ชาวสุไหง-โกลก ตายด้วยโควิด-19 หลังกลับจากงานดะวะห์ในมาเลเซีย
2020.03.27
นราธิวาส และปัตตานี

ในวันศุกร์นี้ นายแพทย์อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสุไหง-โกลก เปิดเผยว่า ชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาในอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งได้เดินทางไปร่วมงานเผยแพร่ทางศาสนา ณ มัสยิดศรีเปตาลิง ประเทศมาเลเซีย ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคโควิด ในตอนเช้าวันนี้ ซึ่งนับเป็นรายที่ 5 ของประเทศ
นายแพทย์อินทร์ ระบุว่า นายกอเซ็ง อาแวกือจิ อายุ 49 ปี มีอาชีพรับจ้าง อาศัยอยู่ในพื้นที่ ม.6 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในจำนวนคนไทย 132 คน ที่ไปร่วมงานเผยแพร่ทางศาสนา Qudamak & Ulamak Malaysia 2020 ณ มัสยิดศรีเปตาลิง ประเทศมาเลเซีย ที่มีศาสนิกมาชุมนุมกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันคน ในระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ศกนี้
“ผู้ป่วยได้เข้ามานอนโรงพยาบาล เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศว่าที่เคแอล (กัวลาลัมเปอร์) ที่ไปประกอบพิธีศาสนาเป็นพื้นที่เสี่ยง ทีมเลยได้ไปตามผู้ป่วยมานอนที่โรงพยาบาลสุไหง-โกลก ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม โรงพยาบาลได้ส่งตรวจตามห้องปฏิบัติการ และผลแล็บยืนยันว่าเป็นโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ผลการทำเอ็กซเรย์ปอดตอนนั้นผลยังปกติ เริ่มให้ยาต้านไวรัส วันที่ 23 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปอดอักเสบติดเชื้อ มีไข้ขึ้นลง วันที่ 26 มีนาคม เวลา 14.00 น. เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ใช้เครื่องช่วยหายใจ วันที่ 27 มีนาคม เวลาประมาณ 03.03 น. ผู้ป่วยได้เสียชีวิต” นพ.อินทร์ กล่าว
นพ.อินทร์ กล่าวว่า นายกอเซ็ง ไม่มีโรคประจำตัวอย่างอื่น กลับเข้ามายังประเทศไทย ณ วันที่ 2 มีนาคม เริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม จึงไปรับบริการครั้งแรกที่โรงพยาบาลสุไหง-โกลก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ก่อนต้องนอนรักษาตัวโรงพยาบาลในอีกสามวันต่อมา
ในวันนี้ ได้มีการฝังศพนายกอเซ็งที่กุโบร์ เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ในวันนี้ โดยที่ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เดินทางไปร่วมงาน มีเพียงแต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามหลักศาสนา เท่านั้น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่กล่าวว่า ในตอนพบนักแสวงบุญติดเชื้อโควิด 6 ราย และทางการประกาศให้มาพบแพทย์ แต่นายกอเซ็งไม่ยอม ขณะที่ กรมควบคุมโรค ได้ระบุว่าผู้ติดเชื้อได้เคยเดินทางไป 2 จุดด้วย คือ มินิบัสหมายเลข 4 สนามบิน-ตัวเมืองหาดใหญ่ วันที่ 13 มีนาคม 2563 เวลา 10:00 น. และสนามกีฬาจิระนคร อ.หาดใหญ่ วันที่ 14-15 มีนาคม 2563 เวลา 16:00-19:00 น. นับเป็นพื้นที่เสี่ยง ซึ่งหากผู้ใดพบว่าตนเองอยู่ในจุดดังกล่าวตามเวลาที่ระบุ ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ และกักตัวเองอยู่บ้านเพื่อดูอาการ หากมีอาการไข้ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
หลังภาวะการระบาดของโควิด-19 ในยะลา สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศให้งดละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) ที่มัสยิด โดยที่มัสยิดอบีบักร อัศศิดดิก (มัสยิดพัฒนาวิทยา) ได้ทำการปิดประตูทางเข้ามัสยิด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ได้งดเว้นการละหมาดวันศุกร์ พร้อมติดป้ายประกาศให้ประชาชนชาวมุสลิมทำการละหมาดในที่พักของตน โดยนายนาเซอร์ โต๊ะตาหยง คณะกรรมการมัสยิดอบีบักร อัศศิดดิก เปิดเผยว่า คณะกรรมการมัสยิดได้เล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคระบาดตามแนวทางของอิสลาม ผนวกกับประกาศจากทางสำนักจุฬาราชมนตรี ทางอิหม่ามและคณะกรรมการทุกคน จึงได้มีมติให้งดละหมาดวันศุกร์ ที่มัสยิดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
บีอาร์เอ็นแถลงทางยูทูบ
ในวันนี้ นายอับดุลการิม คอลิบ ที่ระบุว่าตนเป็นโฆษกแผนกประชาสัมพันธ์ BRN ได้ ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูบ ยาว 4.17 วินาที เพื่อแสดงความห่วงใยต่อการเกิดโรคระบาดในสามจังหวัดชายแดนใต้
“สถานการณ์โลกตอนนี้กำลังระบาดด้วยโรคโควิด-19 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น 100 กว่าปีมาแล้ว อาจเป็นภัยพิบัติ (บาลออ์) หรือการตักเตือนจากอัลลอฮฺ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ขอให้พวกเรานั้นน้อมรับสิ่งนี้ด้วยปัญญาด้วยฮิกมะห์ จงดูแลและป้องกันด้วยวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับตัวเรา บุคคลอันเป็นที่รัก และในสังคมของเรา ด้วยวิธีที่ดีที่สุดก่อนที่จะตะวักกัลป์ (มอบหมาย) เรามีความห่วงใยต่อพี่น้อง ขอให้ทุกท่านทำตามคำแนะนำของหน่วยการแพทย์ ทุกอย่างมีฮิกมะห์” นายอับดุลการิม กล่าว
ทั่วประเทศป่วยเพิ่ม 91 ราย รวมสะสม 1,136 ราย ตายแล้ว 5 ราย
นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นด้วย
“วันนี้ เรามีผู้ป่วยสะสมเพิ่มจากเมื่อวาน 91 ราย รวมเป็น 1,136 ราย ก็มีผู้ป่วยเสียชีวิตขณะนี้เป็น 5 ราย มีผู้ที่มีอาการหนักอยู่ที่โรงพยาบาล 11 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีอาการน้อยถึงอาการปานกลาง 1,035 ราย กลับบ้านแล้ว 97 ราย… วันที่ 26 มีนาคม พบ 52 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นคนไทย 88.32 เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติ 11.68 เปอร์เซ็นต์” นพ.อนุพงศ์ กล่าว
“เรามีผู้ป่วยใหม่ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 รวม 30 ราย มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ สนามมวย สถานบันเทิง สัมผัสผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 19 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำงานและอาศัยอยู่สถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก กลุ่มที่ 3 จำนวน 42 ราย พบเชื้อแล้ว แต่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค” นพ.อนุพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 566,269 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 176 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 25,423 คน รักษาหายแล้ว 127,768 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อิตาลี สเปน จีน อิหร่าน และฝรั่งเศส เป็นต้น ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี สเปน เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช มีส่วนร่วมในการรายงานข่าว