กลุ่มรักสถาบันกษัตริย์ สักการะ ร.5 ย้ำปกป้องสถาบัน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.10.23
กรุงเทพฯ
201023-TH-demonstration-monarchy-1000.jpg พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินไปตามถนนหน้าพระลาน เพื่อเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าฯรับเสด็จฯ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชน หลังจากเสร็จพระราชพิธีทรงบําเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันปิยมหาราช ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 23 ตุลาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันศุกร์นี้ กลุ่มประชาชนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ทั่วประเทศ ได้ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องในวันครบรอบวันสวรรคต 110 ปี เพื่อแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ ขณะที่แกนนำกลุ่มประชาชนในนามคณะราษฎร ได้พักการชุมนุมและให้รอการประกาศการเคลื่อนไหวใหม่ในวันอาทิตย์ หลังจากที่ยื่นคำขาดให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก โดยขีดเส้นตาย ภายในค่ำวันเสาร์ที่จะถึงนี้

ในกรุงเทพ กลุ่ม “อาชีวะปกป้องสถาบัน” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาอาชีวะ 33 สถาบัน และประชาชนผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นัดแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง รวมตัวกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2563 โดยได้อ่านแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนถึงจุดยืนกลุ่มว่า ต้องการเรียกร้องให้กลุ่มอาชีวะทั่วประเทศ ออกมายืนเคียงข้างประชาชนผู้จงรักภักดี และเชิญชวนผู้ที่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แสดงจุดยืนป้องกันราชบัลลังก์

“1. ทางกลุ่มจะดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. ขอให้คนอยู่เบื้องหลัง หยุดก้าวล่วง บิดเบือนต่อสถาบัน ยุยง ปลุกปั่นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ ทำให้ประชาชนแตกแยก 3. ประณามผู้ที่สั่งการและสนับสนุน รู้เห็นและล้อมรถยนต์พระที่นั่ง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยขอให้รัฐบาลลงโทษผู้ที่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง” ตอนหนึ่ง ของแถลงการณ์ ระบุ

“4. การแสดงออกของทุกคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นสิทธิ เสรีภาพ ทุกคนทำได้อย่างอิสระตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทางกลุ่มอาชีวะ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ขัดขวาง แต่ต้องไม่ก้าวล่วงหรือมีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันโดยเด็ดขาด 5. เราจะไม่ทำร้ายประชาชนคนไทยกันเอง ยกเว้น ผู้ที่จาบจ้วงหรือป้องกันตัวเองหรือประชาชนที่จงรักภักดี และเราพร้อมปกป้องสถาบันให้ดีที่สุด 6. กลุ่มอาชีวะ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และการทำงานของรัฐบาล” แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ พลตรี นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา หนึ่งในกลุ่มผู้รักสถาบัน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การรวมตัวของผู้รักสถาบันครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าในประเทศยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

“ไม่ได้มีการระดมกัน มีแต่การแสดงออกให้รู้ว่าเราไม่พอใจ ท่านอย่ามาอ้างว่าท่านเป็นราษฎร ผมก็เป็นราษฎร อย่าไปอ้างว่าความรู้สึกของคนที่ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นความรู้สึกของประชาชนทั้งหมด คนอย่างผมมีอีกมากมาย เพียงแต่ว่าวันนี้เขายังไม่ได้ออกมาถึงจุดที่เขาทนไม่ได้”  พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ มีการรวมตัวของประชาชนที่ใส่เสื้อเหลือง และยืนยันการปกป้องสาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เช่นกัน โดย “กลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ได้ประกาศว่าจะมีการรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ลานพ่อขุน ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อแสดงพลัง และประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร

ประชาชนร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เนื่องในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 (เอเอฟพี)
ประชาชนร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เนื่องในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 (เอเอฟพี)

นักเรียนชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมโบกธงชาติไทย ขณะร่วมกิจกรรม "รวมพลคนปัตตานี ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี วันที่ 22 ตุลาคม 2563 (เอเอฟพี)

นักเรียนชูพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมโบกธงชาติไทย ขณะร่วมกิจกรรม “รวมพลคนปัตตานี ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพื่อแสดงออกถึงความและเทิดทูนไว้ ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หน้าศาลากลาง จังหวัดปัตตานี วันที่ 22 ตุลาคม 2563 (เอเอฟพี)

ด้าน นายภานุมาศ สิงห์พรม หรือเจมส์ ตัวแทนคณะราษฎร เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า การชุมนุมในนามคณะราษฎรจะพักไปก่อน เนื่องจากในวันพุธที่ผ่านมา แกนนำได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์มี 3 วันในการพิจารณา

“วันนี้ เพจหลักๆ จะไม่มีการประกาศชุมนุมนะครับ ครบรอบเป็นคืนวันเสาร์ครับ ส่วนวันอาทิตย์จะมีประกาศอะไรต้องรอดูครับ” นายภานุมาศ ระบุ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวในรายการ “ก้าวหน้า Talk” บนเฟซบุ๊กแฟนเพจคณะก้าวหน้า ระบุว่า การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องใช้ประชาธิปไตย และการปรับตัว

“ยืนยันตรงนี้อีกครั้ง ศตวรรษที่ 21 การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ดีที่สุดคือ การปกครองแบบประชาธิปไตย เผด็จการอำนาจนิยม ไม่มีทางที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ได้ตลอด เผด็จการอำนาจนิยม ทำได้แต่เพียงอ้างเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ ทำได้แต่เพียงประคับประคองในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง” นายปิยบุตร กล่าว

“คลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะเดินต่อไปเรื่อย ๆ มีแต่ประชาธิปไตยที่พร้อมจะให้ทุกคนใช้เสรีภาพมานั่งคุยกันว่า จะออกแบบสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะรักษาให้สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ในศตวรรษที่ 21 ต่อไป เว้นเสียแต่ว่า คุณไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย คุณต้องการให้ประเทศไทยเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช” นายปิยบุตร กล่าวเพิ่มเติม

ส่วนนายดอน หอมมณี ชาวเชียงใหม่ อายุ 38 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า หากจะมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จริง ควรให้คนส่วนใหญ่ได้ออกเสียง ไม่ใช่เพียงฟังแต่เสียงของผู้ประท้วงฝ่ายคณะราษฎร

“ประเด็นข้อเสนอต่อสถาบันกษัตริย์ เรื่องแบบนี้ควรให้คนส่วนใหญ่ได้ออกเสียง ไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่ออกมาประท้วงอย่างเดียวเท่านั้น อยากให้นำสิ่งที่แกนนำปราศรัยเสนอในสภา มีการถ่ายทอดสดให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียพิจารณา แล้วค่อยลงคะแนนเสียง เรื่องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แก้รัฐธรรมนูญ หรือ ส.ร.ร. พรรคการเมืองหรือคนลงรับ ส.ส.ร. ก็ต้องแสดงจุดยืนชัดเจนว่า เลือกแบบไหน” นายดอน กล่าวผ่านโทรศัพท์

ปล่อยตัวชั่วคราว ไผ่ ดาวดิน

ในวันนี้ ศาลอุทธรณ์อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งถูกควบคุมตัวในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 จากข้อหาการร่วมชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง โดยมีวงเงินประกัน 7 หมื่นบาท แต่ใช้ตำแหน่งของ น.ส. เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นหลักประกันแทนเงินสด โดยศาลเห็นว่า ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลที่จะไปก่อความวุ่นวายในที่ชุมนุม ตามการเปิดเผยของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 13-22 ตุลาคม 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดี 84 ราย ปัจจุบัน ถูกคุมขังในเรือนจำ 8 ราย โดยนายอานนท์ นำภา หนึ่งในแปดรายนั้น ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันแล้ว แต่เจ้าตัวปฏิเสธเนื่องจากเกรงจะถูกอายัดตัวในคดีอื่นต่อ

ในตอนเย็น กลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนที่ได้ไปต้อนรับนายจตุภัทร์ออกจากเรือนจำกลาง ซึ่งนายนายจตุภัทร์ได้ปราศรัยในทันทีว่าจะกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกต่อไป

การชุมนุมของประชาชนและเยาวชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกลางกรกฎาคม 2563

ในการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทางกลุ่มผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ “ประกาศยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และในวันเดียวกัน เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมได้เข้าไปใกล้ขบวนเสด็จฯ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และชูสัญลักษณ์สามนิ้วใส่รถยนต์พระที่นั่ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และจับกุมแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม 22 คน

กระทั่งในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอยคนละก้าว และนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไขในระบบรัฐสภา และยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในวันต่อมา โดยผู้ประท้วงยังคงคำขาดให้นายกฯ ลาออก ในค่ำวันเสาร์นี้

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง