ชาวประมงปัตตานีเดือดร้อนหนัก ผูกคอตายเแล้วหนึ่งราย เครียดจากปัญหาหนี้สิน

นาซือเราะ
2015.09.29
TH-fisheries-620 กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงประเภทอวนล้อมจับ และอวนชั่ง ในพื้นที่อ่าวปัตตานี ประมาณ 120 คน รวมตัวหารือปัญหาและผลกระทบของชาวประมง ที่บ้านแหลมนก ต. บานา อ. เมือง จ. ปัตตานี 29 กันยายน พ.ศ. 2558
เบนาร์นิวส์

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่บ้านแหลมนก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงประเภทอวนล้อมจับ และเรือประมงอวนชั่ง ในพื้นที่อ่าวปัตตานี จำนวนประมาณ 120 คน รวมตัวกัน หารือกรณีปัญหาและผลกระทบของชาวประมง หลังจากคำสั่ง ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และชาวประมงบางรายเดือดร้อนอย่างหนัก จนต้องหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย

นายสุรพงษ์ วงครุฑ ไต้ก๋งเรืออวนรุนผูกคอตาย เพราะความเครียด และกดดันปัญหาหนี้สินที่ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน หลังจากต้องหยุดออกทำการประมงเป็นเวลาเกือบสามเดือนแล้ว  ประกอบกับมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนเข้ามา เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา ล่าสุดทางครอบครัว ได้ทำพิธีอภิธรรมศพ ที่วัดหลักเมือง อ. เมือง จ. ปัตตานี จากนั้นกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงทั้งหมด ได้รวบรวมเงินร่วมบริจาคกว่า 24,200 บาท มอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นอีกด้วย

สำหรับการรวมตัวหารือของกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงครั้งนี้ สมาชิกที่เข้าร่วมทั้งหมดเห็นว่า จะยังคงทำหนังสือเรียกร้องรัฐบาล ให้ช่วยเหลือแก้ปัญหา โดยเฉพาะ กรณีวันหยุดเรือ ในการออกทำการประมง จำนวน 9 วันต่อหนึ่งเดือน แม้คำสั่งที่ 14/2558 บางข้อถูกปรับแล้วเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ครอบครอง เพื่อใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในการที่จับสัตว์น้ำในเวลา ที่กำหนด ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ทำการประมง และผู้ประกอบการประมง และให้ใช้ คำสั่งที่ 15/2558 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2558 แทนก็ตาม

ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ยังคงมีอยู่จากผลกระทบ อาทิ ขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัว และค่าใช้จ่ายของเรือประมงแต่ละวัน

โดยจะทำหนังสือเรียกร้องผ่าน นายภูเบศ จันทะนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมการประมง จ.ปัตตานี เพื่อยื่นต่อศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ต่อไป เนื่องจาก ศปมผ.มีคณะทำงานกฎหมาย เพื่อจัดทำกฎหมายการประมงฉบับใหม่ ทั้งมีหน้าที่รายงานความก้าวหน้า และติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ด้วย

ตามคำสั่ง ศปมผ. ล่าสุด ฉบับที่ 15/2558 ออกวันที่ 7 ก.ย. 2558 กําหนดเงื่อนไข ในการห้ามมิให้บุคคลใดใช้ หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมงบางชนิด ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเวลาที่กําหนด (เพิ่มเติม) ตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ฉบับที่ 14/2558 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2558  ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมงบางชนิด ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเวลาที่กําหนด

ด้าน นายชิต ศรีกล่ำ กรรมการสมาคมประมงปัตตานีกล่าวว่า “การรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการในวันนี้ เพื่อหารือ และพูดคุยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องกับชาวประมง ต่อมาตนได้ออกมาทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเรือประมง ทุกคนเข้าใจปัญหา และพร้อมยอมรับสถานการณ์ เพียงขอให้สามารถขยับได้บ้างเท่านั้น ก็ทำให้บรรยากาศในการหารือเป็นไปอย่างปกติ”

“สถานะของชาวประมงชายฝั่งภาคใต้สถานการณ์ปัจจุบัน”

เช้าวันเดียวกัน ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ. เมือง จ. ปัตตานี นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการ จ. ปัตตานี เป็นประธานเปิดงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการต่อ “สถานะของชาวประมงชายฝั่งภาคใต้สถานการณ์ปัจจุบัน” พร้อมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบอาชีพประมง ผู้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพประมง เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการกำหนดเกณฑ์การแก้ปัญหาของผู้ประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้านในอนาคต ภายในงานมี นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายยูโซ๊ะ อาเก๊ะ ประธานสภาเกษตรกร จ.ปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ และชาวประมงในพื้นที่ จ. ปัตตานี กว่า 500 คน เข้าร่วมสัมนา

นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการ จ.ปัตตานี กล่าวว่า “การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวประมงจำนวนมากได้รับผลกระทบจากคำสั่ง โดยเฉพาะเรือประมงพื้นบ้าน ที่นำเครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมายออกมาทำการจับสัตว์น้ำ ทำให้ชาวประมงจำนวนมากไม่กล้าที่จะออกเรือหาปลา ทำให้ต้องหยุดเรือ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่จะนำมาเลี้ยงครอบครัว การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อต้องการทราบปัญหาจากประมงพื้นบ้าน เพื่อสะท้อนปัญหาและเสนอแนะ และความต้องการของชาวประมง เพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยา”

ด้าน นายซาบะ ยาแม ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี กล่าวว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลังจาก มีการประกาศใช้คำสั่ง คสช. และคำสั่งอีกหลาย ๆ ตัว ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.ปัตตานี ทั้ง 6 อำเภอ ที่ทำการประมงรอบอ่าว ไม่กล้าที่จะออกไปหาปลาทำการประมงเพราะกลัวจะทำผิดกฎหมาย  รับข้อกล่าวหาและบทลงโทษไม่ไหว เพราะโดยปกติแล้วคนในพื้นที่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านกฎหมาย ประกอบกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่ได้เข้ามา ทำความเข้าใจ อธิบายรายละเอียด ของคำสั่งตามกฎหมาย จึงต้องหยุดออกเรือก่อน ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้กันทุกคน”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง