ชาวไทยมุสลิมใต้ร่วมใจถือศีลอด หวังเกิดความสงบสุข
2017.05.26
ปัตตานี
เมื่อวันอังคาร (23 พฤษภาคม 2560) ที่ผ่านมานี้ ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารพราน ร้อย ร. 4702 บริเวณพื้นที่เขตรอยต่ออำเภอยะหากับอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา จนเสียชีวิตสองนาย และพลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวว่า เป็นการก่อกวนต้อนรับเดือนถือศีลอดที่จะเริ่มต้น ในวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม
จากสถิติเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา พบว่าผู้ก่อเหตุพยายามบิดเบือนหลักคำสอนว่า การก่อเหตุในเดือนรอมฎอนจะยิ่งได้ผลบุญเป็นทวีคูณ จึงขอความร่วมมือผู้นำศาสนาช่วยกันสร้างความเข้าใจในหลักคำสอนที่ถูกต้อง และสิ่งที่มุสลิมควรปฏิบัติเพื่อให้เดือนรอมฎอนปีนี้เป็นเดือนรอมฎอนอันประเสริฐและบริสุทธิ์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
แต่พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช และพี่น้องชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนหวังว่ารอมฎอนหนึ่งเดือนปีนี้ จะดำเนินไปด้วยความสงบสุข
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมากว่า 13 ปี มีสาเหตุหลักมาจากความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีเจตนาบิดเบือนหลักคำสอนทางศาสนาและความเป็นมาของประวัติศาสตร์มาปลุกระดมบ่มเพาะให้ใช้ความรุนแรงแบบสุดโต่ง เพื่อทำลายสังคมพหุวัฒนธรรม ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนา
“รอมฎอนปีนี้ ต้องการให้พี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามได้ประกอบศาสนกิจตามความศรัทธา โดยเน้นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้ประกอบศาสนกิจโดยไม่มีสิ่งรบกวน” พลโทปิยวัฒน์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ เป็นการกระทำของคนร้ายที่ต้องการสร้างสถานการณ์ ก่อนเข้ารอมฎอนเหมือนทุกปีที่ทำ เพราะคิดว่าทำเดือนนี้จะได้บุญ” พลโทปิยวัฒน์กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศให้เริ่มเดือนรอมฎอน 1438 หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องประชาชนชาวไทยมุสลิม ในวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2560 หลังจากมีผู้เห็นดวงจันทร์ในวันศุกร์
จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรทั้งหมด 2.2 ล้านคน ร้อยละ 85.42 นับถือศาสนาอิศลาม ประชากรที่เหลืออีกร้อยละ 14.58 นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ
นายอับดุลการีม นาคนาวา ประธานสภาอุลามา ปัตตานี กล่าวว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา สภาอุลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ สถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ชมรมตาดีกาปัตตานี และชมรมมุสลิมภราดรภาพ จะได้จัดกิจกรรม "รวมพลัง สร้างสันติสุข" เนื่องในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1438
“ทุกองค์กรจะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เชิญชวนพี่น้องมุสลิมให้ปฏิบัติศาสนากิจด้วยความศรัทธา ลด ละ เลิก สิ่งเสพติดและอบายมุขทั้งปวงตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด” นายอับดุลการีมกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“กอ.รมน.4 ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรทางศาสนาโดยตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา ผู้นำศาสนาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถคลี่คลายปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด” นายอับดุลการีม กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน หลังจากดวงอาทิตย์ขึ้น ชาวมุสลิมจะเริ่มถือศีลอดจนตะวันตกดิน จึงจะเริ่มกินอาหารและร่วมละหมาดตาราเวี๊ยะ อ่านอัลกุรอ่าน ตลอดช่วงเดือนนี้ เป็นเวลา 29–30 วัน เป็นการปฏิบัติตนตามบทบัญญัติข้อที่สี่ ในหลักปฏิบัติศาสนบัญญัติ 5 ประการ คือ การกล่าวปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์ ดำรงละหมาด บริจาคทาน ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะฮ์
“การถือศีลอด คือ การอดอาหาร งดเครื่องดื่ม อดการบริโภคทุกชนิด พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี จะต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนาและการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระ เพื่อเป็นการทดสอบความศรัทธาฝึกฝนให้มนุษย์รู้จักความอดทน มีจิตใจหนักแน่น และเข้าใจถึงความความยากลำบาก”นายแม เจะเงาะ ผู้นำศาสนา จังหวัดยะลา กล่าวว่า
“จะต้องอดทั้ง มือ ไม่ทำสิ่งไม่ดีหรือลักขโมย เท้า ไม่ก้าวไปในสถานที่ต้องห้าม ตา ไม่มอง ดูสิ่งไม่ดีสิ่งลามก หู ไม่ฟังสิ่งไร้สาระ การนินทาให้ร้าย และปากไม่โกหกให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย” นายแมกล่าวเพิ่มเติม
ส่วน ด.ช.อิสมะแอ อาบู เด็กจากจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองรอคอยการถือศีลอดมาตลอด พอมาถึงเดือนนี้ดีใจมาก เพราะแม่จะเตรียมอาหารดีๆ ให้ทุกคนในบ้านได้กิน ทุกคนจะกินข้าวพร้อมกัน รู้สึกอบอุ่นและหาไม่ได้ในช่วงเดือนอื่น ซึ่งแม่และพ่อต้องไปทำงานตอนเช้ามืด แล้ววางเงินตามตู้ให้ตนเองและน้องไปซื้อหากินกันเอง
“จะกินอะไร จะมีกินหรือไม่มี พ่อกับแม่ไม่เคยรู้ แม่กับพ่อกลับมา ผมก็ไปโรงเรียนแล้ว กว่าผมจะกลับเข้าบ้าน ทุกคนในบ้านก็หลับ ทุกๆ วัน ทุกคนในครอบครัวของผมไม่มีโอกาสได้เจอหน้าคุยกัน เพราะพ่อกับแม่ต้องทำงาน ผมและน้องๆ ต้องไปโรงเรียน” ด.ช.อิสมะแอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“เราสามารถหาบรรยากาศดีๆ ภายในครอบครัวได้ในเดือนรอมฎอน และแม่ก็จะเตรียมอาหารดีๆ ให้พวกเราด้วยทุกวัน ทั้งตอนละศีลอด และตอนกินข้าวหัวรุ่งก่อนตะวันขึ้น ใครจะกินอะไร แม่จะทำให้กิน จะเตรียมให้กับทุกคน” ด.ช.อิสมะแอ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างนางรอสือหมะห์ ดอเลาะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ครอบครัวของตนมีรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ในขณะที่ต้องปรุงอาหารดีๆ ในตอนหลังพระอาทิตย์ในเดือนรอมฎอน จึงต้องพยายามหาวัตถุที่ได้จากธรรมชาติ
“วันนี้ ราคาขี้ยาง กิโลละ 20 บาท ปลากิโล 100 บาท รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกันเลย แต่เดือนรอมฎอนทุกคนจะต้องมีอาหารที่ดีที่สุดกิน ก็ต้องพยายามหาวัตถุดิบจากรอบรั้วบ้าน ทุกอย่างที่สามารถหามาได้ก็จะทำอาหาร ส่วนแฟนจะไปหาหน่อไม้ หาเห็ดในป่า เราจะปลูกผักกาด ผักบุ้ง แตงกวา เพื่อลดรายจ่าย และจะซื้อของบางอย่างเท่าที่จำเป็น เช่น ไก่ ไข่ ปลา น้ำมัน น้ำตาล เท่านั้น”
“อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ก็ไม่มีอะไรมาก จากที่เคยกินข้าวกับมาม่าต้มหรือผัด หรือไข่เจียว ก็จะได้กินแกงจืด หรือแกงไก่กะทิผสมหน่อไม้ กินแกงส้ม หรือไม่ก็ ผักต้ม บูดู และปลาทอด แค่นี้ ถือว่าหรูมากแล้วสำหรับทุกคนในครอบครัวของเรา” นางรอสือหมะห์ กล่าว
ส่วนทางราชการได้ให้การสนับสนุนอาหารแก่พี่น้องชาวมุสลิม โดยพลตรี เกื้อกูล อินนาจักร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก ได้มอบนโยบายและสั่งการให้กอ.รมน.4 ส่วนหน้า มอบสิ่งของที่มีความจำเป็นต่อพี่น้องชาวไทยมุสลิม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีอินทผาลัม 5,600 แพค รวมเป็นน้ำหนัก 2,800 กิโลกรัม มอบให้หน่วยกำลังในพื้นที่นำไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องมุสลิมในพื้นที่