บีอาร์เอ็นประกาศยุติการปฏิบัติการ ช่วงโควิดระบาด

มารียัม อัฮหมัด และภิมุข รักขนาม
2020.04.04
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
200404-TH-deepsouth-violence-1000.jpg พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา (กลาง) ตรวจสอบซากรถยนต์กระบะที่คนร้ายดัดแปลงเป็นคาร์บอมบ์ ที่หน้าที่ทำการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ 17 มีนาคม 2563
เบนาร์นิวส์

ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ได้ยุติการปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้โดยปลอดภัย โดยมีเงื่อนไขว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องไม่ปฏิบัติการต่อสมาชิกกลุ่มของตนด้วย

ทั้งนี้ ในสี่จังหวัดภาคใต้ของไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 143 ราย เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5 ราย มีผู้ติดเชื้อจากการไปชุมนุมทางศาสนา ที่มาเลเซีย อย่างน้อย 13 ราย และที่อินโดนีเซีย 30 ราย

ในหนังสือจากกองเลขานุการกลาง แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ได้ระบุว่า การหยุดยิงดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมานี้

“เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีความสงบและความสะดวกมากขึ้น สำหรับประชาชนปาตานี เกี่ยวกับความพยายามทุกประเภท โดยบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยงานที่ทำงานเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดโควิด-19 บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการทุกรูปแบบ เพื่อเปิดช่องทางให้แก่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยตระหนักว่า ณ เวลานี้ ศัตรูหลักของมนุษยชาติคือโควิด-19 การประกาศคำนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2020 ตรงกับวันที่ 9 ชะอ์บาน 1441 ฮ. ตราบใดที่บีอาร์เอ็นไม่ได้รับการโจมตีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย” หนังสือแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย และได้ส่งถึงเบนาร์นิวส์ระบุ

แถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า บีอาร์เอ็น ตระหนักว่า โควิด-19 หรือเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นภัยคุกคามอันยิ่งใหญ่สำหรับประชาคมโลกทั้งปวง รวมถึงปาตานีด้วย ณ ปัจจุบันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนับวันก็ยิ่งมากขึ้น และคาดการณ์ว่า จำนวนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีก ถ้าหากว่าประชาชน โดยเฉพาะประชาชนปาตานี ไม่เอาจริงเอาจังกับมาตรการการป้องกันการแพร่ขยายเชื้อโรค

ทั้งนี้ บีอาร์เอ็น กล่าวหาทางการไทยว่า “ในขณะที่ประชาชนปาตานีกำลังเผชิญหน้ากับความเดือดร้อนและภาวะฉุกเฉินดังเช่นปัจจุบันนี้ สถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลง ด้วยการยกระดับของปฏิบัติการทางทหารที่ไม่มีมนุษยธรรมและไร้น้ำใจ รวมไปถึง การตรวจค้น การปิดล้อมบ้านของผู้ต้องสงสัย และการจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวมลายู ปฏิบัติการลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้สถานการณ์ที่ลำบากแล้วยิ่งแย่ลง และประชาชนปาตานีก็จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความหวาดกลัว"

ในเรื่องนี้ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กองทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวต่อแถลงการณ์นี้ว่า ไม่มีนัยยะใดๆ ต่อทางการ

“กรณีที่มีกลุ่มที่อ้างตัวเป็น BRN ออกมาแถลงนั้น อยากเรียนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ด้วยการบังคับใช้กฏหมายกับผู้กระทำความผิดทั้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น ในฐานะความเป็นรัฐที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฏหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการสั่งหยุดยิง” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ในส่วนของกลุ่มดังกล่าวจะสามารถสั่งการในพื้นที่ได้หรือไม่นั้น ผมคงไม่มีความเห็น รวมถึงประเด็นที่บอกว่า ถ้าไทยไม่ปฏิบัติการ เขาก็จะไม่ปฏิบัติการ ก็ไม่มีความเห็น..” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม

นับตั้งแต่ที่บีอาร์เอ็น เริ่มการปฏิบัติการด้วยความรุนแรงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ได้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คน ซึ่งแกนนำในสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อการก่อเหตุใดๆ เว้นไว้เพียงว่ามีบางครั้งที่แกนนำกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ ที่เรียกว่า อาร์เคเค จะยอมรับว่ากลุ่มของตนเป็นผู้ลงมือโจมตี

ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคาดการณ์ว่า บีอาร์เอ็น มีผู้ปฏิบัติก่อการในพื้นที่ประมาณ 8,000 คน

ประเทศไทย: ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 2000 รายแล้ว

เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่ล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 17 มีนาคม 2563 ซึ่งคนร้ายโจมตีสำนักงาน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขณะหลายฝ่ายมีการประชุมร่วมเพื่อจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคนร้ายขว้างระเบิดเข้าไปในรั้ว ก่อนที่จะจุดระเบิดที่ซ่อนในรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ด้านหน้าป้ายสำนักงานฯ ซ้ำ เป็นเหตุให้มี รอง ผอ.ศอ.บต. เจ้าหน้าที่ ประชาชน และสื่อมวลชน ได้รับบาดเจ็บ 25 ราย โดยหลังเกิดเหตุ เฟซบุ๊กเพจ BRN Barisan Revolusi National ที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องเป็นผู้สนับสนุนขบวนการบีอาร์เอ็น ได้โพสต์ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นหน้า ศอ.บต. พร้อมแฮชแท็กข้อความ “#คำสัญญาตามที่แถลง #Amanah_yang_di_kluarkan” มีข้อความบอกใบ้ว่า เป็นฝีมือพวกตนที่ตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่ไล่ล่าเพื่อนร่วมฝ่ายขบวนการ เมื่อสัปดาห์ก่อน

หลังจากเกิดเหตุการณ์ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้ง สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุรุนแรงแก่เป้าหมายพลเรือน

“มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 25 ราย ในการวางระเบิดแบบ ‘ดับเบิ้ลแท็บ’ ซึ่งเป็นรูปแบบที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นใช้มาอย่างยาวนาน” องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์

“การวางระเบิดแบบ ‘ดับเบิ้ลแท็บ’ ต่อสถานที่ราชการไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการหมายให้เกิดการเสียชีวิต ในการทำการโจมตีในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 กองโจรแบ่งแยกดินแดน ได้แสดงออกให้เห็นอีกครั้งถึงการความโหดร้าย โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ภาคพื้นเอเชีย กล่าวในแถลงการณ์ นับตั้งแต่การปฏิบัติการสร้างความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ ในก่อนหน้านี้ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มขัดแย้งทั่วทุกมุมโลกหยุดยิง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการทูต และเพื่อสร้างสภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการให้ความช่วยเหลือในการช่วยชีวิตผู้คน เพื่อสร้างความหวังท่ามกลางโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

โดยในวันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ติดเชื้อเพิ่ม 89 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 2,067 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย

ส่วนทั่วโลก ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 1,159,515 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 181 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 62,376 คน และรักษาหายแล้ว 237,436 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอิหร่าน เป็นต้น ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ของสหรัฐอเมริกา โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง