น้ำเขื่อนบางลางแห้งเข้าขั้นวิกฤต

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.10.04
ยะลา
TH-local-tank-620 ชาวบ้านตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ร่วมกันนำถังน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้ 2500 ลิตร ติดตั้งบริเวณมัสยิดซอฮาบัติ บ้านต้นปีก วันที่ 4 ต.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร(4 ตุลาคม 2559) นี้ เจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางอยู่ในระดับวิกฤตแล้ว หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีฝนตก และการแก้ปัญหาด้วยการทำฝนเทียมไม่ประสบความสำเร็จ

นายนิมูหะมัดนุรดีน แว เจ้าหน้าที่วิศวะกรประจำเขื่อนบางลางเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางเหลือเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งหากไม่มีฝนตกลงมา น้ำจำนวนดังกล่าวจะหมดไปภายในระยะเวลา 1 เดือน

“น้ำที่ใช้ได้เหลือเพียง 124 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับ 10.1% ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 88.47 เมตร แม้ทางเจ้าหน้าที่พยายามทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง แต่ฝนได้ตกนอกเขื่อน ทำให้มีน้ำที่เข้ามาในเขื่อนบางลางล่าสุดเพียง 34,000 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ น้ำที่ระบายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนสองล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน” นายนิมูหะมัดนุรดีน กล่าว

“ตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำฝนเทียมแล้ว แต่ฝนไปตกในพื้นที่นอกเขื่อน หากไม่มีน้ำในเขื่อน ประชาชนในจังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี จะต้องเดือดร้อนอย่างหนัก อยากให้ทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อยืดเวลารอฝนตกลงมาในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมนี้” นายนิมูหะมัดนุรดีนระบุ

เขื่อนบางลาง เป็นเขื่อนที่ก่อสร้างกั้นแม่น้ำปัตตานี ในเขตบ้านบางลาง ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ห่างจากตัวอำเภอเมืองยะลา 58 กิโลเมตร มีความสูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 430 เมตร กว้าง 10 เมตร สามารถเก็บน้ำได้ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนมีพื้นที่ 2,080 ตารางกิโลเมตร

ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางถือว่าต่ำมากที่สุดในรอบ 35 ปี เนื่องจากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในพื้นที่ตั้งเขื่อนมีฝนตกน้อยมาก

ซึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำที่จะมีผลต่อพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ลดต่ำลงจนอยู่ในระดับวิกฤติ

เจ้าหน้าที่กล่าวในที่ประชุมว่า สาเหตุเกิดจากการทำลายป่า 200 กว่าไร่ ทำให้ฝนทิ้งช่วงหลายเดือน อีกทั้ง ยังส่งผลให้ช้างป่า ต้องออกมาหากิน ในพื้นที่ทำกินของพี่น้องประชาชนอีกด้วย

เขื่อนบางลาง เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำปัตตานี และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกของภาคใต้ น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลางสามารถอำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทานแก่พื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดยะลา และปัตตานี เป็นพื้นที่ 380,000 ไร่ ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกมาสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ถือเป็นคุณประโยชน์มหาศาลต่อประชาชนทั่วภูมิภาค

นายนิมูหะมัดนุรดีนเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ประชาชนในพื้นที่รอบเขื่อนได้นำภาชนะมาใช้เพื่อกักเก็บน้ำสำรองแล้ว ขณะที่ ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ได้เร่งแจกจ่ายภาชนะเพื่อให้ประชาชนใช้สำรองน้ำแล้ว โดยถือเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำแล้งแบบชั่วคราว

ด้านนายมะอูเซ็ง เซ็งบากา ชาว อ.ธารโต จ.ยะลา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรับทราบภาวะขาดแคลนน้ำเป็นอย่างดี และหลายครอบครัวที่ทำการเกษตรได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้แล้ว

“ชาวบ้านเริ่มขาดน้ำทำการเกษตร เพราะน้ำที่มีต้องประหยัด เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนมากกว่านำมาใช้ทางการเกษตร เราต้องยอมให้พันธ์ุไม้แห้งตายไปบ้าง ดีกว่าขาดน้ำใช้สอยในครัวเรือนซึ่งสำคัญกว่า” นายมะอูเซ็งกล่าว

“การแก้ปัญหาตอนนี้ ชาวบ้านหลายพื้นที่เตรียมสำรองน้ำบ้างแล้ว บางพื้นที่ได้กั้นพื้นที่ทำฝายเล็กๆ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้” นายมะอูเซ็งเพิ่มเติม

ส่วนนายมามะการีม มะเย๊าะ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กล่าวว่า อบต.คูหา ได้พยายามแก้ไขปัญหาน้ำแล้งเบื้องต้น ด้วยการหาภาชนะ เพื่อใส่น้ำสำรองสำหรับส่วนรวมแล้ว

“ได้นำถังน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้ 2,500 ลิตร ให้กับชาวบ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วงขาดน้ำ หรืออาจเกิดภัยแล้งโดยใช้ศูนย์รวมเป็นมัสยิดซอฮาบัติ บ้านต้นปีก” นายมามะการีมกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง