เจ้าหน้าที่ไทยจับยาไอซ์สามล็อตใหญ่กว่า 2 พันล้าน ในช่วงหนึ่งสัปดาห์
2018.04.03
กรุงเทพฯ

หน่วยงานปราบปรามยาเสพติด สามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบขนยา ค้ายาเสพติดข้ามชาติ โดยเฉพาะสามารถยึดยาไอซ์ได้สามล็อตใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมน้ำหนักกว่า 2 ตัน มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ในห้วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่ามีแหล่งผลิตในรัฐว้า ถูกลักลอบผ่านประเทศไทยไปยังมาเลเซียเพื่อส่งต่อไปจำหน่ายในประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา
ในล็อตแรกนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด สามารถยึดยาไอซ์ล็อตใหญ่ 703 กิโลกรัม ราคา 703 ล้านบาท ได้ที่ชุมพร เมื่อวันพุธที่ 28 มีนาคมนี้ ส่วนล็อตที่สองจับได้ในวันอังคารที่ 2 เมษายน นี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 9 ในจังหวัดสงขลา สามารถยึดยาไอซ์ได้ 651 กิโลกรัม มูลค่า 651 ล้านบาท
และล็อตที่สาม เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง หรือ นรข. เขตเชียงราย ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกองทัพเรือ จับกุมเครือข่ายลักลอบขนยาเสพติดข้ามชาติ บริเวณริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นช่องทางธรรมชาติ พร้อมของกลางยาไอซ์อีก 788 กิโลกรัม มูลค่า 788 ล้านบาท และยาบ้า 9 ล้านเม็ด ในรถยนต์กระบะที่ถูกจอดทิ้งไว้ที่ริมแม่น้ำโขง พร้อมจับกุมผู้ต้องสงสัยสามราย ในหมู่บ้านไทยเจริญ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เมื่อตอนเช้าของวันอังคารนี้
“การจับกุมยาไอซ์ 788 กิโลกรัม ทำให้เห็นว่าการผลิตยังไม่หยุด เพราะโซเดียมไซยาไนด์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทองคำสามารถนำมาทำเป็นสารตั้งต้นการผลิตยาเสพติดได้ ข้อตกลงทางการค้าเสรีอนุญาตให้สารนี้ข้ามฟากได้ เนื่องจากเป็นตัวทำละลายทอง แต่กลุ่มค้ายานำไปสกัดเป็นยาเสพติด” พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวในการแถลงข่าวที่สำนักงานกองบัญชาการฯ ในวันนี้ โดยระบุถึงล็อตที่ นรข. จับยึดได้ที่เชียงราย
พล.ต.ท.สมหมาย ยังระบุด้วยว่า การจับกุมขบวนการลักลอบยาเสพติดข้ามชาติอย่างต่อเนื่องและพบปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยาเสพติดที่ผลิตโดยกลุ่มว้าทางตอนเหนือของประเทศไทยมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่ขณะนี้ ขาดแคลนมาก จึงมีความต้องการสูง ทำให้ราคาสูงขึ้น
โดย พล.ต.ท.สมหมาย ระบุด้วยว่า ยาบ้าจากราคาเม็ดละ 1 บาท จะมีมูลค่าถึงเม็ดละ 200 บาท เมื่อถึงประเทศไทย และราคาจะสูงถึงเม็ดละ 500 บาท เมื่อถึงยังประเทศที่สาม ในขณะที่ยาไอซ์ราคาผลิตกิโลกรัมละ 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 1,000 เท่าต่อกิโลกรัม หากไปถึงมือผู้รับในประเทศที่สาม ขบวนการฯ จึงทำงานเป็นกองทัพมด เพื่อลำเลียงยาเสพติดจากภาคเหนือไปยังประเทศมาเลเซียทุกช่องทางที่จะทำได้ให้มากที่สุด
ในช่วงเวลาหกเดือนของปีงบประมาณ 2561 สามารถจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้กว่า 1,000 คดี ในขณะที่มีสถิติการจับกุมยาเสพติด ในปีงบประมาณ 2559 ได้ 456 คดี ส่วนในปีงบประมาณ 2560 จับกุมได้ 453 คดี
ยานรกจากรัฐว้าสู่ตลาดโลก
ในการแถลงข่าวการจับกุมยาเสพติดในส่วนของกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้นำของกลางที่ บช.ปส. ยึดได้ในช่วงวันที่ 25 มี.ค.-1 เม.ย.ที่ผ่านมา จากการจับกุมผู้ค้าจำนวน 11 คดี นำมาแสดงต่อสื่อมวลชน ซึ่งรวมทั้งยาไอซ์ล็อตที่จับได้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม หนัก 703 กิโลกรัม โดยมียาเสพติดส่วนอื่นๆ ดังนี้ คือ ยาบ้า 1,783,263 เม็ด, กัญชา 1,380 กิโลกรัม, โคเคน 671 กรัม, โคคาอีน 800 กรัม, ยาอี 90 เม็ด และคีตามีน 0.6 กรัม รวมมูลค่ายาเสพติดในส่วนนี้ 890,180,900 บาท
จากการสืบสวนสอบสวนของ บช.ปส. พบว่า ยาเสพติดส่วนใหญ่ผลิตจากกลุ่มว้าซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย โดยมีเครือข่ายกองทัพมดทำงานขนส่งยาเสพติดจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ซุกซ่อนในตัวไก่โดยผ่ากลางลำตัวแล้วยัดยาเสพติดไว้ภายในก่อนนำข้ามแม่น้ำโขงมา หรือ ซุกซ่อนในรถขนส่งผลไม้ จากจังหวัดในภาคเหนือสู่ชายแดนภาคใต้ ก่อนนำเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย และออกทะเลไปขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย และกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
“การลำเลียงยาจากว้าจะเข้ามาทางภาคเหนือ หรือทุกวันนี้ เริ่มเข้ามาทางแม่น้ำโขงไหลมาทางลาว เข้ามาทางรอยต่อชายแดนกัมพูชา เพื่อเข้ามาทางประเทศไทย แล้วส่งต่อไปประเทศมาเลเซีย ที่จะเป็นศูนย์กลางในการกระจายยาเสพติดไปยังทุกภูมิภาคนี้ ทางมหาสมุทรอินเดีย ออสเตรเลีย รวมไปถึงอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา” พล.ต.ต.ชยพจน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์