ตำรวจเผยมีคดีหมิ่นฯ 12 คดี จับแล้ว 2 ราย
2016.10.19
กรุงเทพฯ

ในวันพุธ(19 ตุลาคม 2559)นี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)เผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้น 12 คดี สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้แล้ว 2 ราย โดยเตือนประชาชนทั่วไปอย่าใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(อีดี) เผยว่า ตรวจพบเว็บไซต์หมิ่นฯกว่า 60 เว็บไซต์ ได้ดำเนินการปิดแล้ว 35 เปอร์เซนต์
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเข้าข่ายการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า ปัจจุบัน มีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 12 คดี และตำรวจได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้ว 2 ราย
“ตั้งแต่วันที่ 13(ตุลาคม) เรามีการจับกุมข้อหามาตรา 112 จับกุมไปแล้ว 2 ออกหมายจับไปแล้ว 8 กำลังแจ้งข้อหาอีก 2 รายนะครับ” พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าว
“มีบางพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนออกมาทะเลาะเบาะแว้งชกต่อยกัน ผมได้แจ้งให้ผู้บัญชาการทุกพื้นที่ ท่านผู้การทุกจังหวัดไปดูแลอย่างใกล้ชิดที่จะห้ามปรามไม่ให้พี่น้องประชาชนที่มีความรักเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ..... ซึ่งทุกท่านผมเชื่อว่าก็มีความรู้สึกแบบเดียวกันว่า ถ้ามีใครมาพูดพาดพิงหรือหมิ่นฯ ลักษณะเหตุซึ่งหน้าก็อาจจะทำให้ไม่พอใจทะเลาะเบาะแว้งชกต่อยกัน ผมได้แจ้งตำรวจทุกพื้นที่ไปแล้วถ้าพบเห็นเหตุการณ์แบบนี้ก็ดำเนินการ ให้ชี้แจง แต่ถ้ายังไม่ฟังกันก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย” ผบ.ตร.เพิ่มเติม
พล.ต.อ.จักรทิพย์เพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความ หรือใช้ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คกระทำการที่อาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังดำเนินการเพื่อหาวิธีนำคนกระทำผิดมาลงโทษ
ด้าน พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวในวันเดียวกันว่า การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำการที่อาจเข้าข่ายหมิ่นฯ หรือผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้คอยติดตามและดำเนินการควบคุมอยู่แล้ว แต่บางกรณีกระบวนการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้ที่มีความเห็นแตกต่างได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางสังคมคอยควบคุมดูแลควบคู่ไปด้วย
“การปฎิบัติตามบังคับกฎหมายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบในพื้นที่เขาดูแลอยู่แล้ว คำว่ามาตรการทางสังคมคือมาตรการที่มาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย ผมเรียนว่า คนกลุ่มนี้บางครั้ง หรืออาจจะแทบทุกครั้ง ที่กลุ่มที่เป็นกลุ่มที่มีทัศนคติที่อาจจะแตกต่างในเรื่องนี้ แน่นอนเกี่ยวกับสถาบันเรารับพวกนี้ไม่ได้ แต่ว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวมันไม่สามารถปรับทัศนคติได้ มาตรการสังคมที่ออกมา มันจะเป็นมาตรการเสริมได้ด้วยซ้ำไป” พลเอกไพบูลย์กล่าว
“การใช้มาตรการสังคม การใช้กฎหมายหมู่มันไม่เหมือนกัน ในทัศนะของผมถ้าท่านใช้กฎหมายหมู่ ท่านจะนำใช้ในลักษณะการผิดกฎหมาย คือใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย แต่ถ้ามาตรการทางสังคมแล้ว คือการกดดันตามระเบียบของสังคมและกฎหมาย ดังนั้นต้องแยกคำนี้ให้ชัด ถ้าเขาใช้ลักษณะการทำผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ต้องลงโทษคนที่ทำ คุณไม่มีสิทธิไปทำร้ายร่างกายคนอื่นเขา” พลเอกไพบูลย์เพิ่มเติม
กระทรวงดิจิตัลฯ พบเว็บไซต์หมิ่นฯแล้วกว่า 60 เว็บไซต์ ปิดแล้ว 35 เปอร์เซนต์
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันเดียวกันถึงการตรวจพบเว็บไซต์ที่อาจเข้าข่ายหมิ่นฯ และได้ดำเนินการปิดเว็บไซต์เหล่านั้นไปแล้วบางส่วน
“ในวันที่ 14 (ตุลาคม 2559) 52 เว็บฯหมิ่นฯ เปิดได้บางส่วน วันที่ 15 (ตุลาคม 2559) 61 เว็บฯหมิ่นฯ ปิดได้บางส่วน โดยเฉลี่ยคือ 50-60 เว็บฯ ที่เราเจอ เว็บที่เราปิดตามอำนาจของ คสช.ฉบับที่ 16 ปี 57 ก็ปิดได้จำนวนหนึ่ง ส่วนที่เป็นส่วนใหญ่ตอนนี้ คือ ส่วนที่กำลังทำหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการสั่งการ(ปิด) ก็ประมาณ 15 วัน ก็จะพยายามทำให้เร็วกว่าเดิม” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
“ส่วนที่ปิดได้เลยก็จำนวนหนึ่ง ส่วนที่ปิดไม่ได้ เช่น ต้องเข้ารหัส เราก็จะต้องทำเรื่องข้อมูลประกอบเพื่อให้ศาลสั่ง แล้วก็จะปิดให้ ส่วนที่มาจากต่างประเทศเราก็ได้ประสานผู้แทนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอเมริกา เขาก็ให้ความร่วมมือ เราไม่ได้ทำเรื่องแค่ว่าปิดสกัดกั้นอย่างเดียว เราก็ทำความเข้าใจกับประชาชน