ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้เรียกร้องรัฐให้แก้ปัญหาราคาฮัจญ์สูงเกินจริง
2016.03.01
ปัตตานี

ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาฮัจญ์ที่มีราคาสูงเกินจริง หลังจากนายอนุมัติ อาหมัด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้กล่าว ในงานเมาลิดกลาง จังหวัดกระบี่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าราคากิจการฮัจญ์ของพี่น้องมุสลิมไทย ปกติมีค่าใช้จ่าย 130,000-150,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ จะเรียกเก็บที่ประชาชนที่ 180,000-200,000 บาท
สำหรับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ทุกปี จะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
ผู้ประกอบการกิจการฮัจญ์ ในจังหวัดปัตตานี รายหนึ่งกล่าวว่า ในหลายๆ ปีก่อน ตนสามารถทำกำไรจากการนำผู้แสวงบุญเดินทางนครมักกะฮ์ ได้ถึงหัวละ 60,000-90,000 บาท
“จริงๆ ยอมรับว่าธุรกิจนี้ทำงานเพียง 1 เดือน แต่สามารถทำรายได้ดี มีกำไรมาก โดยเฉพาะราคาที่ผู้เดินทางต้องจ่ายจริง ปัจจุบันอยู่ที่ 150,000-250,000 บาทต่อคน กำไรจากตรงนี้จะได้อยู่ที่ 60,000-90,000 บาท ยังไม่นับสินค้าจำพวกอื่นที่ผู้ประกอบการนำไปขายที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และซื้อของกลับมาขายที่ประเทศไทย หลังจากกลับมาอีกด้วย” ผู้ประกอบการกิจการฮัจญ์ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามรายดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันอังคารนี้
“เฉพาะปีที่แล้ว ผมรับผู้แสวงบุญที่ราคา 170,000 บาท ต่อคน ที่พักห่างจากมัสยิด 500 เมตร มีอาหารครบทุกมื้อ บริการเต็มที่ ได้กำไร 40,000-50,000 บาท ต่อคน มีผู้แสวงบุญ 25 คน กำไรเห็นๆ ถ้าเรียกเก็บมากกว่านี้ ก็จะได้กำไรมากขึ้นอีก” ผู้ประกอบการกิจการฮัจญ์คนเดียวกันกล่าว
“ครอบครัวผมทำธุรกิจนี้มา 40 ปี ยึดเป็นอาชีพ ทำงานแค่ไม่กี่เดือนได้เงินเป็นก้อน และรู้มาตลอดว่าผู้แสวงบุญทุกคนที่พร้อมจะเดินทางไปกับเรา เขาต้องเก็บเงินใต้หมอนทั้งชีวิต เพื่อให้เราพาเขาไปแสวงบุญ ก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะร่วมแก้ปัญหา เลิกเอาเปรียบผู้แสวงบุญ” เขากล่าวเพิ่มเติม
ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมากิจการฮัจญ์ มีปัญหามาโดยตลอด 20 ปี และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่สามารถคุ้มครองผู้เดินทางไปแสวงบุญหรือทำฮัจญ์ได้ เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ศาสนารู้เห็นเป็นใจ จึงอยากให้ปัญหาถูกแก้ไขจากทุกภาคส่วน เขากล่าวเพิ่มเติม
จากข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2556 รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 193,394 บาท ส่วนจังหวัดปัตตานีมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 73,745 บาท จังหวัดยะลารายได้เฉลี่ยต่อหัว 95,947 บาท และ จังหวัดนราธิวาส มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว ซึ่งถือว่าต่ำสุดอยู่ที่ 65,081 บาท ตามข้อมูลเวบไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายอาแวกือจิ ดือราแม ชาวบ้านจังหวัดยะลา กล่าวว่า เมื่อทุกคนรู้ว่าราคาจ่ายจริงเท่าไหร่ ทำไมไม่ช่วยกันแก้ปัญหา ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้แสวงบุญ เกิดขึ้นทุกปี ชาวบ้านก็ต้องจำยอมรับสภาพที่เจอ เพราะผู้ประกอบการจะบอกว่า คือบททดสอบจากอัลลอฮ์ แต่ความจริงไม่ใช่ ความลำบากที่ทุกคนเจอนั้น ส่วนใหญ่เกิดเพราะการบริหารของผู้ประกอบการฮัจย์ ที่ต้องการกำไรมาก บริการน้อยๆ
“ผมพูดได้อย่างเต็มปาก เพราะเจอปัญหามากับตัวเอง หลายปีที่แล้ว ผู้ประกอบการณ์ฮัจญ์ ที่พาผู้แสวงบุญของ ศอ.บต. และ กอ.รมน. 4 ไปดูแลผู้ประกอบการไม่คุ้มกับเงินที่จ่าย หัวละ 200,000 บาท เป็นข่าวใหญ่โตในประเทศไทย สุดท้าย ปัญหาก็กลับสภาพเดิมเหมือน 2 ปีแล้ว” นายอาแวกือจิกล่าว
“บริษัทนั้นก็ยังสามารถรับผู้แสวงบุญจาก ศอ.บต.และ กอรมน.4 เป็นปกติ ขนาดของรัฐ ยังโดนแล้วชาวบ้านตัวเล็กๆ ยายแก่ๆ จะได้รับการดูแลคุ้มกับเงินที่เขาจ่ายขนาดไหน” นายอาแวกือจิ กล่าวเพิ่มเติม
นายอาแวกือจิ ยังกล่าวว่า ยิ่งปีนี้เศรษฐกิจแย่ลง ราคาฮัจญ์ควรจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา
“เศรษฐกิจตกต่ำราคายาง ลงอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านเดือดร้อนมากในทุกด้าน ขณะที่ราคาฮัจญ์ ยังขยับขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าคิดหนัก” นายอาแวกือจิ กล่าว
โควต้าเดินทางไปมักกะฮ์ ปี 2559
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย เปิดให้การลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และกำหนดแผนการจัดสรรจำนวนผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ ประจำปี 2559 มีผู้ประสงค์เดินทางไปแสวงบุญ และผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ รวมทั้งสิ้น จำนวน 10,400 คน
ในจำนวน 10,400 คน แยกเป็นมีผู้ลงทะเบียนในระบบออนไลน์ จำนวน 8,320 คน มีผู้ให้บริการผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ จำนวน 1,880 ราย และผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ตามโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 200 ราย