กรมประมง: ยังเข้มงวดแม้ปลดใบเหลืองไอยูยู
2019.01.17
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้แถลงข่าวว่า ทางการไทยจะยังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายประมงอยู่ต่อไป แม้ว่าทางสหภาพยุโรป (European Union) ได้ยกเลิกสถานะใบเหลืองของประมงไทยแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน ต้องการให้รัฐแก้กฎหมายบางตัวที่มองว่าจำกัดสิทธิของชาวเรือประมงขนาดเล็กกว่า 27,000 ลำ
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงข่าวเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับการยกเลิกสถานะใบเหลือง ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) โดยระบุว่า การได้สถานะใบเขียวจากสหภาพยุโรปครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่รัฐจะยังดำเนินการตรวจสอบและแก้ปัญหาอย่างเข้มงวดต่อไป
“เป็นเรื่องที่น่าดีใจ ที่เราได้ทำการยกใบเหลืองไปแล้ว ได้ใบเขียวแล้ว ใบเหลืองไม่ได้เป็นการลงโทษ ใบเหลืองเป็นการแจ้งเตือนว่าประเทศไทยมีปัญหาในการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาที่เราไม่มีการประมงที่ยั่งยืน การที่ได้ใบเขียวครั้งนี้เหมือนเป็นการบอกว่าเรามาถูกทางแล้ว” นายอดิศร กล่าว
“แนวทางนี่ดำเนินการต่อไปก็จะเหมือนที่ทำมาตลอด กฎหมายก็มีคนบอกว่ากฎหมายแรงไป เข้มข้นมากเกินไป แต่เราก็ยังคงทำงานร่วมกับชาวประมง เครื่องมือที่ผิดกฎหมายก็ต้องไม่ใช้ การกำหนดวันทำประมงก็จะต้องดูตามสถานการณ์” นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ อียูได้ออกใบเหลืองให้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 จากปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ทำให้รัฐบาลไทยพยายามดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประมงอย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำประมง แรงงานประมง โดยได้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ
จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่ 8 มกราคม 2562 กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ได้ประกาศว่าได้ยกเลิกสถานะใบเหลืองของประเทศไทยแล้ว
นายอดิศร ระบุว่า การได้สถานะใบเขียวของประเทศไทย น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไปยังต่างประเทศ แต่เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน กว่าที่ต่างประเทศจะมีการเจรจาซื้อขาย หรือเข้าใจสถานะการประมงไทย
“การส่งออก ถ้าประเทศเรามีความน่าเชื่อถือที่ดี ผู้นำเข้าจากต่างประเทศก็จะจับสินค้าประมงเรามากขึ้นการค้าระหว่างประเทศก็มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” นายอดิศร กล่าว
สำนักงานเลขานุการด้านการค้าของสหภาพยุโรปรายงานว่า ตัวเลขส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของไปอียูอยู่ที่ 456.6 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560
ประมงพื้นบ้าน และเอ็นจีโอเรียกร้องแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง
ส่วนการประมงพื้นบ้านนั้น นายอดิศรกล่าววา จะต้องมีการประชุมร่วมกันและวางแผนระยะยาว
“เรือประมงพื้นบ้าน มีประมาณ 2.7 หมื่นลำ ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าเขาต้องการการช่วยเหลืออย่างไร ต้องมีการหารือร่วมกันต่อไปในอนาคต” นายอดิศรระบุ
ในเรื่องนี้ นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การแก้ไขปัญหาไอยูยูของทางการไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อกฎหมายที่กลุ่มประมงพื้นบ้านมองว่าละเมิดสิทธิของพวกเขา และอยากให้รัฐบาลแก้ไข
“ถ้าพูดตรงๆ เดิมทีพี่น้องประมงพื้นบ้าน ไม่ได้เกี่ยวกับไอยูยูเลย แต่กระบวนการแก้ปัญหาของรัฐ มาส่งผลกระทบกับประมงพื้นบ้าน เช่น พระราชกำหนดการประมง 60 ห้ามผู้ที่ได้รับอนุญาตทำประมงพื้นบ้านหาปลานอกชายฝั่ง คือเกิน 3 หรือ 2 ไมล์ทะเลในบางพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายยังไม่ได้อนุญาตให้ใครเป็นประมงพื้นบ้าน ดังนั้น จึงยังไม่มีใครทำผิด แต่ถ้าหากอนาคตมีการอนุญาตทำประมงพื้นบ้าน เท่ากับว่า ประมงพื้นบ้านจะถูกจำกัดพื้นที่ทำประมงทันที” นายสะมะแอ กล่าว
นายสะมะแอ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อระบุให้ชัดเจนว่า ชาวประมงพื้นบ้านคือใคร ให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ตันกรอส ถือเป็นชาวประมง 80 เปอร์เซ็นต์ของประมงทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งถ้าหากถูกจำกัดให้ทำประมงเฉพาะเขต 3 ไมล์ทะเล เท่ากับว่าเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรือประมงส่วนที่เหลือได้พื้นที่ทำประมงตั้งแต่ 3-200 ไมล์ทะเล คือ สุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ประมงที่ใหญ่กว่า
เอ็นจีโอเรียกร้องให้ดูแลเรือไทย-สัญชาติอื่น
ขณะเดียวกัน น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับการยกสถานะใบเหลือจากอียูแล้ว โดยระบุว่า การดูแลเรือไทย ซึ่งไปถือสัญชาติอื่น และการดูแลคุณภาพชีวิตลูกเรือเป็นสิ่งที่สำคัญ
“ฉันเพิ่งไปลงทางใต้ ระนอง พังงา เห็นว่ายังไม่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเรือ ถึงได้ใบเขียวแล้ว แต่รัฐยังต้องบังคับใช้กฎหมายต่อ ต้องแก้ปัญหาแรงงานบังคับต่อเนื่อง” น.ส.ปฏิมา กล่าว
“อีกอันนึงก็คือ เข้าใจว่า มีเรือสองสัญชาติ ไทย-เมียนมา หรือไทย-มาเลเซีย หรืออินโดนิเซีย ทำให้เราไม่แน่ใจว่า เรือที่ถือธงพม่าแต่เจ้าของเป็นไทย ได้รับการดูแลไหม ตกเป็นเหยื่อหรือเปล่า เป็นเรือที่ติดไอยูยูหรือเปล่า รัฐบาลไทยอาจต้องให้ความสำคัญเจรจากับรัฐบาลต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะเรือที่แปลงสัญชาติ ต้องประสานกับต่างชาติร่วมตรวจสอบว่าเรือทำประมงทำลายล้างหรือไม่ด้วย” น.ส.ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนั้น น.ส.ปฏิมา ยังได้กล่าวอีกว่า ต้องการให้รัฐดูแลความปลอดภัยของชาวประมง เพราะปัจจุบันเห็นข่าวปล้นเรือไทย ในพื้นที่คาบเกี่ยวน่านน้ำไทย-เมียนมา
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลแก่เบนาร์นิวส์ว่า ประเทศไทยมีเรือประมงพาณิชย์ 10,600 ลำ มีลูกเรือประมาณ 7 หมื่นคน ยังขาดแคลนลูกเรืออีกราว 4 หมื่นคน ขณะที่ แอลพีเอ็นสำรวจพบว่า นับตั้งแต่ปี 2557-2561 มีแรงงานประมงที่ถูกละเมิด 2,554 คน โดยมี 326 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์