งมาจากท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักร กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19” ตอนหนึ่งของ หนังสือราชการเลขที่ 1204.3/ว1698 ระบุ
อย่างไรก็ตาม พลตรี เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ด้านจังหวัดนราธิวาส ได้มีการเปิดจุดผ่อนปรนให้เดินทางเข้าได้ 3 จุด คือ ท่าข้ามศรีพงัน อำเภอตากใบ, ท่าข้ามท่าประปา อำเภอสุไหงโก-ลก และ ท่าข้ามกะดุนง อำเภอแว้ง
ข้อห้ามที่ควรปฏิบัติในการละหมาด
ด้าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ว่า การละหมาดญามาอะฮฺ และการจัดกิจกรรมรวมตัวเป็นกลุ่ม ประกอบด้วย ห้าข้อห้ามที่ควรปฏิบัติดังนี้ คือ (1) ห้ามใช้น้ำละหมาดร่วมกัน (กอเลาะห์) โดยให้อาบน้ำละหมาดมาจากบ้าน (2) ห้ามปูพรมในมัสยิด ควรเอาพรมออกและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังปฏิบัติ กิจกรรมแล้วเสร็จทุกครั้ง ให้ใช้ผ้าละหมาดของตนเองและซักทำความสะอาดทุกวัน (3) ห้ามละหมาดติดกัน ควรเว้นระยะห่างจากผู้ละหมาด ไม่ชิดหรือติดกันจนเกินไป เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการแพร่เชื้อ (4) ห้ามสัมผัสมือ สวมกอด แต่ให้สลามโดยวิธีการยกมือขวาและกล่าวให้สลามแทน (5) ห้ามผู้ที่มีอาการไข้ หรือป่วย หรือ ผู้ที่รู้ว่าตนเองอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ร่วมละหมาดที่มัสยิด ในสภาวการณ์เสี่ยงการแพร่เชื้อ โดยให้อิหม่าม ใช้ดุลพินิจในการพิจารณา
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 254,653 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 163 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 10,415 คน รักษาหายแล้ว 87,351 คน
ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อิตาลี อิหร่าน สเปน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว