ชาวบ้านสามจังหวัดแดนใต้ ปฏิเสธการใช้ถังแก๊สคอมโพสิตแทนถังเหล็ก

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.01.31
จังหวัดชายแดนภาคใต้
TH-cylinders-620 ชาวบ้านในจังหวัดยะลา ยังคงใช้ถังแก๊สหุงต้มที่ทำด้วยเหล็ก ในงานเลี้ยงแต่งงานแห่งหนึ่ง วันที่ 31 ม.ค. 2560
เบนาร์นิวส์

ปัจจุบัน ยังคงพบประชาชนในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ถังเหล็กบรรจุแก๊สหุงต้ม แม้ว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า จะได้ประกาศให้ผู้ค้าเปลี่ยนเป็นถังแก๊สคอมโพสิตทั้งหมด ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2559 แล้วก็ตาม โดยประชาชนชี้แจงว่า ไม่ต้องการเสียเงินค่าเปลี่ยนถังเพิ่ม และถังคอมโพสิตมีขนาดบรรจุได้น้อยกว่าถังเหล็ก

นางพาตีเมาะ บีแตบูแล แม่ครัว ชาวยะลา กล่าวว่า ถังเหล็กได้เปรียบในเรื่องความจุ ประชาชนจึงยังเลือกใช้ถังเหล็ก แม้จะรู้ว่ามีอันตรายมากกว่า

“ถังแก๊สพลาสติกกับถังเหล็ก ถังเหล็กดีกว่าเพราะใหญ่กว่า ถังพลาสติกก็ดีไม่อันตราย แต่ถ้าจะให้ดีอีก ต้องทำให้มีขนาดใหญ่กว่านี้ ถึงจะดี” นางพาตีเมาะกล่าว

นางพาตีเมาะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาค่ามัดจำถังพลาสติก ยังแพงกว่าถังเหล็ก ซึ่งต้องจ่ายเงินเพิ่มประมาณหนึ่งพันบาท แล้วแต่ร้าน หากว่าร้านค้าสามารถลดราคาถังพลาสติกให้ถูกกว่าได้ ก็อาจจะช่วยจูงใจให้คนหันมาใช้ถังพลาสติกมากขึ้น

การสั่งห้ามนำถังแก๊สหุงต้มเหล็กเข้าพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ถูกประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อลดความเสี่ยงที่ถังแก๊สเหล็กจะถูกเอาไว้เป็นส่วนประกอบของระเบิด และสร้างความเสียหายได้มากกว่าถังที่ทำด้วยพลาสติก

ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2558 กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเปิดเผยว่า สั่งการให้เปลี่ยนถังแก๊สหุงต้มจากถังเหล็กขนาด 15 กิโลกรัม เป็นถังคอมโพสิตพลัสขนาด 11 กิโลกรัม โดยให้บริษัทจำหน่ายแก๊สหุงต้มดำเนินการเปลี่ยน ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน  2559

ล่าสุด พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 ออกประกาศห้ามนำถังแก๊สเหล็กขนาด 15 กิโลกรัม หรือขนาดที่เล็กกว่า เข้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคำสั่งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

นายสูลกีพลี อาเยาะแซ เจ้าของร้านขายของชำในจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า แรงดันของแก๊สจากถังพลาสติก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนยังคงใช้ถังเหล็กอยู่

“ไม่ดี ถ้าจะให้เปลี่ยนมาใช้ถังแก๊สแบบพลาสติก เพราะความร้อนของไฟที่ออกมาไม่เหมือนกับถังเหล็ก คนขายของและคนจัดงานเลี้ยงส่วนใหญ่จะบอกแบบนั้น อีกอย่าง ถังพลาสติกเล็กกว่าถังเหล็ก เอามาใช้ได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องมาเปลี่ยน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าแก๊สหมดเร็วกว่าถังเหล็ก” นายสูลกีพลีกล่าว

นายสูลกีพลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงประชาสัมพันธ์โครงการเจ้าหน้าที่เคยระบุว่า ชาวบ้านสามารถนำถังแก๊สเหล็กไปแลกเป็นถังแก๊สพลาสติกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในความจริงกลับพบว่า มีเพียงร้านแก๊สของ ปตท.เท่านั้น ที่ร่วมโครงการ ประชาชนที่ใช้ถังของบริษัทอื่น จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่ม ประชาชนบางส่วนจึงเลือกที่จะไม่เปลี่ยน

“ทางแก้ที่ดีรัฐควรทำโครงการนี้ ร่วมกับทุกบริษัท นำของเก่ามาแลกใหม่โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย รวมทั้ง ต้องผลิตถังให้เท่ากับของเก่า และใช้วัสดุที่ไม่ลดความร้อนของไฟเมื่อนำมาใช้ในครัวเรือน” นายสูลกีพลีระบุ

นางรีดา อาบะ แม่ค้าขายอาหารชาวปัตตานี กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องความดันแก๊สในถังพลาสติก และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนจากถังเหล็กเป็นถังพลาสติก คือปัจจัยที่ทำให้ประชาชนไม่ยอมเปลี่ยนตามคำสั่ง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า

“ไม่เอานะ ถ้าให้เปลี่ยนใช้ถังพลาสติกเพราะถังพลาสติกทอดไก่ไม่กรอบ ทอดได้ไม่นานแก๊สก็หมด ต้องไปเปลี่ยนอีก ขายของยังไม่ทันได้เงินต้องมาเปลี่ยนแก๊สอีก และเวลาแลกก็ต้องเสียเงินเพิ่ม ยุ่งยากคิดว่ามีแต่ปัญหา แต่รัฐเขาคิดแต่สะดวกเขาเราชาวบ้านถ้าใครว่าผิดก็ต้องหยุดแม้จะต้องเจอแต่ปัญหาก็ต้องยอม” นางรีดากล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง