คสช.แจ้งข้อหาประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊คเพิ่ม 1 ราย
2016.05.02
กรุงเทพฯ

เมื่อวันเสาร์ (30 เมษายน 2559) นี้ ที่ศาลทหารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายบุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ยื่นขออำนาจศาลทหารเข้าฝากขัง หลังถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่พบหลักฐานเป็นข้อความที่นายบุรินทร์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว
ต่อมาศาลทหารได้อนุญาตในการฝากขังนายบุรินทร์เป็นเวลา 12 วัน โดยนายบุรินทร์ได้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้านทางทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกำลังดำเนินการ เพื่อยื่นขอประกันตัวนายบุรินทร์ในช่วงสัปดาห์นี้
นายบุรินทร์ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวในช่วงเย็นของวันพุธที่ 27 เมษายน 2559 ร่วมกับผู้ชุมนุมอีก 15 คน ระหว่างการทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 8 ผู้ดูแลเฟซบุ๊คแฟนเพจการเมือง (แอดมิน) ซึ่งทหารได้บุกจับกุมไปก่อนช่วงเช้าของวันเดียวกัน โดยในค่ำวันนั้น นายบุรินทร์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวแยกออกไปจากกลุ่ม ขณะที่ผู้ชุมนุมรายอื่นถูกปล่อยตัวกลับ
โดยในวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2559 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ที่ผ่านมาทหารได้ติดตามเฟซบุ๊คส่วนตัวของนายบุรินทร์ (Burin Intin) และพบว่านายบุรินทร์ได้ทำการโพสต์ข้อความในลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาล และ คสช. มีการแสดงความคิดเห็นในหน้าเฟซบุ๊ค และพูดคุยกับบุคคลอื่นผ่านข้อความส่วนตัว โดยมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิด ม.112
ศาลไม่ให้ประกัน 8 แอดมินเพจการเมือง
ด้านผู้ดูแลเฟซบุ๊คแฟนเพจ (แอดมิน) การเมือง ซึ่งถูกคุมตัวและแจ้งข้อหาไปก่อนหน้านายบุรินทร์จำนวน 8 รายนั้น ศาลได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเนื่องจาก ถือเป็นการกระทำผิดในคดีร้ายแรง
เมื่อวันศุกร์ (29 เมษายน 2559) ศาลได้นัดไต่สวน ผู้ต้องหา 8 คน ซึ่งทหารได้บุกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2559 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เรื่องยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยการไต่สวนวันนี้ ผู้ต้องหาทั้งหมดได้แต่งตั้งทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ว่าความ
โดยทนายความของจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยใช้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำจำเลยทั้ง 8 คน ไว้หมดแล้ว พวกเขาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และเจ้าหน้าที่ทราบที่อยู่ปัจจุบันของทุกคน เชื่อว่าสามารถเชิญตัวจำเลยมาให้การเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา จึงไม่จำเป็นต้องฝากขัง
ขณะที่พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่า กระบวนการตรวจประวัติ และลายนิ้วมือยังไม่เสร็จสิ้น ยังมีพยานอีก 15 ปาก ที่รอสอบสวนอยู่ รวมทั้งเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงจำเป็นให้ฝากขังจำเลยทั้งหมดเอาไว้ แต่ท้ายที่สุด ศาลอนุมัติคำร้องฝากขัง ด้วยเหตุผลว่า กระบวนการของตำรวจยังไม่เสร็จสิ้น และคดีนี้เป็นคดีที่มีโทษสูง มีความละเอียดซับซ้อนไม่เหมือนคดีทั่วไป
หลังจากนั้น ทนายความและญาติของผู้ต้องหาจึงได้ดำเนินการยื่นขอประกันตัว โดยกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดยนายวิญญัติ ชาติมนตรี อาสาเป็นนายประกันผู้ต้องหาบางคน ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งใช้หลักทรัพย์จากกองทุนพลเมืองโต้กลับ เป็นเงิน 100,000 บาท ต่อรายค้ำประกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันทั้ง 8 คน โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มีการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ มีพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว