ไทย-สหรัฐร่วมกำจัดสื่อลามก ล่วงละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์
2018.01.11
กรุงเทพฯ

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ หัวหน้าคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children – TICAC Task Force) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ (11 มกราคม 2560) ว่า การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านสื่อออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมาสามารถดำเนินคดีผู้กระทำความผิดได้ 71 คดี และสามารถยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท พร้อมวางมาตรการตรวจสอบสื่อลามกเด็กอย่างเข้มข้น
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา TICAC มีสถิติการดำเนินคดีผู้กระทำความผิด แยกเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ 21 คดี ความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 13 คดี ความผิดฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก 31 คดี และส่งผู้กระทำความผิดออกนอกราชอาณาจักรอีก 6 คดี โดยแบ่งเป็น ผู้ต้องหาชาวไทย 38 คน และ ชาวต่างชาติ 35 คน จากทั้งหมด 71 คดี โดยการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวสามารถขยายผลไปถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำความผิด และสามารถยึดทรัพย์ไปแล้วมากกว่า 800 ล้านบาท
“ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว ปัจจุบันปัจจัยเอื้อมันเยอะ เด็กใช้อินเทอร์เน็ต และคนที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ หรือมีพฤติกรรมที่ปิดบังตัวตนอยู่ อาศัยช่องทางเข้าไปในโลกอินเทอร์เน็ต เข้าไปคุยในดาร์คเวป (Dark web) ตรงนี้น่าเป็นห่วง แต่มันเป็นความท้าทายสำหรับเราในการทำงาน” พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ถึงการใช้มาตรการที่เข้มข้นของคณะทำงานฯ ในการเฝ้าระวัง ให้คำแนะนำกับนักเรียนในโรงเรียน พร้อมจัดสายตรวจ Cyber มีทีมสแกนดูบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงการแฝงตัวเข้าไปหาข่าวในห้องสนทนาลับ ทำให้ทราบความเคลื่อนไหวเวลาที่สมาชิกในกลุ่มมีการนัดพบเพื่อซื้อขายบริการทางเพศเด็ก หรือไลฟ์สตรีม ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย สนใจอยากเข้ามาศึกษาการทำงาน เพื่อนำไปตั้งเป็นหน่วยงานในลักษณะเดียวกัน รวมถึง ทางสหรัฐอเมริกา ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการเฝ้าระวัง และ จับกุม ร่วมกับทีมไทยเช่นกัน
“สื่อลามกเด็กเป็นการค้ามนุษย์ประเภทที่สอง ที่ตอนนี้เริ่มมาปูดในอินเทอร์เน็ต มีการชักชวนเพื่อนไปขายบริการบนโซเชียลเป็นวงเล็กๆ เราต้องตัดตอนด้วยปฏิบัติการเชิงรุกให้พวกนี้ไม่ไปแสวงหา เพราะคนที่เสพรูป เสพสื่อโซเชียล มีการซื้อขายแบบนี้ จะแสวงหา ทำกันเป็นกระบวนการ การจับคนพวกนี้คือ การลด Demand Side ที่ตำรวจไทยตั้งเป้าเอาไว้ในการป้องกันและปราบปราม” ที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
TICAC ตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (US Homeland Security Investigation - HSI) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น FBI, DEA, INTERPOL รวมถึง NGOs ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด และแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงขยายผลการสืบสวน นำไปสู่การเข้าช่วยเหลือ ปกป้อง เยียวยาเหยื่อ และฟ้องร้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด
หลังจากที่ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ TICAC เข้าถึงข้อมูล การอัพโหลด ดาวน์โหลด รูปภาพหรือคลิปวิดิโอ ที่มีสถิติสูงๆ หรือมีการซื้อขาย ที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้โดยตรง ทำให้พบว่าคนไทยมีสถิติในการกระทำความผิดเพิ่มสูงขึ้น จากการตรวจสอบข้อมูลมีมากถึง 30,000–40,000 รายการต่อปี
การค้ามนุษย์บนไซเบอร์
ในสังคมปัจจุบัน ทุกคนมีมือถืออย่างน้อยคนละหนึ่งเครื่อง พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อมือถือให้ลูกใช้ โดยปราศจากคำแนะนำที่ถูกต้อง ประกอบกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายขึ้น ทำให้รูปแบบอาชญากรรมประเภทนี้ลักษณะที่สลับซับซ้อน และมีหลายรูปแบบ มีหลายกรณีที่เหยื่อไม่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อจากการล่วงละเมิดทางเพศบนอินเทอร์เน็ต
TICAC ได้เปิดเผยถึง กรณีที่มีเด็กอายุระหว่าง 13–14 ปี ถูกหลอกให้มีการแสดงกิจกรรมทางเพศโดยไม่รู้ตัวว่า กิจกรรมดังกล่าวถูกบันทึกไว้ และนำไปขายต่อบนอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งมีคนที่รู้จักไปพบเข้า ทำให้เด็กและผู้ปกครองได้รับความอับอาย จากผลกระทบจากบุคคลในสังคมจนอยู่ในสังคมไม่ได้ ต่อมา TICAC ได้ทำการสืบสวนสอบสวน และจับกุมผู้กระทำความผิดเป็นชายไทย โดยพบผู้เสียหายจากการกระทำความผิดนี้ ถึงสามร้อยคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีและศาลพิพากษาจำคุก 16 ปี
นอกจากนี้ TICAC ได้เข้าไปแฝงตัวในกลุ่มลับกลุ่มหนึ่ง ที่มีการนัดสมาชิกให้เข้ามาชมการแสดงกิจกรรมทางเพศ ค้าประเวณี สดทางออนไลน์ โดยที่นักแสดงคนหนึ่งได้นำลูก อายุสามขวบ มาร่วมในการแสดงนั้นด้วย ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมและขยายผล จนสามารถดำเนินคดีเข้าข่ายฐานความผิดค้ามนุษย์รูปแบบหนึ่ง
“มันเป็นเคสที่น่าหดหู่ และน่าเป็นห่วงว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะเราพบคดีลักษณะนี้อีก 3-4 เคส เป็นความท้าทายที่ทำให้เราต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านนี้ เราจัดให้มีสายตรวจ cyber การพิสูจน์หลักฐานทางดิจิตอล และกำลังเสนอให้มีการตั้งหน่วยงานเป็นกองบังคับการทำงานแบบเต็มเวลา 24 ชั่วโมง” พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ใช้ไซเบอร์ตาม 'ล่า' การค้ามนุษย์บนไซเบอร์
ปัจจุบัน TICAC ได้ร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในการบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต โดยพล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผบก.ปคม. ได้บรรยายการใช้เทคโนโลยี Arc GIS หรือ โปรแกรมภูมิสารสนเทศ ที่เขียนขึ้นสำหรับ บก.ปคม. โดยเฉพาะในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดคดีค้ามนุษย์ โดยอนาคตจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเฝ้าติดตาม ตรวจสอบผู้กระทำความผิดทางไซเบอร์
การทำงานของโปรแกรม Arc GIS คือติดตามคนที่พ้นโทษในคดีค้ามนุษย์ บุคคลตามหมายจับในคดีค้ามนุษย์ และบุคคลสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคม. พบว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์หายตัวไปเจ็ดวัน สืบทราบว่าไปขายบริการ ซึ่งต่อมาถูกพบว่า มาขายบริการในกรุงเทพฯ
ผู้บังคับการ ปคม.ได้ยกตัวอย่างคดีล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นที่ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ใช้เวลา 15 วันในการสืบสวนสอบสวน แต่ได้ทดลองใช้โปรแกรม Arc GIS ในการสโคปพื้นที่จากคำให้การของผู้เสียหายว่า คนร้ายใช้จักรยานยนต์ในการกระทำความผิดช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืน ทำให้เจ้าหน้าที่นำโปรแกรมสโคบลงไป จะปรากฏหน้าของผู้ต้องสงสัยในระยะห้าสิบกิโลเมตร สามสิบกิโลเมตร จนถึงสิบกิโลเมตร จนเหลือผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิดจำนวนสี่คน ได้ปริ๊นภาพให้ผู้เสียหายชี้ตัว จนสามารถขอศาลออกหมายจับได้ในเวลาสามทุ่ม และสามารถจับกุมได้ในเวลาหกโมงเช้าวันต่อมา ใช้เวลาทำงานทั้งหมด 12 ชั่วโมง
“เราจะนำข้อมูลของบุคคลที่ทาง TIACC คิดว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมทางไซเบอร์ ใส่ไว้ในโปรแกรมนี้ ต่อไปนี้เราจะรู้ว่าบุคคลเหล่านี้อยู่ที่ใดในประเทศไทยบ้าง และเราจะไปเยี่ยมเยียน พูดคุยกับเขา ให้เขารู้ว่าเขาต้องหยุด เพราะเรารู้เขาทำอะไรอยู่” พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง บรรยายให้ผู้สื่อข่าวฟัง
“งานที่ทำอยู่มันยากและท้าทาย แต่จะสามารถช่วยทำให้ลดอุปสงค์การค้ามนุษย์ลงได้ ซึ่งผู้ที่ครอบครองสื่อลามก จะนำไปสู่การค้ามนุษย์ในที่สุด” พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์