นายกฯ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมโควิด-19 พบติดเชื้อเสียชีวิต 3 ราย
2020.03.24
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ใช้อำนาจ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยเริ่มมีอำนาจใช้จริง ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ด้านกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไทยพบติดเชื้อเพิ่ม 106 ราย และเสียชีวิต 3 ราย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะให้อำนาจเจ้าพนักงานในการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลปลอมหรือบิดเบือน รวมทั้งผู้ที่กักตุนสินค้าด้วย
“รัฐบาลได้พิจารณามาโดยตลอด เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 วันนี้เราจะเอา พ.ร.ก. ฉบับนี้มาประกาศ ซึ่งผมจะประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ (26 มี.ค.) วันนี้ได้หารือในมาตรการอื่น ๆ ที่จำเป็นแล้ว โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การจัดระเบียบในการทำงาน และการยกระดับศูนย์โควิดของเรา เป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิดนี้ หรือ ศอฉ.โควิด และมีคณะทำงานข้างล่างสอดประสานกัน โดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีของการเลือกตั้งทั่วไป โดยพล.อ.ประยุทธ์ อดีตหัวหน้ารัฐบาลทหารกลับสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในรัฐบาลประยุทธ์สอง
“ศอฉ. โดยผมเป็นคนอนุมัติ เพราะอำนาจต่าง ๆ ทั้งหมด กฎหมายทั้งหมด จะมาอยู่ที่นายกฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงในการทำงานตรงนี้.. ฝากสื่อและผู้ที่ใช้โซเชียลในทางที่บิดเบือน ต้องได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วย ในขณะนี้ สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนสินค้าหรืออะไรต่าง ๆ รวมทั้งการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค จะมีความเข้มงวดไปเรื่อย ๆ ต้องขอเตือนทุกคนไว้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันนี้ เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับที่ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น 3 ราย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 106 ราย โดยในนั้นเป็นบุคลากรการแพทย์
“วันนี้ ผู้ป่วยมีอาการหนัก 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ 3 ราย เสียชีวิตไป… มีผู้ที่ได้รับรายงานกลับบ้าน 5 ราย สะสมมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 57 ราย รักษาในโรงพยาบาล 766 ราย เสียชีวิตสะสม 4 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 827 ราย” นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
“ผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก เป็นผู้ป่วยสัมผัสกับอดีตผู้ป่วย หรือ เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 25 ราย 5 รายจากสนามมวย
กลุ่มสถานบันเทิง 6 ราย กลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสกับกลุ่มที่มีรายงานมาแล้ว 12 ราย ร่วมพิธีศาสนาที่มาเลเซีย 2 รายจาก ปัตตานี... กลุ่มที่สอง 34 รายที่เป็นรายใหม่ เดินทางมาจากต่างประเทศ 20 ราย กลุ่มทำงานในสถานที่แออัด 10 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย และกลุ่มที่สาม ได้รับผลแล็บยืนยันพบเชื้อ แต่รอการสืบสวน สอบสวนโรค 47 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า รัฐบาลจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างไร และไม่ได้ระบุว่า จะประกาศใช้เป็นระยะเวลาเท่าใด
โดย มาตรา 9 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ให้อำนาจพื้นฐานแก่นายกรัฐมนตรี ดังนี้ (1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น (2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใด อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย (3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ (5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ (6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
และ มาตรา 18 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย โดยมาตรการดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว โดยมีมาตรการโดยสรุป ดังนี้ 1. มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคม” 1.1 สนับสนุนเงิน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) ให้เงินเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ระบบประกันสังคม จากการปิดที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม เพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน และกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน โดยธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
1.2 สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน 1.3 สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน มีหลักประกัน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี 1.4 สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี 1.5 ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563
1.6 หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น : เพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต และเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป 1.7 ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์และ 1.8 ฝึกอบรมมีเงินใช้ ฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพหรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้, ขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือกองทุนหมู่บ้าน
ขณะที่ 2. มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ 2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย 2.2 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล 2.3 มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี 2.4 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและ ผลิตภัณฑ์น้ำมัน 2.5 มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบ กิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
2.6 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (COVID-19) 2.7 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ (2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ (3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ (4) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้
หลายจังหวัดดำเนินมาตรการรัฐ ออกคำสั่งปิดกิจการ-งดกิจกรรม-ทำงานที่บ้าน
ปัจจุบัน หลายจังหวัดในประเทศไทยเริ่มดำเนินตามมาตรการของรัฐบาลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 แล้ว โดย นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ได้ออกคำสั่งปิด ร้านอาหาร ห้าง ตลาด เสริมสวย ร้านสักเจาะ สวนสนุก ตู้เกม สนามกอล์ฟ (ให้ขายได้เฉพาะส่วนขายอาหารแบบกลับบ้าน และอาหารสด) และให้งดกิจกรรม ประชุม สัมมนา งานบุญ งานแต่ง งานบวช คอนเสิร์ต งานเลี้ยงฉลองทุกรูปแบบ โดยบังคับใช้จนถึงวันที่ 1 เมษายน (ยกเว้นงานศพ) ฝ่าฝืนมีความผิด ตามกฎหมาย ก่อนหน้านี้จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู และบุรีรัมย์ ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ให้บริการต่าง ๆ แล้วเช่นกัน โดยผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ
การบินไทยได้ประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และงดเที่ยวบินในประเทศภูมิภาคทั้งหมดชั่วคราว ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 และเที่ยวบินไปยุโรป ในวันที่ 1 เมษายน 2563 และจะกลับมาให้บริการปกติ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 407,485 คน มีผู้ติดเชื้อ 169 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 18,227 คน รักษาหายแล้ว 104,234 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อิตาลี จีน สเปน อิหร่าน และฝรั่งเศส เป็นต้น ตามข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกา
ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศ ให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 63 เป็นต้นมา
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนในการรายงาน