นายกฯ แถลงใช้กฎหมายทุกข้อ จัดการผู้ชุมนุม
2020.11.19
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะโดยอาวุธปืนกับผู้ชุมนุม ในวันอังคารที่ผ่านมา บริเวณใกล้รัฐสภา
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงเช้าในพฤหัสบดีนี้ว่า รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาแล้ว แต่สถานการณ์ไม่บรรเทาเบาบางลง จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายทุกฉบับและทุกมาตรา เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุม
“ปัจจุบัน สถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นําไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจําเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดําเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทําความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น” แถลงการณ์ ตอนหนึ่งระบุ
“สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาลง แม้รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ใช้ความพยายามปฏิบัติหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดําเนินการต่างๆ ตามหลักสากลด้วยความระมัดระวัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาบรรยากาศของความรักความสามัคคีปรองดองของทุกคนในชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสําคัญ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะบังคับใช้ ม.112 ซึ่งห้ามกระทำการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี หรือไม่
ต่อแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ประณามการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยยืนยันว่าผู้ชุมนุมจะใช้แนวทางสันติวิธี
“ประยุทธ์ ประกาศรบกับประชาชน สำหรับข้าราชการที่ยังไม่เลือกข้าง ท่านต้องเลือกแล้วว่าจะอยู่กับอดีตหรือจะสร้างอนาคตไปพร้อมกับพวกเรา จะให้ความรุนแรงทั้งทางกฎหมายและทางกายภาพใดๆกับผู้ชุมนุมก็เชิญตามแต่ความชั่วช้าของพวกท่าน พวกเรายืนยันสันติวิธีขั้นสูงสุด ในการต่อสู้ครั้งนี้ และพร้อมจะยกเพดานการต่อสู้ทางสันติวิธีแบบที่เคยยกเพดานด้านข้อเรียกร้องเช่นกัน” นายอานนท์ กล่าว
“ขอให้เพื่อนร่วมขบวนราษฎรเตรียมรับความชั่วช้าของประยุทธ์กับพวกให้พร้อม เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน และดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง มุ่งมั่น ต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ของเราทุกคน เชื่อมั่นและศรัทธา” เนื้อความที่นายอานนท์เขียน อีกท่อนหนึ่งระบุ
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กแฟนเพจ เยาวชนปลดแอก ยืนยันเช่นกันว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นสันติวิธี และแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการทำนิติสงครามกับประชาชน
“ฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดลงแล้ว อนาคตของประเทศ ขึ้นอยู่กับข้าราษฎรทุกหมู่เหล่า พนักงานออฟฟิศ ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา และราษฎรทุกคน... สันติวิธีนั้นมีหลายรูปแบบ การสาดสี และพ่นสียังจัดอยู่ในสันติวิธี แต่บนรัฐที่ล้มเหลวเช่นนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ การพยายามบิดเบือน และสร้างความชอบธรรมให้รัฐเกิดขึ้นอยู่เสมอดังเช่นในอดีต แต่ผองราษฎรจงอย่ายอมจำนน ถ้าไม่ลุกขึ้นสู้ ก็ต้องอยู่อย่างทาสไปอีกหลายทศวรรษ” ข้อความระบุ
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความถึงแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีว่า การใช้กฎหมายทุกมาตราไม่มีประโยชน์กับการจัดการปัญหา
“การประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา ซึ่งรวมถึง 112 ด้วย ของนายกรัฐมนตรี เป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาด และมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะการบังคับใช้ 112 เท่ากับรัฐบาลจะดึงให้สถาบันกษัตริย์เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ไม่มีข้อดีอะไร มีแต่เสียกับเสีย” นายรังสิมันต์
อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อขอความเห็นเรื่องดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
การชุมนุมของประชาชนและเยาวชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อกลุ่มว่า “คณะราษฎร” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีการจัดชุมนุมใหญ่มีคนหลายหมื่นคนร่วมชุมนุมกันหลายครั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ 1. เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพรมหากษัตริย์เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
โดยในการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมได้เข้าไปใกล้ขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และชูสัญญลักษณ์สามนิ้วใส่รถยนต์พระที่นั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ในวันถัดมาและนำไปสู่การจับกุมแกนนำ และผู้ชุมนุมถึง 90 คน
ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอยคนละก้าว ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงตรัสแก่สื่อมวลชนต่างประเทศ ซึ่งถามถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมว่า “ข้าพเจ้ารักพวกเขาทุกคนเท่ากัน… ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม”
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาอีกครั้งในการสลายการชุมนุมที่บริเวณใกล้รัฐสภา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 รวมทั้งเกิดเหตุปะทะโดยอาวุธปืน และกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมคณะราษฎร และกลุ่มไทยภักดี (เสื้อเหลือง) ในวันเดียวกัน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 คน
ล่าสุด เมื่อวันพุธนี้ ผู้ชุมนุมราษฎรได้จัดการชุมนุมอีกครั้งที่สี่แยกราชประสงค์ และเคลื่อนขบวนไปสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวมถึงฉีดน้ำเข้าไปภายใน สตช. เพื่อเป็นการแก้แค้นเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมในวันอังคารที่ผ่านมา โดยก่อนสลายตัว ได้ประกาศจะมีชุมนุมอีกครั้งที่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 และชุมนุมต่อเนื่อง 7 วัน
ต่อการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตำรวจไทยใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาอย่างไม่จำเป็น ต่อผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบ ด้านนอกอาคารรัฐสภา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คน
“รัฐบาลไทยควรยุติการใช้กำลังตำรวจเพื่อปราบปรามการประท้วงอย่างสงบ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็นต่อไป… รัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องและองค์การสหประชาชาติ ควรกระตุ้นอย่างเปิดเผยให้รัฐบาลไทย ยุติการปราบปรามทางการเมือง และให้หันมาใช้แนวทางเจรจาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปแบบประชาธิปไตย” นายแบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
“ทางการไทยควรสอบสวนเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยพลันและอย่างไม่ลำเอียง รวมทั้งข้อกล่าวหาว่า ผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ยิงปืน และให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบ โดยไม่คำนึงว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเมืองหรือมีตำแหน่งทางการเมืองระดับใด” นายแบรด ระบุ
ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เห็นว่า การออกแถลงการณ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป และไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย
“การแถลงของนายกฯ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่เคยพยายามจะมองถึงความตั้งใจจริง ๆ ของผู้ชุมนุม สะท้อนให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้ทำรัฐประหาร ปี 57 ต้องการคงอำนาจไว้โดยรัฐธรรมนูญ โดยใช้กฎหมายจัดการกับผู้ที่เห็นต่างจากตัวเอง” นายฐิติพล กล่าว
“การที่รัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เป็นการยืนยันว่า สิ่งที่ผู้ชุมนุมชี้ว่า กลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องจริง เพราะร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เป็นร่างที่จะไปลดสิ่งที่ คสช. ทำไว้”
“อย่างไรก็ตาม ผมยังมองว่า ตอนนี้ไม่น่าจะเกิดความรุนแรง เพราะผู้ชุมนุมก็ยังไม่ต้องการความรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้คนออกมาชุมนุมมากขึ้น แต่ก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่กล้าออกมา เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ใช้แค่กฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังสร้างความหวาดกลัว และข่มขู่ผู้เห็นต่าง โดยการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐติดตามด้วย” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม