ผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ 40 คนจากยะลาถูกหลอก
2016.08.19
ยะลา

ในวันศุกร์(19 สิงหาคม 2559)นี้ นายนเรศ ดำรงค์หวัง ตัวแทนชาว อ.บันนังสตา จ.ยะลา พร้อมชาวบ้าน 22 คน ได้เดินทางเข้าพบนายคุณากร สุทธิโมทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดยะลา เพื่อร้องทุกข์ ในกรณีที่ชาวอำเภอบันนังสตา 40 คน ถูกกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต สาขาบันนังสตา หลอกให้ชาวบ้านเข้าโครงการฮัจย์ และอุมเราะห์จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายรายละ 100,000 - 300,000 บาท
นายนเรศ ดำรงค์หวัง ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายกล่าวว่า ปัจจุบัน ชาวบ้านบางส่วนแจ้งความแล้ว ขณะที่ส่วนที่เหลือกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความ โดนสาเหตุที่ชาวบ้านหลงเชื่อ เนื่องจากกลุ่มขบวนการที่ดำเนินการในครั้งนี้ค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือ และชาวบ้านยังเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการหลายคน"
ตัวแทนที่อ้างมาจากบริษัท เขารับเงินที่ชาวบ้านสมัครร่วมโครงการ แต่ไม่นำเงินไปส่งให้กับบริษัทไทยพาณิชย์ แต่เอาเงินไปใช้เอง มีคนที่ถูกหลอก 40 คน ชาวบ้านเสียเงินทั้งหมด 3 ล้านกว่าบาท จึงได้มาร้องทุกข์เพื่อขอความช่วยเหลือ" นายนเรศกล่าว
นายนเรศเพิ่มเติมว่า โครงการที่กลุ่มคนดังกล่าวใช้แอบอ้างเพื่อหลอกเอาเงินของชาวบ้าน เป็นโครงการในรูปแบบประกันชีวิต โดยอ้างว่าหากสมัครประกันชีวิต แล้วจะทำให้ได้รับสิทธิในการเดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์
นายอัสมัน จารง ชาว อ.บันนังสตา หนึ่งในผู้เสียหายกล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุ กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นพนักงานจาก บริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ได้พยายามเชิญชวนให้ชาวบ้านหลายคนร่วมโครงการ โดยใช้จุดเด่นเรื่องการได้สิทธิเข้าร่วมพิธีฮัจย์เป็นประเด็นสำคัญ
"เรามีความตั้งใจจะไปทำฮัจย์อยู่แล้ว จึงคิดว่าน่าจะเป็นโครงการที่ดีตามที่เจ้าหน้าที่เขาบอกก็เลยเชื่อ จึงตัดสินใจให้ แม่ ภรรยา น้า และเราเองเข้าร่วมโครงการ จ่ายเงินไปเกือบแสน ไม่นานชาวบ้านมาเล่าให้ฟังว่า โครงการของบริษัทนี้ไม่มีจริง” นายอัสมันกล่าว
นายอัสมันเพิ่มเติมว่า เขาได้ขายรถไถ เพื่อนำเงินมาร่วมโครงการ แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนที่ใช้ศาสนาหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์
นายคุณากร สุทธิโมทย์ อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า จะดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มที่ถูกกล่าวร้ายจำเป็นต้องเชิญคนกลุ่มดังกล่าวมาให้ข้อมูลด้วย
"กรณีนี้จะต้องดำเนินการโดยเร็ว และอาจต้องเรียนเชิญบุคคลที่กล่าวอ้างมาให้ข้อเท็จจริง จะได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นายคุณากรกล่าว
การเดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นหลักปฎิบัติ ข้อที่ 5 ของศาสนาอิสลาม คนมุสลิมทุกคนจึงมีความต้องการที่จะไปเดินทางแสวงบุญกันให้ได้ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต แม้หลายคนจะไม่มีเงิน แต่ก็พยายามแสวงหาเพื่อให้ได้เดินทางไปแสวงบุญ หลายคนยอมเสียสละทรัพย์สินบางอย่าง เช่น รถยนต์ ที่ดิน หรือทองคำ เพื่อให้ได้ไปแสวงบุญ
ความต้องการไปแสวงบุญที่มากขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีจ้องจะแสวงหาผลประโยชน์จากผู้มีศรัทธาด้วยวิธีต่างๆ รวมไปถึงการหลอกลวง เช่น 1.อาสาเป็นผู้จัดการการแสวงบุญ โดยเรียกเก็บค่าบริการในราคาสูง แต่กลับเลือกที่พัก และการเดินทางที่ไม่เหมาะสมกับราคา สร้างความลำบากให้กับผู้แสวงบุญ 2.เรียกเก็บเงินจากผู้ที่ต้องการแสวงบุญ โดยอ้างว่ามีโควต้าเดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์ ซึ่งชาวบ้านต้องจ่ายเพื่อให้ได้รับโควต้าในราคา 1.5-3 หมื่นบ้าน 3.แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกในการไปร่วมพิธีฮัจย์ โดยเก็บเงินล่วงหน้า แต่เมื่อถึงวันเดินทางจริงกลับผิดสัญญา เป็นต้น
22 ผู้แสวงบุญถูกลอยแพที่สนามบินหาดใหญ่
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ผู้แสวงบุญจาก จังหวัดปัตตานี และสงขลา 22 ราย ซึ่งจ่ายเงินค่าใช้จ่ายเพื่อไปร่วมพิธีฮัจย์แล้ว ถูกห้ามเดินทาง เนื่องจากบริษัทเอกชนที่รับผิดชอบผู้แสวงบุญทั้งหมดแจ้งว่า ผู้นำกลุ่มฮัจย์ซึ่งเป็นผู้รวมรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ได้ส่งต่อค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทครบตามจำนวน
โดย บริษัท เอส.ที. อาราเบียนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบผู้แสวงบุญกล่าวว่า นายราเมศ อนันทปริพงศ์ ผู้นำกลุ่มฮัจย์กลุ่มดังกล่าว ยังไม่ยอมจ่ายเงินค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือเกือบ 1 ล้านบาทให้กับบริษัท ทำให้ไม่สามารถอนุญาตให้ผู้แสวงบุญทั้งหมดเดินทางได้ จนกว่าจะได้รับเงินครบ
หลังเกิดเหตุดังกล่าวทำให้ ผู้แสวงบุญทั้งหมดได้เดินทางแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายราเมศ ที่สถานีตำรวจคลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา และในวันรุ่งขึ้น นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือ
จนกระทั่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2559 นางกุสนีย์ ปูโยะ ลูกสาวนายราเมศ ได้นำเงินมาจ่ายให้บริษัท เอส.ที. อาราเบียน ทำให้ผู้แสวงบุญสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้ โดยจะออกเดินทางก่อน 5 คนในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 และที่เหลืออีก 17 คน จะออกเดินทางระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2559
นางกุสนีย์ ปูโยะ ลูกสาวของนายราเมศ ผู้ถูกฟ้องร้องได้กล่าวว่า ตนได้ทำการจ่ายเงินเพื่อเป็นการยุติปัญหาแล้ว และผู้แสวงบุญจะสามารถเดินทางได้
"ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เคลียร์จบแล้ว เพราะตนได้นำเงินไปชำระให้บริษัทหมดแล้ว และผู้แสวงบุญทั้ง 22 คน สามารถเดินทางได้ ส่วนผู้แสวงบุญบางคนที่ยังชำระเงินไม่หมดให้ไปชำระโดยตรงกับทางบริษัทได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังอีก" นางกุสนีย์กล่าว