แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดการอบรมการฝึกชุดปฏิบัติการจรยุทธ์
2019.04.08
ปัตตานี

ในวันจันทร์นี้ พลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมการฝึกชุดปฏิบัติการจรยุทธ์รุ่นแรกของปี 2562 ซึ่งจะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หันมาเน้นการลาดตระเวนจรยุทธ์ในระดับหมู่บ้าน เพื่อพิสูจน์ทราบและเพื่อกดดันฝ่ายขบวนการก่อเหตุรุนแรง
ในตอนเช้า พลโทพรศักดิ์ เดินทางไปยังสนามยิงปืน 1,000 นิ้ว ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อชมฝึกซ้อมการปฏิบัติทางทหารของชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ รุ่นที่ 1/62 ก่อนจะเดินทางต่อมายังสโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายอิงคยุทธบริหาร
พ.อ.ธีระ ผดุงสุนทร เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้บรรยายพิเศษถึงแนวทางการปฏิบัติงานของ ชป.จรยุทธ์ โดยการปฏิบัติที่สำคัญของ ชป.จรยุทธ์ คือ การลาดตระเวนจรยุทธ์พิสูจน์ทราบ และกดดันในหมู่บ้าน
"เพื่อจำกัดเสรีการปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในพื้นที่เป้าหมาย ให้ครอบคลุม ควบคุมพื้นที่ และค้นหาแหล่งหลบซ่อน พื้นที่ฝึก พื้นที่พักพิง จำกัดเสรี และทำลายความพยายามในการก่อเหตุของกล่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยตรวจสอบเส้นทางเคลื่อนที่ในพื้นที่ได้" พ.อ.ธีระกล่าว
พลโทพรศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้สั่งการไปครั้งก่อนเมื่อ 1 เดือนที่ผ่าน ก็ได้ติดตามการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหัวหน้าชุดและกำลังพลภายในชุด ขอให้ครูฝึกและชุดเฉพาะกิจ ซึ่งตั้งกองอำนวยการฝึก ได้ประเมินผลการฝึกและปรับปรุงเพื่อให้การฝึกในทุกครั้งเกิดประโยชน์สูงสุดในรุ่นต่อไป
"ขอเน้นย้ำให้กำลังในทุกพื้นที่เข้าไปเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน เข้าไปเจอประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานงานกับ ชป.กร. ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านหมดสิ้นความหวาดระแวงจากเจ้าหน้าที่รัฐ และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องปลอดภัย ครองตนด้วยความไม่ประมาท ปฏิบัติงานในทุกภารกิจจะต้องตระหนักถึงหลักการทางยุทธวิธีในการป้องกันตนเองอยู่เสมอ ไม่สร้างเงื่อนไขกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่ากรณีใดๆ" พลโทพรศักดิ์ กล่าวแก่กำลังพล
“เชื่อมั่นว่า หากพวกเราทุกคนมีความตั้งใจทุ่มเทอย่างจริงจัง ฝ่ายเราจะสามารถเอาชนะฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงและสามารถยุติสถานการณ์ความรุนแรงได้ในไม่ช้า เพื่อคืนความสุขให้กับพื้นที่ปลายด้ามขวานของเราต่อไป” พลโทพรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
กองทัพภาคที่สี่ ใช้กำลังทหารประมาณ 70,000 นาย ในการรักษาความสงบในชายแดนภาคใต้ ซึ่งในยุคพลโทปิยะวัฒน์ นาควานิช ได้หันมาใช้กองกำลังทหารพรานมากขึ้น เพราะเป็นคนในพื้นที่ที่มีความเข้าใจในภาษาถิ่น ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูและนับถือศาสนาอิสลามได้ดีกว่าทหารจากภาคอื่น
ทั้งนี้ ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่เรียกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหมู่บ้านรวมกันเกือบ 2,000 หมู่บ้าน ตกอยู่ใต้การก่อเหตุการณ์รุนแรงด้วยระเบิดหรือการใช้อาวุธปืนเข่นฆ่าทั้งชาวพุทธ-มุสลิม โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 7,000 คน ในขณะที่การเจรจาเพื่อสันติสุขของทางรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการต่างๆ ที่รวมตัวกันมาเจรจาใช้ชื่อองค์กรมาราปาตานีนั้น ยังไม่มีความคืบหน้า
ผู้สันทัดกรณี กล่าวว่า ฝ่ายขบวนการฯ ส่วนหนึ่งจะแฝงตัวอยู่กับมวลชนในบางพื้นที่ รวมทั้ง ได้รับการสนับสนุนด้านที่พักพิงและเสบียง หากเจ้าหน้าที่ทำการกดดันในระดับหมู่บ้าน น่าจะช่วยทำให้ปัญหาดีขึ้น
ด้านนายโฮป (นามสมมุติ) อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นในพื้นที่ กล่าวว่า ทางฝ่ายขบวนการ รอเจรจากับรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถพูดคุยกันได้อย่างเข้าใจกันได้ดีขึ้น
"เขาต้องการคุยกับรัฐบาลใหม่ ส่วนรัฐบาลนี้ เขามองว่าคุยแล้วจะไม่มีอะไรดี และจะไม่เป็นผลดีต่อเขาด้วย เขาก็หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมาจะสามารถคุยกันจนรู้เรื่องและแก้ปัญหาได้ ขบวนการเขายังยืนยันว่า การเจรจาคือทางออกในการแก้ปัญหา การจับอาวุธสู้ไม่ใช่ทางออก”