คนร้ายวางระเบิดชุดคุ้มครองครู เจ็บ 6 คน ที่กรงปินัง ยะลา
2019.01.25
นราธิวาส และปัตตานี

ในเช้าวันศุกร์นี้ เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคุ้มครองครูโรงเรียนบ้านตะโละซูแม ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ 3 นาย และประชาชน อีก 3 คน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยนักวิชาการให้ทัศนะว่า บีอาร์เอ็นทำการโจมตีต่อเนื่อง เพราะโดนกดดันให้ออกมาร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ร.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ขาวนวล รองสารวัตรสอบสวน สภ.กรงปินัง จ.ยะลา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อเวลา 08.25 น. ได้เกิดเหตุคนร้าย ลอบวางระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองครู โรงเรียนบ้านตะโละซูแม เหตุเกิดที่บริเวณบ้านบาสาเวง หมู่ 6 กรงปีนัง ริมถนนสาย 410 ยะลา-เบตง เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด จึงได้เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ ที่มีการวางระเบิดตรงโคนเสาไฟฟ้าส่องสว่าง มีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เศษกล่องเหล็ก และเศษหินกระจัดกระจาย
“จากการสอบสวน ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย ใช้จักรยานยนต์ 2 คัน และมี ร.ต.ต.วรวุฒิ ปัญญา หัวหน้าชุด ชป.วายุ 2 นั่งในรถยนต์กระบะขับตามหลัง เพื่อลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู โรงเรียนบ้านตะโละซูแม ถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายกดระเบิดด้วยวิทยุมือถือ ทำให้ระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม ที่ซุกใต้เสาไฟฟ้าระเบิดขึ้น จนเจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ” ร.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
ร.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ระบุว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดครั้งนี้ประกอบด้วย 1. ส.ต.ท.อภินันท์ ตาหลี 2. ส.ต.ต.ชารีฟ นวลดำ 3. ส.ต.ท.ณัฐกร นนตานอก 4. นายมาหามะ บือซา 5. น.ส.รอซีย๊ะ สะนิ และ 6. ด.ญ.มวัดดะห์ บือซา ทั้งหมดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และถูกนำส่งโรงพยาบาลกรงปินัง จ.ยะลา ในเวลาต่อมาแล้ว ขณะที่สาเหตุและแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังเกิดเหตุ พล.ต.ต.กฤษฎา แก้วจันดี ผบก.ภ.จว.ยะลา ได้สั่งให้ ผกก.สภ.กรงปินัง จัดกำลังร่วมกับทหารพรานตรวจสอบหาพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ และตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ซึ่งคาดว่าคนร้ายใช้เดินทางผ่านไปจุดเกิดเหตุ เพื่อตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป
บีอาร์เอ็น โต้ตอบการถูกกดดันให้เจรจา
นับตั้งแต่วันปีใหม่เป็นต้นมา มีผู้ถูกยิงหรือโดนระเบิดเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 16 ราย และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 20 ราย จากตัวเลขที่เบนาร์นิวส์รวบรวมมาจากการแจ้งเหตุของทหารและตำรวจ โดยความรุนแรงเริ่มมีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในห้วงสามเดือนที่ผ่านมา มาจากทั้งสาเหตุภายในและภายนอก
“ปัจจัยภายใน เรื่องของกระบวนการพูดคุย ที่ผ่านมารัฐบอกว่า มีความคืบหน้าต่อเนื่อง 4 ปีแล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่มีความก้าวหน้า การพูดคุยไม่เป็นรูปธรรม หยุดชะงักตั้งแต่เดือน เมษายน 2561 ครึ่งปีมีปัญหาหลายอย่าง ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับมาราปาตานี ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซียด้วย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลใช้กฎหมายความมั่นคงอย่างเข้มข้น แผนที่ใช้ควบคุมความรุนแรงมีผล ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายขบวนการต้องมีการปรับกลยุทธ เร่งสถานการณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวเองมีศักยภาพ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ปัจจัยภายนอก ผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยสันติสุขมีบทบาทมากขึ้น มีความพยายามที่จะผลักดันให้บีอาร์เอ็นที่ใช้ความรุนแรง และยังไม่ได้เข้ามาร่วม ให้มาร่วม อาจมีผลทำให้เกิดการตอบโต้จากบีอาร์เอ็น ทำให้บีอาร์เอ็นมีแรงกดดันหลายอย่าง ซึ่งบีอาร์เอ็นมีหน่วยย่อย มีกำลังปฏิบัติการ มีผู้ก่อเหตุ มีการปรับยุทธวิธีในการก่อเหตุ ในครั้งนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ ของสาเหตุความรุนแรงมาจากบีอาร์เอ็น อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากตัวแปรการเมืองและอื่นๆ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มกราคม นี้ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบปะกับนายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยการสะดวกในการพูดคุย โดยพล.อ.อุดมชัย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ไทยต้องการคุยกับผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อบีอาร์เอ็นออกมาโดยตรง ในขณะที่ นายราฮิม นูร์ กล่าวว่า ได้พยายามนัดให้นายดูนเลาะ แวมะนอ ประธานสภาแกนนำ (DPP) ของบีอาร์เอ็นออกมาพบคณะพูดคุยของไทยในมาเลเซีย แต่ได้หลบหนีไปเสียก่อน เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานในสื่อไทยว่า ได้มีการเปลี่ยนตัว เพื่อหลีกเลียงการเจรจา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดของการเคลื่อนไหวโดยบีอาร์เอ็นในห้วงเวลานี้ คือ การใช้ความรุนแรงโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เขาใช้ยุทธวิธีกับเป้าหมายอ่อนแอ เพราะมีทางเลือกเดียวที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลือนได้เยอะ จึงยอมเสี่ยงให้ตัวเองถูกวิจารณ์ ถูกประณาม วิธีนี้คือทางออกเดียวที่บีอาร์เอ็นมี จึงทำให้มีกระแสออกมาว่า บีอาร์เอ็นปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากสังคมที่ยอมรับไม่ได้ ทำให้เสียมวลชน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอ่อนไหวมากสำหรับประชาชน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ
บีอาร์เอ็นปฏิเสธ - ฮิวแมนไรท์วอทช์ประณามบีอาร์เอ็น
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้ บุคคลที่ใช้ชื่อว่า ดร.ฟากิซ และอ้างว่าเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็น ได้ออกมาพบกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่และกล่าวว่า การสังหารเจ้าอาวาสและพระสงฆ์วัดรัตนานุภาพ เมื่อวันที่ 18 มกราคม นั้น ไม่ได้เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น และตนเองเคยเจอเจ้าอาวาส ที่บรูไนมาก่อน
“ในความเป็นจริงแล้วผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ และบีอาร์เอ็นไม่ทำแน่นอน... นี่คือกลยุทธ์ของนักล่าอาณานิคมที่ต้องการเราแตกแยกกันและต้องการบอกกับนานาชาติว่า บีอาร์เอ็นเป็นผู้ก่อการร้าย” ดร.ฟากิซกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 (เวลาในนิวยอร์ก) องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า นับแต่เริ่มเกิดปฏิบัติการก่อความไม่สงบด้วยการใช้อาวุธ เมื่อเดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบจากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ได้พุ่งเป้าโจมตีวัดและพระ ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ของรัฐพุทธไทยต่อดินแดนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ส่งผลให้ที่ผ่านมามีพระภิกษุ 23 รูปเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รูป ผู้ก่อความไม่สงบยังพุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งทำหน้าที่ดูแลพระในระหว่างการเดินทางเข้าออกจากวัดด้วย
“การโจมตีที่โหดร้ายต่อพระสงฆ์ของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เป็นเรื่องที่ขัดศีลธรรม และเป็นอาชญากรรมสงคราม ต้องมีการนำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษ ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ สำหรับการก่อเหตุอย่างจงใจ เพื่อทำร้ายพลเรือนทั้งชาวพุทธและมุสลิมในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์
ด้านพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงในวันนี้ว่า จากตรวจสอบทางขีปนวิธี เหตุการณ์ยิง 38 เหตุการณ์ ทางการได้ตรวจสอบพบว่า เป็นการกระทำของบีอาร์เอ็น รวมทั้งการก่อเหตุยิงพระวัดรัตนานุภาพด้วย
"จากการพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนที่ใช้ก่อเหตุ 183 ปลอก ถูกยิงมาจากอาวุธปืน 11 กระบอก พบประวัติการก่อคดีรวม 38 คดี เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐและพี่น้องประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเกือบ100 คน จึงสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ากลุ่มที่ลงมือก่อเหตุอย่างโหดร้าย ป่าเถื่อนในครั้งนี้ เป็นฝีมือกลุ่มขบวนการใช้ความรุนแรง ที่ต้องการสร้างความขัดแย้งระหว่างพี่น้องพุทธและมุสลิม และทำลายความเชื่อมั่นของอำนาจรัฐ" พันเอกปราโมทย์กล่าว