เจ้าหน้าที่กองกำลังปะทะกลุ่มคนร้าย ขณะองค์กรสิทธิฯ ประณามผู้ก่อเหตุระเบิด
2020.03.18
ปัตตานี

ในวันพุธนี้ เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารพรานถูกผู้ก่อความไม่สงบยิงเสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บอีก 2 นาย ในการปะทะกันระหว่างที่เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตัวคนร้ายมาเป็นวันที่ 7 และได้ยืนยันว่าคนร้ายถูกยิงเสียชีวิต 3 ราย เมื่อวานนี้ ขณะที่ในวันนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุระเบิด ศอ.บต. เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการก่อเหตุระหว่างการประชุมภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเกี่ยวกับโควิด-19
พันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เผยว่าเมื่อช่วงเช้าวันนี้ว่า พันเอก พิทักษ์พล ชูศรี ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 ได้นำผู้นำศาสนาพร้อมชุดเจรจาเกลี้ยกล่อมผู้ก่อความไม่สงบ ที่พยายามหลบหนีในพื้นที่บริเวณริมเขื่อนปัตตานี ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา แต่คนร้ายไม่ยอมออกมามอบตัว
"วันนี้ เข้าสู่วันที่ 7 ของปฏิบัติการกระชับวงล้อมปิดล้อมพื้นที่ จากเหตุปะทะคนร้าย ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา จนเกิดการปะทะอีกรอบ เจ้าหน้าที่เสียชีวิตหนึ่งนาย บาดเจ็บสองนาย ส่วนฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 3 ราย" พันเอกวัชรกร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
สำหรับรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ในวันนี้ ได้แก่ คือ จ.ส.อ.เสนีย์ พงษ์สมบัติ ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกนำส่ง โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ทราบชื่อ คือ ส.อ.สุภาพ ตะเคียนทอง และ อส.ทพ.กิตติชัย อินทติน สังกัด ทั้งสามนายสังกัด ชุดปฏิบัติการสลาตัน
ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวว่า ฝ่ายคนร้ายที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้นั้น เป็นกลุ่มที่สังหาร 15 ศพ ที่ตำบลลำพะยา
“จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบคนร้ายเสียชีวิต 3 ราย เป็นกลุ่มเข้าสังหารหมู่ 15 ศพ ที่ลำพะยา" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว
สำหรับรายชื่อคนร้ายที่เสียชีวิต คือ หนึ่ง นายซอลาฮูดีน คามิส มีหมายจับตาม ป.วิอาญา 1 หมาย และตาม พรก.ฉุกเฉิน 1 หมาย สอง นายอัซฮา ตืองะ มีหมายจับ ป.วิอาญา 2 หมาย และสาม นายนุรดีน จินดาเพ็ชร มีหมายจับ ป.วิอาญา 1 หมาย
เจ้าหน้าที่คาดว่ายังมีคนร้ายพยายามหลบหนีอยู่อีก 4 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังทราบชื่อแล้ว 3 ราย คือ นายอับดุลเลาะ อาแซ นายอาดือนัน คามิส และนายอาดิลสาแม โดยในขณะรายงานข่าว เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการปิดล้อมและไล่ล่าคนร้ายที่เหลืออยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคมนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้ติดตามคนร้ายในพื้นที่หมู่บ้านเบญญา ม.2 ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ลำน้ำติดเขื่อนปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับรายงานว่ามีกลุ่มคนร้ายที่เคยโจมตีจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยสองจุด ในพื้นที่ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว มาหลบซ่อนอยู่ และพร้อมปฏิบัติการสร้างความรุนแรงครั้งใหม่ จากนั้น ในวันศุกร์ มีเจ้าหน้าที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสี่นาย
องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติประณามผู้ก่อเหตุระเบิด ศอ.บต.
ในวันนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ซ่อมแซมป้ายสำนักงาน ศอ.บต. ที่เสียหายจากลอบระเบิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะเจ้าหน้าที่ประชุมเรื่องการจัดการกับโรคโควิด ไปเมื่อวานนี้ ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 25 ราย ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุต้องการกดดันเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการไล่ล่าเพื่อนร่วมขบวนการ ในพื้นที่ริมเขื่อนปัตตานีมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมนี้
หลังเกิดเหตุเมื่อวานนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจที่สนับสนุนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ใช้ชื่อเพจว่า BRN Barisan Revolusi National ได้โพสต์ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นหน้า ศอ.บต. พร้อมแฮชแท็กข้อความ “#คำสัญญาตามที่แถลง #Amanah_yang_di_kluarkan” บอกใบ้ว่า เป็นการกระทำของกลุ่มใด
ในระหว่างเจ้าหน้าที่ไล่ล่าคนร้าย ทางเฟซบุ๊กเพจของฝ่ายเชื่อว่าผู้สนับสนุนบีอาร์เอ็น ได้ระบุเมื่อวันที่ 15 มีค. ว่า “ขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่ส่ง Message มามากมายหลังจากเกิดเรื่อง ทาง BRN Army จะแสดงความขอบคุณให้เห็นเป็นประจักษ์อีกครั้ง จึงขอให้ทางกองทัพสยามไทยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ ที่ตั้งของท่าน”
ในวันนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุรุนแรงแก่เป้าหมายพลเรือน ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า การใช้ระเบิดซ้อน เป็นแท็คติกของบีอาร์เอ็นที่ใช้มานาน
“มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 25 ราย ในการการวางระเบิดแบบ ‘ดับเบิ้ลแท็บ’ ซึ่งเป็นรูปแบบที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นใช้มาอย่างยาวนาน” องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์
“รัฐบาลไทยควรที่จะสอบสวนการโจมตีสำนักงาน ศอ.บต. และนำตัวผู้ก่อเหตุมาขึ้นศาลตามกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่ฝ่ายเข้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยยังได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดการทางอาญา และความเจ็บช้ำของชุมชนชาวมลายูมุสลิมที่มีมาอย่างยาวนาน ฝ่ายก่อความไม่สงบยังคงใช้สถานการณ์นั้น เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรม ในการก่อเหตุรุนแรงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ภาคพื้นเอเชีย กล่าวในแถลงการณ์
ด้าน สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “เราประณามการก่อเหตุครั้งนี้อย่างที่สุด และขอเรียกร้องให้เคารพต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
“การใช้อาวุธอย่างไม่เลือกปฏิบัติโดยมีเป้าหมายเป็นพลเรือน เป็นข้อห้ามภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และการก่อเหตุดังกล่าวระหว่างที่มีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้” ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร ระบุ