สาธารณสุขยะลาตรวจสอบการให้บริการโรงพยาบาลหลังมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.11.16
ยะลา
TH-mother-620 นางคอลีเยาะ หะหลี สอบถามนางวิณณู อารีบำบัด (ขวามือ) ถึงการเสียชีวิตของบุตรสาว ภาพเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559
เบนาร์นิวส์

วันพุธ (16 พ.ย. 2559) นี้ นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา และนายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดยะลา ว่าในปีนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย จึงต้องระวังการติดเชื้ออย่างใกล้ชิด และได้ปรับปรุงการให้บริการผู้ป่วย หลังมีเหตุเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนนี้

นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 15 พฤศจิกายน ศกนี้ มีจำนวน 544  ราย มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย เกิดในพื้นที่อำเภอรามัน และอำเภอยะหา และมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 8 อำเภอ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ อำเภอเมืองยะลา 291 ราย รองลงมาคือ อำเภอบันนังสตา 102 ราย อำเภอธารโต 13 ราย อำเภอกรงปินัง 21 ราย อำเภอเบตง 32 ราย อำเภอยะหา 25 ราย อำเภอรามัน 37 ราย และอำเภอกาบัง 2 ราย

“จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่มีการพบผู้ป่วยกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้แหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มมากขึ้น... มีโอกาสที่จะติดเชื้อและไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ หากมียุงลายในพื้นที่จำนวนมาก” นายแพทย์อุทิศศักดิ์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลาในปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้วสองราย ซึ่งสำหรับกรณีล่าสุด คือกรณี น.ส.จุฑามาศ อารีบำบัด อายุ 23 ปี เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ศกนี้ นั้น ตนได้ลงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา หลังจากญาติผู้เสียชีวิตร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมถึงการให้บริการรักษาแก่ผู้ป่วย

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ กล่าวว่า พบว่าระบบการรักษามีมาตรฐานในระดับหนึ่ง แต่ปัญหา คือเรื่องของการสื่อสาร การให้ข้อมูล การทำความเข้าใจ ขั้นตอนของการรักษาที่ไม่ได้แจ้งให้กับทางญาติได้ทราบ และ ยังได้ตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากกระบวนการรักษาที่ล่าช้าเกินไป หรือเป็นความรุนแรงของโรค ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาประชุมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อจะได้ปรับปรุงการให้การรักษาของโรงพยาบาลในจังหวัด

นางวิณณู อารีบำบัด มารดาของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า บุตรสาวเพิ่งเรียนจบระดับปริญญาตรี ในปีนี้ แต่ยังไม่ได้รับปริญญาบัตร จึงได้เดินทางกลับมาอยู่ที่บ้าน โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา บุตรสาวก็มีอาการป่วย ตัวร้อนมาก อ่อนเพลีย และอาเจียน จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว ต้องรออีก 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะได้พบแพทย์ ซึ่งภายหลังแพทย์ผู้ตรวจอาการ ได้สั่งยาพาราเซตามอล แก้ปวด ยาอมแก้ไอ และผงเกลือแร่ กลับมารับประทานที่บ้านเท่านั้น โดยนัดให้มาตรวจอาการอีกครั้ง ในวันที่ 30 ตุลาคม 2559

นางวิณณู กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม อาการของลูกสาวก็ไม่ดีขึ้น จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยโรงพยาบาลได้นำตัวเข้าห้องฉุกเฉินทันที แต่ต้องรอหมอมาตรวจในอีกหลายชั่วโมง และตลอดคืนไม่ได้มีการวินิจฉัยโรค จนอาการไม่ดีขึ้น ในเวลาต่อมา จึงได้มีการส่งตัวบุตรสาวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา แต่ได้เสียชีวิตลง ในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 โดยทางแพทย์ผู้รักษาบอกว่า ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำจนเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในที่สุด

นางวิณณู กล่าวว่า ได้นำศพลูกสาวกลับมาทำพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาที่บ้านเกิด และได้ทำการฌาปนกิจ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา จากนั้นได้เดินทางเข้าร้องขอความเป็นธรรมที่ศูนย์ดำรงธรรม ภายในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ต้องการความเป็นธรรมจากโรงพยาบาลแรก ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา แต่ไร้การเหลียวแล ไร้การเอาใจใส่จากผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการดำเนินการรักษาตรวจโรคก็เป็นไปด้วยความล่าช้า จนทำให้บุตรสาวของตนเองต้องมาเสียชีวิต” นางวิณณู กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง