ทหารพรานปัตตานี ใช้อาชาบำบัดเด็กป่วย

มารียัม อัฮหมัด
2017.10.05
ปัตตานี
171005-TH-equine-620.jpg เจ้าหน้าที่ทหารพรานขณะทำอาชาบำบัดให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ที่ฐานปฎิบัติการทหารพรานที่ 44 ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 5 ตุลาคม 2560
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 46 และผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานปัตตานี กล่าวในวันพฤหัสบดี (5 ตุลาคม 2560)ว่า มีเด็กและผู้ปกครอง กว่า 200 คน ได้เข้าร่วมในโครงการอาชาบำบัดให้กับเยาวชนที่มีอาการผิดปกติทางด้านสมอง ที่กรมทหารพรานที่ 44 ทั้งนี้ มีเด็กจำนวนในสามจังหวัดชายแดนใต้กว่าร้อยละ 60 ไม่ได้รับวัคซีนครบ เพราะอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ

ฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 44 ตั้งอยู่ที่ ม.2 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ได้เปิดโครงการอาชาบำบัดมากว่าหนึ่งปีแล้ว ทั้งยังสถานที่ทำงานของทหารพรานสองนายที่เสียชีวิตจากลอบวางระเบิดรถยนต์ ในอำเภอสายบุรี เมื่อเร็วๆ นี้

“โครงการอาชาบำบัด เป็นโครงการของกองทัพบก มีหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 44 ดูแล มีสมาชิกซึ่งเป็นเด็กและชาวบ้านในพื้นที่ กว่า 200 คน ทุกๆ วัน จะมีผู้ปกครองพาเด็กเข้ามาร่วมบำบัด... โครงการอาชาบำบัด คือ การใช้ม้าในการช่วยรักษา อาชาบำบัดสามารถใช้รักษาโรคได้หลายโรค เช่น โรคที่เกี่ยวกับสมอง หรือที่เรียกกันว่า เด็กพิเศษ โรคสมาธิสั้น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหลัง ปวดกระดูก” พล.ต.จตุพรกล่าว

น.ส.รอฮานิ เจะอาแซ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำงานวิจัยมานานหลายปี พบว่าปัญหาความรุนแรงส่งผลกระทบด้านการสาธารณสุขในเด็กอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี มีภาวะขาดวัคซีนมากที่สุด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

“ประเด็นหลักที่เจอเรื่องของวัคซีน คือ เรื่องความรุนแรง จะเห็นว่าเด็กที่เติบโตมาในพื้นที่ที่มีความรุนแรงมาก โอกาสที่เขาจะได้รับวัคซีนครบจะน้อยมาก และยิ่งรุนแรงมาก ยิ่งได้รับไม่ครบ คงต้องไปดูระบบพื้นที่ว่ามีปัญหาอย่างไร เช่น บุคลากรไม่กล้า ทำให้การทำงานเชิงรุกอาจลดลงหรือไม่ ขณะเดียวกันมีเรื่องของความเชื่อบางอย่างที่ผสมเข้าไปด้วย” น.ส.รอฮานิกล่าว

น.ส.รอฮานิกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ดูแลเด็กเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีผลต่อการเข้ารับบริการทางสุขภาพ เพราะในบริบทปัจจุบัน บิดา-มารดาของเด็กส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ทำให้เด็กจะถูกปล่อยให้อยู่กับผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุบางราย ไม่สามารถดูแลพาเด็กไปรับวัคซีนได้ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพเช่นกัน

ตามแผนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติ เด็กไทยจำเป็นต้องได้รับ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (DTP) ให้ครบถ้วน แต่เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรุนแรง มักขาดโอกาสนั้น

องค์การยูนิเซฟ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ ว่า การได้รับวัคซีนของเด็กยังคงเป็นปัญหาสำคัญในจังหวัดชายแดนใต้ ในขณะที่ทั่วประเทศไทยมีเด็กอายุ 12-23 เดือน ร้อยละ 72 ได้รับภูมิคุ้มกันครบก่อนอายุ 1 ปี  สัดส่วนนี้ต่ำมากในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ที่เพียงร้อยละ 37 ร้อยละ 39 และร้อยละ 40 ตามลำดับ

และพบอัตราของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะผอมแห้งหรือภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันในจังหวัดชายแดนใต้ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเช่นกัน อัตรานี้สูงสุดในจังหวัดปัตตานี เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในชายแดนใต้ คือร้อยละ 13 ตามด้วยจังหวัดนราธิวาสที่ร้อยละ 11 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 5

พบเด็กในจังหวัดนราธิวาสมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นสูงถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11 ในขณะที่จังหวัดยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา อัตรานี้อยู่ที่ร้อยละ 21 ร้อยละ 19 ร้อยละ 17 และร้อยละ 13 ตามลำดับ

นางกลือซง สาแม มารดาของหนึ่งในผู้ร่วมโครงการอาชาบำบัดเปิดเผยว่า การเข้าโครงการทำให้บุตรของตนมีสุขภาพดีขึ้น

“ตั้งแต่พาลูกชายมาบำบัดเขามีอาการดีขึ้น นิ้วเริ่มกระตุกเห็นแล้ว มีความหวัง จากที่เขาพิการนอนนิ่งๆไม่ตอบสนองอะไร พอเข้ามาบำบัดด้วยม้าบำบัดกับทหารทำให้เห็นความหวัง ขอบคุณทหาร 44 มากที่ช่วยเหลือ แถมไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย” นางกลือซงกล่าว

วิธีการบำบัดโดยอาชา

อาชาบำบัด คือการใช้ม้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดรักษาผู้ป่วย โดยเป็นวิธีการรักษาที่เริ่มมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี ค.ศ.1960 ในทวีปยุโรป และอเมริกา นิยมใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยเด็กออทิสติก

การบำบัดจะให้ผู้ป่วยขึ้นนั่งบนหลังม้า โดยมีผู้ช่วยคอยดูแลใกล้ชิด และให้ม้าเดินไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะได้ฝึกการควบคุมสมาธิในการทรงตัวไม่ให้ตกจากหลังม้า จังหวะการเดินของม้ามีความใกล้เคียงกับของคน การเคลื่อนไหวของม้า จะส่งผลถึงกล้ามเนื้อของผู้ป่วยซึ่งขี่อยู่ เป็นการกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ผู้ป่วยจะลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ สร้างสมดุลให้สมองและกล้ามเนื้อ โดยการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ

ม้าที่ใช้ในการทำอาชาบำบัด มักจะเป็นม้าลูกผสม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัวไม่ใหญ่มากนัก เพราะเหมาะกับขนาดตัวของผู้ป่วยเด็ก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง