สธ. กังวล แรงงานเดินทางกลับบ้านหลังปิดกรุงเทพฯ อาจกระจายเชื้อโควิด
2020.03.23
กรุงเทพฯ และปัตตานี

ในวันจันทร์นี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกร้องให้กลุ่มผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจากกรุงเทพ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค และอยู่ห่างบุคคลรอบข้าง เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ได้พบผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่เกรงว่า หากแนวโน้มการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยรายวัน ๆ ละ หนึ่งส่วนสามไปจนถึงกลางเดือนเมษายน จะทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรับมือได้
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยระบุว่า ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น และเริ่มพบผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 89 ราย วันอาทิตย์พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 188 ราย และ วันจันทร์เพิ่มขึ้น 122 ราย ทำให้ตัวเลขสะสมของประเทศไทยกลายเป็น 721 ราย ขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน 42 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ
“ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น มีการย้ายถิ่นฐานกลับไป กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ทุกๆท่านที่เดินทางกลับไปได้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในฐานะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการทำงานทางด้านนี้ หรือ จะติดต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัด หรืออำเภอ หรือกระทั่ง อาสาสมัครสาธารณสุขก็ได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 122 ราย นับเป็นลำดับที่ 600-721 โดยมีผู้ป่วยกลับบ้านรวมแล้วเท่ากับ 52 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 668 ราย เสียชีวิต 1 ราย มีผู้ป่วยสะสม 721 ราย อาการหนักในผู้ป่วย 7 ราย (ทุกรายยังต้องการเครื่องช่วยหายใจ)
ทั้งนี้ จำแนกได้เป็นกลุ่มที่หนึ่ง ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 20 ราย มีรายละเอียดดังนี้ สนามมวย 4 ราย นนทบุรี นครปฐม และอุบลราชธานี กลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 16 ราย กทม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ
กลุ่มที่สอง ผู้ป่วยรายใหม่อีก 10 ราย เดินทางจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติ 4 ราย ชาวไทย 2 ราย 6 รายที่เหลือทำงานหรือใช้ชีวิตในสถานที่แออัด สุราษฎร์ธานี ร้อยเอ็ด ภูเก็ต กระบี่ ที่เหลือคือ 92 ราย ได้รับผลแล็บยืนยันพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบและสอบสวนโรคอยู่
ด้านกรมควบคุมโรค เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จังหวัดสงขลามีผู้ติดเชื้อ 9 ราย ปัตตานี 15 ราย ยะลา 5 ราย และนราธิวาส 6 ราย รวมทั้งสิ้น 35 ราย
ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ได้สั่งให้ประชาชน ที่เดินทางกลับมาภูมิลำเนา ทั้งก่อนและหลังที่จะมีประกาศปิดสถานที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ เช่น กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อาสาสมัครสาธารณสุข โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ให้กักกันตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 14 วัน
ศิริราชประเมิน จะมีผู้ติดเชื้อ 3.5 แสนราย ถ้าไทยไม่ปรับมาตรการโควิด-19
ในวันเดียวกัน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อคล้ายกับประเทศเยอรมนี คือ 33% ต่อวัน ซึ่งหากยังคงอัตราการเพิ่มระดับนี้ ภายในวันที่ 15 เมษายน 2563 ไทยจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3.5 แสนราย
“ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 351,948 ราย… นอนโรงพยาบาล 52,792 ราย ใช้ไอซียู 17,597 ราย และมีผู้เสียชีวิต 7,039 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลในประเทศไทยจะรับไหว เพราะในปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยว (Isolation) ห้องแยกผู้ป่วยรวมหลายเตียง (Cohort Ward) และห้องความดันลบ (AIIR) ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมกันอยู่ที่ราว 7,063 เตียงเท่านั้น ซึ่งหากประเทศไทยไปถึงจุดนั้น อาจจะสะท้อนภาพเหตุการณ์ในประเทศอิตาลี ที่โรงพยาบาลจะต้องเลือกว่าจะรักษาใคร” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
“หากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนร่วมมือกัน ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อจากวันละ 33% ลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 20% ได้ ในวันที่ 15 เมษายน 2563 ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อเพียง 24,269 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายในเวลานี้ ถึงแม้ว่าตัวเลขที่คาดการณ์นี้จะไม่ได้ดีไปกว่าประเทศที่ควบคุมได้อย่าง ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ แต่ก็จะไม่บานปลายเช่น ในประเทศโซนยุโรป… การรักษาระยะห่างระหว่างกัน (social distancing) จะช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้มาก… โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าคนไม่ติดต่อกัน” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ
ประชาชนทยอยกลับภูมิลำเนา หลังมีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เมษายน 2563 ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด และสั่งให้มีการปิดสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ผับ สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ มหาวิทยาลัย และ โรงเรียน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตามมาด้วยล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 กรุงเทพมหานคร และห้าจังหวัดปริมณฑล ได้สั่งให้ห้างสรรพสินค้า และสถานบริการต่างๆ ที่อาจเสี่ยงเป็นสถานที่แพร่เชื้อโควิด-19 งดการให้บริการชั่วคราว จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 โดยสำหรับห้างให้คงไว้เฉพาะส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตและขายอาหาร
คำสั่งดังกล่าวทำให้มีประชาชนจำนวนมาก เดินทางกลับต่างจังหวัดเนื่องจากไม่มีงานในกรุงเทพฯ ซึ่งนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ผู้โดยสารที่เดินทางกลับต่างจังหวัดผ่านสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ 3 แห่งของ บขส. ได้แก่ จตุจักร (หมอชิต 2), เอกมัย และสายใต้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นราว 10,000 คน จากปกติอยู่ที่ 60,000-70,000 คนต่อวัน เป็น 70,000-80,000 คนต่อวัน
ทั้งนี้ กองทุนสวัสดิการสังคม ได้เปิดโอกาสให้แรงงานที่ต้องหยุดงาน ขอเงินชดเชยค่าจ้างแรงงานได้ 50 เปอร์เซ็นต์
มาตรการการบินพลเรือนกระทบคนไทยในต่างแดน ที่อยากกลับบ้าน
สำนักงานการบินพลเรือน ได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับคนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน โดยจำเป็นจะต้องมีเอกสาร 2 อย่างคือ 1. ใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า มีสุขภาพเหมาะสมที่จะเดินทางโดยเครื่องบิน และ 2. หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งต้องออกโดย สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวถูกบังคับใช้ในวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาหลังออกมาตรการดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากสร้างความลำบากให้คนไทยที่ต้องการจะกลับบ้าน
นายศโรมรณ์ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยอายุ 29 ปี จากเมืองนอริชป ประเทศอังกฤษ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า แนวทางปฏิบัติของสำนักงานการบินพลเรือน เป็นการผลักภาระให้กับทั้งนักศึกษาไทย เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย และแพทย์อังกฤษ
“การบินพลเรือนตั้งเงื่อนไขไม่นึกถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลย ต้องเสี่ยงโรคไปขอที่สถานพยาบาล ซึ่งภาวะนี้เขาแนะนำให้หลีกเลี่ยงการไปที่นั่น เพราะเชื้อโรคเยอะ มันเพิ่มภาระให้หมอ-พยาบาลของเขาโดยไม่จำเป็น ศูนย์การแพทย์ของรัฐก็ไม่รับทำให้ พอไปโรงพยาบาลเอกชนก็มีน้อย แพงมาก และก็ไม่ใช่ขอกันง่าย ๆ ที่สำคัญใบรับรองแพทย์ fit-to-fly บอกอะไรไม่ได้ว่า เราติดเชื้อหรือไม่ สงสารเจ้าหน้าที่สถานทูต ต้องมาเสี่ยงมากขึ้น ทำงานหนักขึ้นโดยไม่จำเป็น” นายศโรมรณ์ กล่าว
“น้องคนหนึ่งจองตั๋วกลับบ้านเอาไว้วันที่ 29 มีนาคม แต่มาตรการดังกล่าวออกมา จึงรีบไปหาแพทย์ของมหาลัยเพื่อขอใบรับรองแพทย์ แต่เขาไม่ออกให้ เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ต้องหาแพทย์เอกชน พบว่าราคาแพง 130-200 ปอนด์ และนัดได้เร็วที่สุด คือวันที่ 27 มีนาคม ก่อนเดินทางเพียง 2 วันเท่านั้น” นายศโรมรณ์ กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนด้านชายแดนภาคใต้ ในวันนี้ ทางการมาเลเซีย ได้ประกาศให้คนไทยเดินทางกลับจากมาเลเซียได้โดยทางเครื่องบินทางเดียวเท่านั้น
ชาวต่างชาติกลับประเทศไม่ได้ หลังไทยปิดด่าน
หลังจากทางการไทยได้ปิดด่านชายแดนด้านมาเลเซีย 9 แห่ง ในวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ แรงงานชาวกัมพูชา ลาว และเวียตนาม ที่ทำงานในมาเลเซียไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางผ่านจุดผ่านแดนในภาคใต้ของไทย จนต้องตกค้างอยูในมาเลเซีย
ขณะที่การปิดห้างร้านหลายแห่งในกรุงเทพฯ ทำให้ แรงงานลาว เมียนมา กัมพูชา จำนวนหนึ่งที่เดินทางไปยังด่านพรมแดน เพื่อกลับภูมิลำเนา แต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เพราะตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ปิดด่านชายแดนหลายจุดของประเทศไทย เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายคนที่ทำให้เสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
และหลังจากกระทรวงมหาดไทยของไทย ปิดจุดผ่านแดนหลายแห่งเมื่อสุดสัปดาห์ ยกเว้นจุดผ่านแดนหลัก ๆ เช่น ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ในจังหวัดเชียงราย แรงงานต่างด้าวจำนวนมากได้เดินทางกลับประเทศ ซึ่งด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก สามารถเดินทางได้ปกติ แต่มีการคัดกรองโรค
ส่วนด่านแม่สอด จังหวัดตากนั้น ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ยังต้องผ่อนปรนให้ชาวเมียนมา เดินทางกลับบ้านจนกว่าจะเดินทางกลับหมด
ด้านชายแดนลาว ให้ผ่านเข้า-ออกได้ตามปกติ ที่ด่านมิตรภาพ ในจังหวัดหนองคาย ด่านเดียวเท่านั้น ส่วนด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต ให้ผ่านได้เฉพาะรถบรรทุกสินค้าเท่านั้น
กระทรวงดีอีเตือนประชาชน หยุดโพสต์-แชร์ข้อมูลไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ต
ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนจำนวนมากบนอินเทอร์เน็ต นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้เขียนข้อความลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว วานนี้ เตือนให้ประชาชนหยุดนำเข้าข้อมูลที่ไม่เหมาะสมลงบนอินเทอร์เน็ต เพราะอาจทำให้มีโทษ “หยุด โพสต์ข้อความไม่เหมาะสม กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รวบรวมหลักฐานให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุม... ม.14 ความผิดเกี่ยวกับการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมฯ ก่อให้เกิดภัยต่อความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ/ประเทศ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำต่อประชาชน/สาธารณะ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 367,457 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 168 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 16,113 คน รักษาหายแล้ว 100,879 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อิตาลี จีน สเปน อิหร่าน และฝรั่งเศส เป็นต้น
ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนในการรายงาน