18 ลูกเรือประมงไทยในโซมาเลีย กลับถึงไทยแล้ว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.08.12
กรุงเทพฯ
190812-TH-fishermen-620.jpg นายธนากร ชะรารัมย์ (ไว้เครา) หนึ่งในลูกเรือไทยและเพื่อนรวม 18 คน ที่ไปทำงานในเรือประมงในน่านน้ำโซมาเลีย เดินทางกลับถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือและเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ ไปรอรับ
ภาพโดย กองทัพเรือ

ลูกเรือประมงชาวไทยจำนวน 18 คน ที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างและถูกลอยแพกลางทะเลในโซมาเลีย กลับถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม นี้ หลังจากที่ทางการไทยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ผ่านกองกำลังทางเรือสหภาพยุโรป ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า แรงงานกลุ่มนี้ ประสบปัญหาถูกนายจ้างลอยแพบนเรือประมงกลางทะเลชายฝั่งโบซาโซ่ ประเทศโซมาเลีย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ห้าเดือนที่แล้ว มีแรงงานไปทำงานกับนายจ้างประเทศอิหร่าน จำนวน 42 คน บนเรือ 2 ลำ เรือลำแรกชื่อ วาดานิ 1 (WADANI 1) มีแรงงานไทยจำนวน 22 คน และเรือวาดานิ 2 (WADANI 2) มีแรงงานไทยจำนวน 20 คน โดยก่อนหน้านี้ มีแรงงานจำนวน 4 คน บนเรือวาดานิ 1 ได้เดินทางกลับมาก่อนแล้ว

“จากนี้จะได้สอบข้อเท็จจริงจากแรงงานไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายธนากร ชะรารัมย์ ลูกเรือประมงไทยที่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือมายังเพื่อนที่ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ตนและเพื่อน ได้รับความเดือดร้อนจากการไปทำงานในประมง แต่ไม่ได้รับค่าแรง ไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ และยังถูกลอยแพทิ้งไว้กลางทะเล ขณะที่อาหารและน้ำกำลังจะหมด จึงได้วิดีโอคอลมาหาเพื่อนที่ประเทศไทย ขอให้ประสานหน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ทำงานอยู่บนเรือวาดานิ 1 จำนวนทั้งสิ้น 18 คน จนกลับสู่ประเทศไทยได้สำเร็จ

“ก่อนไปทำงาน นายจ้างตกลงค่าจ้างในตำแหน่งคนอวน ทำงานกลางทะเล ได้เดือนละ 15,000 บาท แต่ทำงานจริงได้รับเพียงเดือนละ 5,000 บาท อยู่สองงวด และไม่ได้อีกเลย” นายธนากร กล่าวกับสื่อมวลชน

นายธนากร ยังระบุว่าด้วยว่า แม้ว่าตนและเพื่อนๆ ไม่ได้รับเงินค่าแรงมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่ทุกคนก็ตั้งใจทำงานเต็มที่ต่อไป เพราะติดอยู่บนเรือกลางทะเล ไม่สามารถไปไหนได้ ปลาที่จับได้เยอะมากและถูกนำไปขายหมดแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการติดต่อจากนายจ้างเรื่องการจ่ายเงินค่าแรง

“เงินเดือนทำไมต้องค้างจ่ายด้วย ทำไมต้องให้ผมรอด้วย แล้วลูกเมียที่บ้านผมจะกินอะไร ทั้งที่ปลาที่พวกผมหาให้เขาได้มันเยอะมาก ทำงานให้เขาทุกวัน ทำงานเต็มที่ ปลาเยอะมาก” นายธนากร กล่าวเพิ่มเติม

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานลูกเรือประมงไทย ที่เดินทางกลับมาในวันนี้ 18 คน เป็นชาวจังหวัดสุรินทร์ 7 คน บุรีรัมย์ 6 คน เพชรบูรณ์ 2 คน สมุทรสาคร 1 คน มหาสารคาม 1 คน และชัยภูมิ 1 คน

หลังจากที่เหตุการณ์เป็นที่รับรู้ในสังคม เมื่อต้นเดือนนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือลูกเรือดังกล่าว

ด้านกองทัพเรือ กล่าวว่า นายเรวัตร ป้องขาว ลูกเรือประมงไทย ซึ่งทำงานอยู่บนเรือประมงชื่อ WADANI 1 ได้ขอความช่วยเหลือผ่านทางเฟสบุ๊ค โดยในเบื้องต้นทราบว่าเรือลอยลำอยู่บริเวณทะเลในประเทศโซมาเลีย ทาง ศรชล. จึงดำเนินการประสานกับกองทัพเรือ โดยศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ซึ่งได้มอบหมายให้นายทหารประสานงานของกองทัพเรือประจำกองเรือเฉพาะกิจผสม CTF151 มีที่ตั้งอยู่ ณ ราชอาณาจักรบาห์เรน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานให้เรือ และอากาศยาน ในกองเรือเฉพาะกิจผสม CTF151 ทำการตระเวนบริเวณทะเล ในประเทศโซมาเลีย แต่ไม่พบ

นายทหารประสานงานฯ ได้ร้องขอกองกำลังทางเรือสหภาพยุโรป EU Navy Force (EUNAVFOR) ใช้เครื่องมือดักรับสัญญาณช่วยเหลือทางทะเล หรือสัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือ จนในที่สุดทราบว่าเรือประมง WADANI 1 จอดเทียบท่าเรือของโซมาเลีย จากนั้น เจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ได้สนทนากับลูกเรือ WADANI 1 โดยมีความประสงค์ที่ขอกลับประเทศไทยทั้งหมด จึงช่วยเหลือกลับมา

โดยเมื่อเวลา 06.30 น. ของวันจันทร์นี้ พลเรือโท พงษ์ศักดิ์ จุลกาญจน์ หัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมด้วยพลเรือตรี โสภณ รัชตาภิรักษ์ รองหัวหน้าสำนักงานฯ ผู้แทนจากกรมประมง และผู้แทนจากกรมเจ้าท่า เป็นผู้แทนจาก ศรชล.ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับลูกเรือประมงไทย 18 คน ที่กลับมาถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายหน้าเกี่ยวข้อง

นายธนากรกล่าวว่า เขาและเพื่อนของเขาได้รับการว่าจ้างจากนายหน้า ที่รู้จักกันในชื่อ “เฮียช้าง”

นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล หรือ เฮียช้าง บอกกับสื่อไทย ในรายงานบางกอกโพสต์ว่า เขาจัดการจ่ายเงินเดือนให้กับลูกเรือ แทนนายจ้างของพวกเขา และกล่าวว่า จะไม่ขอเอ่ยชื่อนายจ้าง

นายหน้าอ้างว่า เขาไม่สามารถจ่ายเงินเดือนของเดือนกรกฎาคมได้ เนื่องจากคอนเทนเนอร์อาหารทะเลเจ็ดตู้ ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงและไม่สามารถนำไปขายได้

“ได้อธิบายไปว่า ใช้เงินสำรองหมดแล้ว และกรมประมงยังไม่ปล่อยสินค้าออก” นายหน้ากล่าว

ตามรายงานของบางกอกโพสต์ นาย อดิศร พรหมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวโต้คำกล่าวของนายหน้า

“มันเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างที่จะต้องจ่ายเงินเดือนให้คนงานของเขา และเรื่องนี้ก็ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสินค้าของกรมประมงแต่อย่างใด” อธิบดีกรมประมงกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง