ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พรป.เลือกตั้ง สส. - สว. แล้ว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.09.12
กรุงเทพฯ
180912-TH-vote-800.jpg ชายไทยลงคะแนนเสียง ประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่หน่วยเลือกตั้ง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559
เอพี

ในวันพุธนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายในต้นปีหน้า ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติประกาศ คลายล็อคทางการเมือง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเพื่อหาเสียงเลือกตั้งได้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ระบุว่า คสช. กำลังพิจารณาคลายล็อคทางการเมือง ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้บางอย่าง หลังกฎหมายประกอบการเลือกตั้งประกาศใช้ แต่จะยังคงห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งอาจจะปลดล็อคนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม หรือ ช่วงเวลาที่ใกล้วันเลือกตั้ง เพื่อความสงบเรียบร้อย ไม่อยากให้มีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 คือเรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยให้มีการออกพระราชพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวน 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองอีก 150 คน

“ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ” มาตรา 171 ของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ระบุ

ในส่วนสาระสำคัญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 นั้น กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ถวายคำแนะนำ โดยระบุหลักเกณฑ์และวิธีการการได้มาของ ส.ว. ไว้ในมาตรา 90 ดังนี้ (1) ให้ กกต.จัดให้มีการเลือก ส.ว. ด้วยการเลือกกันเอง ทั้งในระดับจังหวัดและประเทศให้ได้ จำนวน 200 คน และส่งบัญชีรายชื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 คน (2) ให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ ส.ว.และการปฏิรูปประเทศจำนวน ไม่เกิน 400 คน โดย คสช. จะคัดเลือกให้เหลือ 194 คน โดยให้ คสช. ดำเนินการคัดเลือก ส.ว. จำนวน 244 คนนี้ให้แล้วเสร็จ ก่อนวันเลือกต้้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน และ (3) ให้ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งหมด 6 คน เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง

หลังจากที่ พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. และ การได้มาของ ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันนี้แล้ว เป็นที่คาดการณ์กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในฐานะหัวหน้า คสช. สั่งให้มีการคลายล็อคให้กับพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้ 6 ข้อ ประกอบด้วย การรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม, แก้ไขข้อบังคับพรรคเพื่อเลือกหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค, จัดประชุมใหญ่พรรคฯ, ตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง, และไพรมารีโหวตได้ เพื่อเปิดทางนำไปสู่การเลือกตั้ง และไม่ต้องการให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ปลดล็อคให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมหาเสียง สำหรับเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งนายกฯ ระบุว่าต้องดูเรื่องความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก

สำหรับการกำหนดวันเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเมื่อปลายเดือนสิงหาคมว่า น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอมา แต่หากว่าทำไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง

“การเลือกตั้ง จำเป็นต้องพิจารณาตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอมาคือ จะต้องเป็นในวันอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเตรียมการและการลงคะแนน วันอาทิตย์แรกที่กำหนดไว้คือ วันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ. ซึ่งก็ยังเป็นตามกรอบเวลาเดิมเร็วสุดตามนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การอนุญาตให้หาเสียงในเดือนธันวาคม 2561 หรือ 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรค

“การหาเสียงมีเวลาสองเดือน ไม่น่าจะมีปัญหา คิดว่าทัน แต่ต้องคลายล็อคให้พรรคสามารถทำกิจกรรมบางอย่าง ก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง เรื่องเลือกตั้ง เขากำหนดมาก็ต้องปฎิบัติการตามนั้น แต่ก่อนเดือนธันวาคม ต้องมีการคลายล็อค ให้ทำการบางเรื่องได้ ไม่อย่างนั้นอาจต้องมีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งออกไปอีก” นายนิพิฏฐ์ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง