กลุ่มเรือประมงปัตตานี เรียกร้องรัฐทบทวนกฎหมาย พร้อมเสนอข้อแก้ไข
2015.07.03

วันนี้ที่ 3 ก.ค. 2558 นายสุรัตน์ ธวัชสานนท์ แกนนำกลุ่มเรือประมงและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่อประมงในพื้นที่ จ.ปัตตานี ได้นำผู้ประกอบการเรือประมง และอุตสาหกรรมประมงที่เกี่ยวข้อง กว่า 200 คน รวมตัวแสดงพลัง พร้อมชูป้ายผ้า 11 ผืน มีข้อความสื่อถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และรัฐบาล ขอความเห็นใจและความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเรือประมง ที่ยังไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงเรือประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้ถูกห้ามออกจับสัตว์น้ำในทะเล ณ บริเวณลาน หน้าศาลากลาง ประจำจังหวัดปัตตานี หน้าอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 เขตเทศบาลเมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา
ผู้ชุมนุมได้นำดอกกุหลาบ พร้อมธูปเทียนไปสักการะอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 เพื่อขอพรให้ช่วยเหลือกลุ่มชาวประมงให้ผ่านพ้นวิกฤต ก่อนนำกลุ่มชาวประมงเข้าพบ นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมยื่นหนังสือขอให้ภาครัฐทบทวนการบังคับใช้กฎหมาย และขอให้แก้ไขปัญหาที่ผู้ประกอบการเรือประมงไม่สามารถออกจับปลาได้ โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวได้เสนอแนวทางแก้ไขไว้ 4 ข้อคือ
1.แก้ไขประกาศกฎกระทรวง เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมจำนวนเครื่องมือทำการประมงอวนลาก และอวนรุน พ.ศ. 2539 และเรื่องกำหนดให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในการจับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2543 พร้อมเสนอให้ใช้กฎระเบียบตามหลักสากลไอยูยู (IUU) มาจับแต่ละเครื่องมือ เท่านี้เรือประมงก็ถูกกฎหมาย และตอบโจทย์ไอยูยู (IUU) ได้
2.แก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมนี้ ระยะแรกขอให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ตลอดตามโควตาที่ขอไว้ต่อสำนักงานจัดหางาน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย ระยะที่สอง ตั้งศูนย์บริการด้านแรงงานที่ชายแดน เพื่อรับแรงงานที่ถูกกฎหมายเข้ามาทำงานในประเทศ และยังสามารถรับข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนแผนระยะยาว ใช้แรงงานที่เรามี MOU ด้วย ทำให้เราสามารถมีแรงงานเพียงพอต่ออุตสาหกรรม ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่มีแรงงาน ธุรกิจประมงจะเดินต่อไปไม่ได้
3.ขอขยายเวลาผ่อนปรนการจัดทำตามมติที่ประชุม ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ครั้งที่ 8/2558 ทั้ง 15 ข้อ เพื่อให้ชาวประมงสามารถไปดำเนินการให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ใน 15 ข้อนี้ เรือประมงก็จะได้ถูกต้องตามกฎหมายที่ภาครัฐต้องการ
และ 4.ในการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อชาวประมง ให้ตัวแทนประมงพาณิชย์ หรือผู้มีส่วนได้เสียได้เข้าไปมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องด้วย
เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านมั่นใจผ่านไอยูยูได้ สนับสนุนนโยบายรัฐ “กำจัดประมงทำลายล้าง”
วันเดียวกัน ที่จังหวัดสงขลา นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “การประมงทำลายล้างจะต้องหมดไปจากประเทศไทย สินค้าสัตว์น้ำปลอดภัยจะเพิ่มขึ้น” ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ทั้งเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟจับลูกปลา
ส่วนใหญ่เป็นการทำประมงแบบธุรกิจของกลุ่มนายทุน โดยใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ อีกทั้งยังลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขต 3,000 เมตร หรือ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์และเป็นพื้นที่ทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งหลายครั้งเกิดการกระทบกระทั่งกัน จนถึงขึ้นมีการทำร้ายชาวประมงพื้นบ้าน และไล่ยิงกันกลางทะเล
“สำหรับประมงพื้นบ้าน เป็นคนในชุมชนท้องถิ่น 85% ของชาวประมงทั้งหมด สามารถจับปลาในทะเลได้ 23% และทั้งหมดส่งขายให้กับประชาชนผู้บริโภค ส่วนปลาอีก 77% จับโดยนายทุนพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ และทำแบบผิดกฎหมาย เชื่อว่า หากสามารถยกเลิกการทำประมงเหล่านี้ได้ ประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปสหภาพยุโรปได้”
ส่วนกรณี วันที่ 4 ก.ค.ที่จะมีเรือประมงพาณิชย์ใน จ.สงขลา และอีกหลายจังหวัด รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงจะประกาศหยุดยาว และอาจทำให้สินค้าทะเลขาดแคลน รวมทั้งราคาสูงขึ้นนั้น ทางสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เห็นร่วมกันว่าจะเปิด “โครงการปันน้ำใจจากชาวประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภคในภาวะสัตว์น้ำขาดตลาด” เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสัตว์น้ำในราคาที่เป็นธรรม โดยประสานกับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน และศูนย์ประสานงานในแต่ละจังหวัดได้โดยตรง
“ผลพวงจากเรือประมงพาณิชย์ใน จ.สงขลา ที่เริ่มหยุดทำการประมง จากมาตรการควบคุมเรือประมงผิดกฎหมาย ที่ได้ดำเนินการมาเป็นวันที่สามแล้วนั้น ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทะเล หรือร้านซีฟู๊ด บริเวณชายหาดแหลมสมิหลา รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งอื่น ๆของ จ.สงขลา
ขณะนี้ ราคาอาหารทะเลเริ่มปรับตัวสูงขึ้นหลายชนิด บางชนิดเพิ่มขึ้นถึงกิโลกรัมละ 40 บาท เช่น ปูม้าจากราคากิโลกรัมละ 260 บาท ปรับขึ้นเป็น 300 บาท ปลาสำลีจากเดิมกิโลกรัมละ 260 บาทปรับขึ้น 300 บาท และปลาหมึกกล้วยตัวใหญ่จากกิโลกรัมละ 120 บาท ปรับขึ้นเป็น 160 บาท