ชาวประมงปัตตานี: ต้องการเปลี่ยนสัญชาติเรือประมง แต่ติดคำสั่ง ม.44

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.04.24
ปัตตานี
TH-fishing-boats-1000 เรือประมงจำนวนมากจอดเทียบท่าที่ท่าเรือในแม่น้ำปัตตานี เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการการทำประมงที่เข้มงวด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (24 เมษายน 2560) นี้ ผู้ประกอบกิจการเรือประมงพาณิชย์ในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งเข้มงวดในการควบคุมการโอนสัญชาติเรือประมงขนาดระวางขับน้ำ 10 ตันกรอสขึ้นไป เพื่อไปทำการประมงในประเทศอื่นๆ ทำให้ชาวประมงเดือดร้อน รวมทั้ง ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกสองหมื่นถึงสามหมื่นบาท

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อหารทางบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องนี้ โดยมีชาวประมงพาณิชย์กว่า 100 ราย เข้าร่วมประชุม แต่ยังไม่มีมาตรการโต้ตอบใดๆ ต่อรัฐบาล

ทั้งนี้ หลังจากที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรืออียู ได้ออกใบเหลืองให้กับประเทศไทย และเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU Fishing) เมื่อเดือนเมษายน 2558 รวมทั้งได้ให้ประเทศไทย โดยศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) แก้ปัญหาเรื่องการใช้แรงงานเยี่ยงทาส รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวเรือประมง โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การตรวจสอบทะเบียนเรือ การกำหนดให้มีใบอนุญาตทำประมง และเครื่องมือทำการประมงที่ถูกต้อง รวมทั้ง การจำกัดวันออกทะเล เป็นต้น ชาวประมงบางส่วนได้เปลี่ยนอาชีพ ขายเรือประมง และบางส่วนได้เลือกที่จะโอนสัญชาติเรือส่วนใหญ่เป็นมาเลเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา

“ตลอดสองปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเรือประมงได้รับผลกระทบจากคำสั่งเกี่ยวกับการแก้ปัญหาประมงมาแล้ว ล่าสุด คำสั่งใหม่ส่งผลกระทบให้กับเรือที่เจ้าของต้องการจะถอนทะเบียน เพื่อนำไปจดทะเบียนเรือสัญชาติอื่น เพราะนายทะเบียนมีคําสั่งล็อกเรือไว้จนกว่าเจ้าของเรือจะนําเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนเรือสัญชาติอื่นมาแสดง และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีก 2-3 หมื่นบาท” นายภูเบศ กล่าวในที่ประชุม

“ปัญหาเดิมยังไม่ทันจบ ปัญหาใหม่ก็มาอีก ตอนแรกบอกให้เขาเลือกข้าง ถ้าจะไปหาปลาที่มาเลเซียหรือที่ประเทศไหนก็ต้องถอนทะเบียนเรือออก พอชาวประมงถอน เลือกข้างถอนทะเบียนออกก็มาแกล้งให้เขาไปเอาไปทะเบียนจากต้นทางมาแสดงก่อน ถามว่าเรือ 1 ลำ จะมีใบทะเบียน 2 ใบได้ไหม พอชาวประมงตั้งคำถาม เจ้าหน้าที่ก็จะอ้างว่า ต้องทำตามไอยูยู” นายภูเบศ กล่าว

ได้มีการออกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2560  เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเพิ่มเติม ครั้งที่ 4 ถูกบังคับใช้ในวันที่ 4 เมษายน 2560 โดยเป็นการออกคำสั่งเพิ่มเติมจากคำสั่ง 10/2558 และ 53/2559 ซึ่งใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดมาตรการในการลงทะเบียนเรือประมง และเคลื่อนย้ายเรือประมงใหม่ โดยให้เหตุผลการออกคำสั่งว่า ในช่วงที่ผ่านมายังมีผู้ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายกระทำความผิดเกี่ยวกับการประมงอยู่

ประเด็นปัญหาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ คือ ข้อ 15 ที่กำหนดว่า การขอถอนทะเบียนเรือสัญชาติไทย เพื่อไปดำเนินกิจการเรือในประเทศอื่น เจ้าของเรือต้องนำทะเบียนเรือสัญชาติใหม่มายื่น เพื่อรับสิทธิเพิกถอนทะเบียนเรือจากสัญชาติไทย และข้อ 3 ที่ระบุให้ เรือประมงขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปต้องนำมาวัดขนาดเรือใหม่ เพื่อขอรับใบอนุญาต

“ผมเป็นคนแรกที่ถอนทะเบียนเรือออก เพราะเจ้าหน้าที่มาบอกให้เลือกข้าง เขาบอกว่า ถ้าจะทำต่างประเทศต้องถอนทะเบียนเรือจากไทย เมื่อเขาบีบผมขนาดนั้น ผมก็ถอนเลยคนแรก ต่อมา มีเพื่อนๆ ถอนไปถึง 60 ลำ และมีอีก 40 ลำ ที่กำลังจะถอน แต่มาติดกฎหมายใหม่ที่เพิ่งมาเพิ่มเติมพวกเขาเลยถอนยังไม่ได้” นายชิต ศรีกล่ำ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ ในจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายชิตระบุว่า เหตุผลที่เจ้าของเรือบางรายต้องการย้ายไปหาปลาในต่างประเทศ เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในประเทศไทย แต่คำสั่งใหม่ดังกล่าวที่ออกมานั้น เหมือนเป็นการปิดกั้นไม่ให้เรือประมงสามารถถอนทะเบียนเรือสัญชาติไทยโดยง่าย ขณะเดียวกันข้อกำหนดที่ให้เรือประมงสามารถหาปลาได้เพียง 7 เดือนต่อปี ก็ส่งผลกระทบต่อเจ้าของเรือประมงเช่นกัน

“เขาให้เจ้าของเรือที่ต้องการจะถอนทะเบียนเรือ เพื่อนําเรือไปจดทะเบียนเป็นเรือสัญชาติอื่น นําเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนเรือสัญชาติอื่นมาแสดง ทำให้เรือ 40 ลำ ที่จะถอนทะเบียนออกไม่สามารถทำได้ จะอยู่ทำประมงในไทย ก็สู้ข้อบังคับไม่ได้ ถามว่าเมื่อเรายอมขนาดนี้แล้วจะมาเอาอะไรกับเราอีก” นายชิต กล่าวเพิ่มเติม

ตามตัวเลขของ ศปมผ. หลังการชำระทะเบียนเรือประมง มีเรือประมงจดทะเบียนไว้กับกรมเจ้าท่า ประมาณ 42,000 ลำ เป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ประมาณ 12,000 ลำ แต่นายภูเบศ นายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวแย้งว่าตัวเลขที่ถูกต้องควรจะเป็น 11,000 ลำ และแสดงความสงสัยในข้อมูล

เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ศปมผ. ท่านหนึ่งได้กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงของอียู ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาไอยูยูของประเทศไทย เมื่อปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้ประกาศผลใดๆ ออกมา

ด้าน นาวาโทปิยนันท์ แก้วมณี หัวหน้ากลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กองกิจการความมั่นคงทางทะเล สำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของ ศปมผ. การคำนวณค่าผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน หรือ Maximum Sustainable Yield (MSY) เพื่อกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่ควรจับในหนึ่งปี และจำนวนเรือประมงที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะคำนวณได้ในปี 2561

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง