สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปล่อยข้อมูลรั่วไหลทางอินเตอร์เน็ต
2016.03.28
กรุงเทพฯ

ผู้พัฒนาโปรแกรมให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้เปิดเผยข้อมูลของคนต่างชาตินับร้อยคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ทางเวบไซต์ ทำให้กลุ่มชาวต่างชาติพากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว
โปรแกรมเมอร์ที่ใช้ชื่อว่า Akram Aleeming ได้โพสต์ทางเฟซบุ๊คในวันจันทร์นี้ว่า ตนเองเป็นผู้เปิด “ระบบออนไลน์แบบปิด” ที่เป็นเวบไซต์แบบสองทาง (Interactive) http://www.adsum.in.th/index.php ที่มีตราสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยสามารถคลิ้กดู ชื่อ-สกุล หมายเลขพาสปอร์ต ที่อยู่ รวมทั้งอาชีพของชาวต่างชาติที่เดินทางมายังภาคใต้ของประเทศไทยจำนวนหลายร้อยคน ในช่วงคืนวันอาทิตย์ต่อกับเช้าของวันจันทร์ที่ผ่านมา
“วันนี้ผมเจอปัญหาความผิดพลาดในการทำงานนะครับ แต่เรื่องดังกล่าวน้อมรับความผิดพลาดครับ” โปรแกรมเมอร์ที่ใช้ชื่อบัญชี Akram Aleeming โพสต์ในเฟซบุ๊คในวันนี้
“ได้สอบถามผู้เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ใช่เป็นข้อมูลทั้งหมดนะครับ แต่เป็นเพียงแค่บางส่วน ที่นำมาทดสอบระบบเป็นระบบออนไลน์แบบปิด และไม่ได้เจตนาเผยแพร่ หลังจากได้รับการเผยแพร่จากต้นเรื่องช่วงตี 1 ก็ดำเนินการแก้ไขทันทีครับ” เฟซบุ๊คดังกล่าวชี้แจงเพิ่มเติม
ทางด้านพลตำรวจโทณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปนั้นเป็นข้อมูลเดโมที่โปรแกรมเมอร์ได้ขึ้นมาเพื่อการทดลองระบบและไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่สู่สาธารณชน
“ข้อมูลที่หลุดออกไป เป็นข้อมูลเดโมที่โปรแกรมเมอร์เคยทำไว้ ก็ไม่ทราบว่าเขาไปหลุดออกในตอนไหน เป็นเว็บภายในและเป็นเดโมเฉยๆ ครับ มีคนคร็อปหน้าจอไป แต่ความจริงแล้ว เราไม่ได้เปิดสู่สาธารณชนนะครับ” พล.ต.ท.ณัฐธร กล่าว
เรื่องราวการปล่อยข้อมูลรั่วไหลทางอินเตอร์เน็ตดังกล่าว ถูกเปิดเผยทางเฟซบุ๊คของ นาย Andrew MacGregor Marshall โดยก่อนเวบไซต์จะถูกปิดลง ได้คร็อปหน้าจอของเว็บไซต์ดังกล่าวไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊คของตน พร้อมเตือนให้ชาวต่างชาติได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะข้อมูลหลายอย่างอาจจะถูกผู้ไม่ประสงค์ดี นำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ย้ำว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเดโมเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลจริง
“เขาไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ เพราะไม่ได้เป็นข้อมูลจริงๆ เกี่ยวกับชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่เราทำอยู่แล้วนะครับ เป็นข้อมูลที่เราทำเพื่อให้ทราบว่า ชาวต่างชาติแต่ละกลุ่มอยู่ที่ไหนบ้าง” พล.ต.ท.ณัฐธร กล่าวเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ ทางการไทยได้เข้มงวดกับการขอวีซ่าสื่อมวลชน และการขอใบอนุญาตทำงานของผู้สื่อข่าวอิสระ ทำให้เกิดความอ่อนไหวในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการรายงานข่าวที่มีความอ่อนไหวในเรื่องการเมือง ความมั่นคง และสถาบันพระมหากษัตริย์