มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาตั้งกรรมการสอบสวนนักศึกษาถือป้าย “ปาตานี”
2017.03.13
ยะลา

ในวันจันทร์ (13 มีนาคม 2560) นี้ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ที่ถือป้ายผ้าขอเรียกตัวเองว่า “คนปาตานี” ในระหว่างการเดินพาเหรดในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาของมหาวิทยาลัยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
"ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว เพื่อสืบหาข้อมูลเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบสรุปข้อมูลเพื่อเตรียมแถลงการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น" ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สมบัติ ไม่ระบุว่าจะมีมาตรการใดๆ ต่อนักศักษาที่เกิดปัญหา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2560 กรณี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะมนุษยศาสตร์ เอกมลายู ที่เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนกลางราชภัฏ ได้เดินพาเหรดในช่วงพิธีการแข่งขันกีฬาจันทร์กระพ้อเกมส์ และได้ถือป้ายผ้าหนึ่งใช้ข้อความว่า “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่าคนปาตานีได้มั๊ยครับ” ซึ่งคำว่า ปาตานี ทำให้พี่น้องบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจ และตั้งคำถามว่านักศึกษาเหล่านี้มีแนวคิดในการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่
ด้านนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาคณะผู้แทนพิเศษ หรือ ครม.ส่วนหน้า กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีหวังฉวยโอกาสสร้างความแตกแยกขึ้น
"จากการตรวจสอบเบื้องต้นเป็นป้ายข้อความที่ไม่ได้ผ่านการตรวจผ่านของกรรมการนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ แต่เป็นกลุ่มคนไม่หวังดีฉวยโอกาสสอดแทรกเข้ามาในระหว่างพิธีการ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องมีการตั้งกรรมการตรวจสอบลำดับที่มาของป้ายข้อความอันนี้ต่อไป โดยจะทำโดยเฉียบขาด และเร่งด่วน" นายภาณุ กล่าวในวันนี้
ด้านนักศึกษารายหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การตั้งเหมาสรุปว่าการใช้คำว่า ปาตานี สื่อถึงการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีความอคติมากเกินไป
"คนที่ขุดคำว่าปาตานี แล้วโยนไปเป็นประเด็นแบ่งแยกดินแดน บางทีต้องถามว่า เราท่าน คุณที่เข้าใจแบบนั้น เรียนรู้บริบทของสังคมมาดีแล้วแค่ไหน คำว่าจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี เพิ่งถูกจัดตั้งเป็นจังหวัดมาแค่ร้อยปีเอง แล้วก็พยายามให้คนไทยเรียกรวมกันว่า คนชายขอบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามจริง คำว่าคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ถ้าคิดในมุมแบ่งแยกมันก็แบ่งแยกเหมือนกัน” นักศึกษาผู้ไม่ประสงค์จะออกนามรายดังกล่าว แสดงความคิดเห็นแก่เบนาร์นิวส์
“ปัญหาคือ เขาไม่ได้แบ่งแยก เขาเรียกตัวพวกเขาว่าคนปาตานีมานานแล้ว คำว่าปาตานี มีมาพร้อมพวกเขามานมนาน ก่อนจะแบ่งเป็นสามจังหวัดเสียอีก" นักศึกษารายดังกล่าว กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนางไพร่หงส์ (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า แม้กระนั้น คำดังกล่าวไม่เหมาะ และแย้งว่า ในดินแดนที่มีคนมลายูเป็นชนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้มีแค่เฉพาะคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น
"รู้สึกเรากำลังแยกกัน เพราะคนมลายูก็ไม่ได้มีเฉพาะคนอิสลาม มลายูพุทธ มลายูจีนก็มีเยอะที่นี่ แต่พอประกาศขนาดนี้ ทำให้หลายคนไม่เห็นด้วย แม้จะเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัย แต่ก็ทำให้เรามองได้ว่าไม่เหมาะสม" นางไพร่หงส์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายอิกศอล ไม่ขอออกนามสกุล ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า "ตั้งแต่เกิดมาคนอิสลามที่นี่จะเรียกลูกหลานตัวเองว่า อาเนาะนายู แปลว่า ลูกหลานคนมลายู แต่ไม่ถึงขนาดชูป้ายร้องขอ เพราะเราเรียกกันจนติดปากมาแล้ว แต่เมื่อมีการประกาศก็ย่อมมีคนไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนตัวมองว่า ทั้งคนออกมาประกาศและคนที่ไม่พอใจเป็นกลุ่มคนสุดโต่งเมื่อเทียบกับสังคมปัจจุบัน"