ศาลรัฐธรรมนูญสั่งธนาธรยุติหน้าที่ ส.ส. ระหว่างรอผลสอบสวนคดีถือหุ้นสื่อ
2019.05.23
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9:0 รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการขอให้พิจารณาคุณสมบัติ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีถือหุ้นสื่อ พร้อมมีมติ 8:1 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที หนึ่งวันก่อน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา
สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีที่นายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3)
“จึงมีมติเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ และส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง” เอกสารเผยแพร่มติศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
มติศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุต่อด้วยว่า สำหรับคำขอของผู้ร้อง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง นั้น ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และปรากฏข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้องว่า ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นทุกครั้งจะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น พร้อมหนังสือนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในเวลาใกล้ชิดกัน ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในคดีนี้ ตามเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่ามีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
“จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย และการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิก ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย” คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงข่าว
ในเวลาหนึ่งทุ่ม นายธนาธร ได้แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าว ณ ที่ทำการพรรค ที่อาคารไทยซัมมิทว่า แกนนำพรรคและสมาชิกพรรคที่ยังคงสมาชิกภาพ 79 คน จะไม่สิ้นหวังในการทำงานเพื่อประชาชน
“เวลานี้ ไม่ใช่เวลาแห่งการสิ้นหวัง แต่เป็นเวลาที่จะเปิดโปงความชั่วร้ายของระบอบเผด็จการ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความอยุติธรรม”
“ถึงแม้ว่าวันนี้ ผมถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ผมยังเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ระหว่างนี้ รอการวินิจฉัยศาล ผมจะยังคงทำงานกับพี่น้องประชาชน อย่างต่อเนื่อง ในเมื่อพวกเขาไม่ให้ผมเข้าสภาฯ ผมก็จะอยู่กับประชาชน ผมก็จะทำงานในฐานะบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนหกล้านสามแสนเสียง ทั่วประเทศ” นายธนาธรกล่าว
จนถึงปัจจุบัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเป็นทางการแล้ว 3 คดี ประกอบด้วย กรณีที่ นายธนาธร จัดรายการคืนความสุขให้ประชาชน ซึ่งเป็นการ Live สด ผ่านเฟสบุ๊ค นำไปสู่การดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้ อยู่ในชั้นอัยการ เพื่อนัดฟังคำสั่งในวันที่ 28 พ.ค. ว่าจะสั่งฟ้องต่อศาลอาญาหรือไม่ ก่อนหน้านี้ นายธนาธร ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 116 ในการยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา189 ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา และมาตรา 215 มั่วสุม 10 คนขึ้นไป จากกรณีการชุมนุมของนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ปี 2558 ซึ่งขณะนี้ อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และในวันนี้ กรณีที่ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยถอดถอนการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลทหารพยายามใช้กฎหมายสกัดนายธนาธรในทางการเมือง
“กรณีที่เกิดขึ้น สะท้อนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกีดกันคุณธนาธร เป็นการเดินเกมทางการเมืองที่ไม่ฉลาดของกลุ่มอำนาจทหาร เพราะจริงๆ แล้ว มันยิ่งจะทำให้เห็นว่า ประเทศไม่ได้กลับไปสู่ประชาธิปไตย” นายฐิติพล กล่าว
“รัฐบาลพยายามที่จะให้ประเทศยังอยู่ภายใต้ทหาร และ คสช. มันทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อการเมืองหลังการเลือกตั้งว่า ประเทศจะอยู่ภายใต้อำนาจทหารนานแค่ไหน? จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า? การเกิดขึ้นของอนาคตใหม่ มันสะท้อนว่า เสียงของคนในประเทศส่วนหนึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่กลับถูกรัฐใช้เครื่องมือต่างๆ กีดกัน” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม
นายฐิติพล ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การพิจารณาคดีของพรรคพลังประชารัฐ จะไม่มีการรวบรวมหลักฐานชัดเจนมาแสดงว่า มีการพิจารณาหรือการตรวจสอบอย่างไร แต่คดีของพรรคไทยรักษาชาติ หรือ อนาคตใหม่ เป็นไปอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การตั้งคำถามว่า กระบวนการทางกฎหมาย เป็นกลาง และยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน