ดีเอสไอ ส่งอัยการฟ้องให้ยุบ-ยึดทรัพย์ มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.11.29
กรุงเทพฯ
181129-TH-dhammakaya-623.jpg พระและลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย รวมตัวสวดมนต์โดยรอบรั้ววัดพระธรรมกาย เพื่อขัดขวางการบุกเข้าตรวจค้นวัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ วันที่ 4 มีนาคม 2560
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ดีเอสไอ มีมติให้มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโยฯ) และกรรมการมีความผิดจริง ในข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และได้เสนอให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลสั่งให้ยุบ และยึดทรัพย์สินของมูลนิธิฯ ทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดินแล้ว โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อายัดทรัพย์สินบางส่วนไว้แล้วก่อนหน้านี้

จากกรณีที่ ดีเอสไอ รับทำสำนวนคดีฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ร่วมกันทุจริตเป็นเงินมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท นำไปสู่การดำเนินคดีกับพระธัมมชโย และผู้เกี่ยวข้องในความผิดฐานร่วมกันรับของโจร ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน แล้วนั้น จากผลการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ดีเอสไอ ยังพบการกระทำความผิดที่เชื่อมโยงไปถึงมูลนิธิคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับนางวรรณา จีรกิติ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และนางสาวอารีพันธุ์ ตรีอนุสรณ์ เลขามูลนิธิฯ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ในข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ตามความผิดมาตรา 3(3), 5, 9, และมาตรา 60 พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ซึ่งถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ นางวรรณาจะได้ทำหนังสือชี้แจงข้อมูลแล้ว แต่ดีเอสไอ มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี จึงมีมติร่วมกับอัยการเห็นควรกล่าวโทษมูลนิธิฯ และกรรมการ ว่ามีความผิดในข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และจากการดำเนินการผิดวัตถุประสงค์การก่อตั้งมูลนิธิฯ เสนอศาลสั่งยุบมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินมูลนิธิฯ ตกเป็นของแผ่นดิน

“จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า นายศุภชัย สั่งจ่ายเช็คในนามสหกรณ์ฯ คลองจั่น อีก 11 ฉบับ เข้าบัญชีพระธัมมชโยโดยตรงกว่า 530 ล้านบาท และสั่งจ่ายเช็คเข้าบัญชีวัดพระธรรมกายอีก 700 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างอาคารลูกโลกและวิหารคต รวมเงินทั้งสิ้นเกือบ 1,500 ล้านบาท ซึ่งทาง ปปง. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินชั่วคราว ทั้งเงินสดและอาคารทั้ง 2 หลังแล้ว” พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าว

“มูลนิธิฯ ทำผิดกฎหมายเรื่องการฟอกเงิน ในคดีอาญาปรากฏว่า เงินของสหกรณ์ เข้ามาในมูลนิธิฯ และถูกกระจายออกไป... จึงจะขอให้ศาลพิจารณายึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายแพ่ง” นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวในการร่วมแถลง

ด้าน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ดีเอสไอ กล่าวว่าข้อมูลด้านคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ขณะนี้มีทั้งหมด 23 คดี เสร็จสิ้นไปแล้ว 12 คดี ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่า การสอบสวนทั้งหมดอยู่ที่เส้นทางการเงินและทรัพย์สินที่ตรวจสอบพบ และจะขยายผลการสอบสวนต่อไปซึ่งเป็นผลให้จำนวนคดีอาจมีมากขึ้นและใช้เวลานาน

“จากการตรวจสอบ ขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีการโอนเงินจากในประเทศไปใช้ในวัดสาขาต่างประเทศ แต่เราก็กำลังตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง” พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าว

โดย พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า เนื้อที่วัดพระธรรมกายจริงๆ มีเพียง 196 ไร่ ที่เป็นธรณีสงฆ์ แต่ที่เหลือที่เห็นเป็นอาคารต่างๆ อยู่ในบัญชีทรัพย์สินของของมูลนิธิฯ ไม่ใช่ของวัด ซึ่งเข้าข่ายที่ต้องถูกดำเนินการอายัดให้ตกเป็นของแผ่นดิน

“สำหรับการติดตามตัว พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตามตัวทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง” อธิบดี ดีเอสไอ ระบุ

คดีฟอกเงินและรับของโจรของพระธัมมชโย

ในเดือนมีนาคม 2559 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 32 ปี แต่ศาลลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 16 ปี ฐานยักยอกทรัพย์และจัดการทรัพย์ผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นเงินกว่า 22 ล้าน ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของคดีนี้แล้ว พบว่า มีเงินบางส่วนเชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย

ดีเอสไอ ตรวจสอบว่าพระธัมมชโย รวมถึงเครือข่ายวัดพระธรรมกาย รับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวม 21 ครั้ง เป็นเงิน 1,205,160,000 บาท โดยไม่มีมูลหนี้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2559 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนคดีฟอกเงินและรับของโจรของพระธัมมชโยให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ โดยพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องพระธัมมชโยในความคิดฐานฟอกเงินและรับของโจร นำไปสู่การตรวจสอบการกระทำผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายหลายคดี

หลังการตัดสินจำคุกนายศุภชัย ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกพระธัมมชโยให้เข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในเดือนมีนาคม 2559 แต่ทนายความของพระธัมมชโยยืนยันว่า พระธัมมชโยมีอาการอาพาธจึงไม่สามารถไปตามนัดได้ กระทั่งเดือนเมษายน 2559 มีการออกหมายจับพระธัมมชโย แต่วัดพระธรรมกายได้แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และในเดือนพฤษภาคม 2559 สื่อของวัดพระธรรมกายเผยแพร่ภาพของพระธัมมชโย ขณะอยู่ภายในวัด แต่หลังจากนั้นพระธัมมชโยไม่เคยเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนอีก

กระทั่ง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ให้พื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม ก่อนเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตำรวจ และทหาร นำกำลังกว่า 4,000 นายล้อมและบุกค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมตัวพระธัมมชโย แต่แม้ว่าการตรวจค้นจะดำเนินไปเกิน 23 วันแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถหาตัวพระธัมมชโยได้ ดีเอสไอ ได้ประกาศยุติการค้นหาในบริเวณวัดพระธรรมกาย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง